รบ.จ่อขยายสิทธิ์ “30 บาทรักษาทุกโรค” ครอบคลุม “โรคร้ายแรง

แบงก์รัฐ ตุนทุนเตรียมอัดสินเชื่อ 2.85 แสนล. กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ‘สมคิด’ ส่องลู่ทางขยายสิทธิ์บัตร 30 บาทรักษาทุกโรค ครอบคลุมโรคร้ายแรงอย่าง “โรคไต-มะเร็ง”

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวมอบนโยบายการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืนในการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืนว่า

ในช่วงเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ไทยมุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน ผ่านการปฏิรูปโครงสร้างชุมชน ด้วยความร่วมมือในรูปแบบประชารัฐ ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ชุมชน ตลาดประชารัฐ การท่องเที่ยว โดยนำธนาคารเฉพาะกิจของภาครัฐมาช่วยเหลือทั้งความรู้และการเติมทุน เพื่อร่วมพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งและพัฒนาครอบคลุมทุกด้าน

“ประเทศไทยมีประชากรส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ชีวิตขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศ หากยิ่งด้อยวิทยาการ ต้องรอธรรมชาติอย่างเดียว เมื่อเกิดปัญหาภัยแล้ง ตลาดโลกมีปัญหา เทคโนโลยีด้อยพัฒนา สุดท้ายต้องขายที่ดิน กู้เงินนอกระบบวนเวียนซ้ำเดิม จีดีพีเติบโตลงไปไม่ถึงฐานราก ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ทุกหน่วยงานต้องร่วมกันแก้ปัญหาเพื่อขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อเสียบปลั๊กร่วมกันเปลี่ยนแปลงประเทศได้ มุ่งลดการสร้างความแตกแยก

นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงการคลัง ศึกษาแนวทางขยายสิทธิประโยชน์บัตรสวัสดิการ 30 บาทรักษาทุกโรค ให้ครอบคลุมบางโรคเพิ่มเติมจากปัจจุบันที่บัตรยังเข้าไม่ถึง เช่น โรคไต มะเร็ง”

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้กระทรวงการคลัง ประสานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือ เอสเอ็มอี แบงก์) ธนาคารกรุงไทย กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง สภาเกษตรกรแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากประชารัฐสร้างไทย

ทั้งนี้ ส่วนตัวพร้อมทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในการกำหนดแผนพัฒนาชุมชนแต่ละแห่งที่มีศักยภาพต่างกันอย่างเหมาะสม โดยการทำงานร่วมกับรัฐมนตรีที่มาจากคนละพรรคการเมืองไม่ได้มีปัญหา ยืนยันไม่เกี่ยวกับพรรค ใครจะมาร่วมก็ได้ โดยในส่วนของกระทรวงการคลังจะตั้งคณะทำงานให้สอดรับกับคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ชุดใหญ่

“ทุกหน่วยงานต้องหารือและประสานการกำหนดแผนพัฒนาแต่ละชุมชนว่ามีจุดแข็งเรื่องไหน ต้องเน้นด้านใด หากเป็นท่องเที่ยวจะเป็นท่องเที่ยวแบบไหน ภาคเกษตรอาจเป็นวิสาหกิจชุมชนจำนวนมากต้องร่วมกันวางรูปแบบให้เป็นรูปธรรม ที่สำคัญต้องตอบโจทย์ประชาชนและทำเพื่อประเทศโดยแท้จริง”

ด้านนายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ธ.ก.ส. มีมาตรการสินเชื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการภาคการเกษตร ได้แก่ สินเชื่อสมาร์ทฟาร์มเมอร์สร้างไทย อัตราดอกเบี้ยเอ็มอาร์อาร์ (MRR) วงเงิน 30,000 ล้านบาท โดยปี 2562 ตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท จำนวน 100,000 ราย ปี 2563 ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท จำนวน 200,000 ราย และปี 2564 ตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อเพิ่มเป็น 30,000 ล้านบาท ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย 300,000 ราย

สินเชื่อเอสเอ็มอีสร้างไทยส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเกษตร อัตราดอกเบี้ย 4% ตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อ 30,000 ล้านบาท แบ่งเป็นปี 2562 ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท จำนวน 10,000 ราย ปี 2563 ปล่อยสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท จำนวน 20,000 ราย และปี 2564 ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อเพิ่มเป็น 30,000 ล้านบาท ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย 30,000 ราย

สินเชื่อวิสาหกิจชุมชนสร้างไทย อัตราดอกเบี้ย 0.01% ตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อ 40,000 ล้านบาท โดยปี 2562 ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท จำนวน 10,000 กลุ่ม ปี 2563 ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท จำนวน 20,000 กลุ่ม และปี 2564 เพิ่มขึ้นเป็น 40,000 ล้านบาท ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย 40,000 กลุ่ม

สินเชื่อสหกรณ์การเกษตรสร้างไทย อัตราดอกเบี้ย 0.01% วงเงิน 30,000 ล้านบาท แบ่งเป็นปี 2562 ปล่อยสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท จำนวน 1,000 แห่ง ปี 2563 ปล่อยสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท จำนวน 1,200 แห่ง และปี 2564 ปล่อยสินเชื่อเพิ่มเป็น 30,000 ล้านบาท ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย 1,500 แห่ง

นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังสนับสนุนเกษตรกรปลูกป่าต้นน้ำ 11 จังหวัดภาคเหนือ วงเงินกู้ 5,000 ล้านบาท เป้าหมายเกษตรกรจำนวน 50,000 ราย พื้นที่ 500,000 ไร่ อัตราดอกเบี้ยต่ำ 1-3 ปี คิดเอ็มอาร์อาร์ลบ 3 เพื่อนำเงินไปปลูกป่าในพื้นที่ที่กำหนด ระยะเวลากู้ไม่เกิน 15 ปี

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารได้เตรียมสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำสร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน วงเงินไว้ 150,000 ล้านบาท รองรับกลุ่มเป้าหมาย 2 ล้านราย เฉลี่ยปล่อยสินเชื่อรายละ 75,000 บาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นสินเชื่อหาบเร่แผงลอย 4.0 เป้าหมาย 100,00 ราย วงเงินประมาณ 5,000 ล้านบาท สินเชื่อสถาบันการเงินประชาชนปล่อยกู้รายละไม่เกิน 10 ล้านบาท สินเชื่อสตรีตฟู้ด ปล่อยกู้ไม่เกิน 3 ล้านบาท รวมทั้งยังมีสินเชื่อแรงงาน เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบและสร้างอาชีพเสริม สินเชื่อบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ปล่อยกู้ไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย

ด้านนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า กระทรวงจะใช้พลังงานเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากจากความต้องการพลังงานของชุมชนจำนวนมาก เบื้องต้นกระทรวงได้หารือกับ ปตท. และบางจาก ในการผลิตปุ๋ยสั่งตัดตั้งแต่การผลิตจนถึงขั้นตอนของการจำหน่าย เพื่อลดต้นทุนการซื้อปุ๋ยให้กับประชาชน โดยนำร่องในพื้นที่น้ำท่วมรองรับการทำเกษตรรอบใหม่หลังน้ำลด ทั้งยังมีนโยบายพลิกฟื้นให้ประชาชนมีโอกาสเป็นผู้ผลิตโรงไฟฟ้าชุมชน

โดยใช้วัตถุดิบทางการเกษตรในชุมชนมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตทางการเกษตร รวมทั้งใช้เป็นพลังงานชุมชนสำหรับการขนส่ง เช่น นำน้ำมันปาล์ม​เป็นส่วนผสมในการผลิตน้ำมันบี 7 เป็นบี 10 เริ่มวันที่ 1 ต.ค.นี้ และจะเริ่มใช้เป็นน้ำมันเกรดพื้นฐานทั้งประเทศตั้งแต่เดือนม.ค. 2563 คาดจะดูดซับปาล์มออกจากระบบได้กว่า 4 แสนตัน

นอกจากนี้ ขอความร่วมมือจากสถานีบริการน้ำมัน ปตท. และสถานีบริการ​น้ำมันบางจาก มาเป็นจุดกระจายสินค้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการไทยเด็ด ที่มีการขยายสาขาไปกว่า 100 สาขา และได้ตั้งเป้าขยายสาขาเป็น 1,000 สาขาต่อไป ส่วนเรื่องราคาน้ำมันที่มีการปรับขึ้น 30 สตางค์ต่อลิตรนั้น เป็นเพียงการปรับตัวตามกลไกของตลาด แต่รัฐยังยืนยันนโยบายตรึงราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไม่ให้ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน เพราะเชื่อว่าสถานการณ์ราคาน้ำมันยังอยู่ในภาวะที่ควบคุมได้