บสย. ขอเป็น “หมอหนี้” ทำงานเชิงรุก จูงเอสเอ็มอีไปธนาคาร แก้ปัญหาสภาพคล่อง

บสย. ขอเป็น “หมอหนี้” ทำงานเชิงรุก จูงเอสเอ็มอีไปธนาคาร แก้ปัญหาสภาพคล่อง

เมื่อผู้ประกอบการ SMEs กำลังประสบปัญหา ธุรกิจไม่ราบรื่น ไม่ลื่นไหล เงินทุนหมุนเวียนติดๆ ขัดๆ และต้องตกอยู่ในบ่วงหนี้ จากเงินกู้ ดอกเบี้ยสูง ขยายธุรกิจไม่ได้ หนี้แน่น โครงการ “หมอหนี้ บสย.”  จึงต้องเข้ามาช่วยดูแล ชี้ช่องทางเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ 

โครงการ “หมอหนี้ บสย.” มาจากแนวคิดการใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญจากประสบการณ์อันโชกโชนของทีม บสย. ที่คอยให้คำแนะนำกับผู้ประกอบการจำนวนมากที่ต้องการเข้าถึงสินเชื่อแต่ไม่รู้จะไปปรึกษาใคร และมี SMEs จำนวนมากที่เข้าไม่ถึงแหล่งทุน จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ระบุว่า ผู้ประกอบการ SMEs ในประเทศไทย มีอยู่กว่า 5 ล้านราย และได้รับการตั้งฉายาว่าเป็น “นักรบเศรษฐกิจ” แบ่งเป็น SMEs ในระบบ  2.5 ล้านราย  และ SMEs นอกระบบ 2.7 ล้านราย นักรบเศรษฐกิจพวกนี้มีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย มีสัดส่วนต่อ GDP ของประเทศมากกว่า 40% ​และมีสัดส่วนการจ้างงานมากถึง 70%  แต่ผู้ประกอบการ SMEs ในระบบ 2.5 ล้านรายนี้ มีเพียง 7 แสนกว่ารายเท่านั้น ที่เข้าถึงแหล่งเงินทุนของสถาบันการเงิน แล้วที่เหลืออีก 1.8 ล้านรายไปอยู่ที่ไหน และทำอย่างไรจะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

 “หมอหนี้ บสย.” ช่วยคุณได้ เพราะเป้าหมายของ หมอหนี้ บสย. ต้องการช่วยเหลือนักรบเศรษฐกิจที่กำลังติดกับดักหนี้  ให้สามารถลุกขึ้นยืนได้ใหม่ และสามารถที่จะแข่งขันกับทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีที่ยืนในเวทีโลก  

“หมอหนี้ บสย.” บริการให้คำปรึกษาทางการเงิน ภายใต้แนวคิด ช่วยคนตัวเล็กเข้าถึงแหล่งทุน ด้วย 3 เติมคือ 1. เติมทุน หมายถึง บสย. ช่วยจูงมือผู้ประกอบการไปหาแหล่งทุนที่เหมาะสม 2. เติมความรู้ ซึ่งนอกจากเติมทุนแล้ว บสย. ยังปรารถนาที่จะสร้างให้ SMEs มีความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจ ด้วยการเติมความรู้ที่เหมาะสมในการทำธุรกิจของตนเอง และ 3. เติมคุณภาพชีวิต มุ่งเน้นให้คำปรึกษาทางการเงินแบบ Case by Case ปลดล็อกผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อง่ายขึ้น การเป็นลูกหนี้อย่างชาญฉลาด การวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยง และการลดปัจจัยเสี่ยงก่อนขอสินเชื่อ

สิ่งเหล่านี้ทำให้ SMEs เห็นว่า ถ้าผู้ประกอบการทำให้คุณภาพธุรกิจดี  คุณภาพของเพื่อนพนักงานที่อยู่ในโรงงาน อยู่ในโอเปอเรชั่นของเขา ก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย  ในที่สุดก็ขยายผลไปในคุณภาพของเศรษฐกิจระดับประเทศ

“ผมเชื่อว่า ถ้าเราช่วยกันทีละเล็กทีละน้อย ก็จะทำให้สามเหลี่ยมพีระมิด ความเข้มแข็งของฐานเศรษฐกิจไทย เติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ทุกวันนี้เราแบ่ง SMEs ออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ  กลุ่มที่ยังไม่ป่วย กลุ่มนี้ค่อนข้างแข็งแรง โดยเราจะเข้ามาดูว่า วงเงินที่มีอยู่ตอนนี้เหมาะสมกับตัวเขาหรือไม่ ในกลุ่มนี้ มีคนเข้ามาขอรับคำปรึกษา ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ป่วย ตั้งแต่เดือนพ.ค. มีมากกว่า 400 ราย ซึ่ง 400 รายเป็นกลุ่มที่ไม่ป่วยเลยอยู่ประมาณ 1 ใน 3 กลุ่มนี้ต้องการสินเชื่อเพื่อต่อยอดธุรกิจ 

กลุ่มที่สองคือ กลุ่มที่เริ่มป่วย สุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง เริ่มติดๆ ขัดๆ แล้ว ยกตัวอย่างคือ กลุ่มที่เข้าโครงการรักพี่วิน ที่ บสย.เข้าไปช่วยปรับสภาพหนี้ และกลุ่มสุดท้าย กลุ่มที่มีสภาวะหนี้ มีการเจรจาหนี้ มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ บสย. เข้าไปให้คำปรึกษาว่า เราควรขอเจรจาในการที่จะเริ่มลดดอกเบี้ยไหม ขยายระยะเวลาการผ่อนชำระไหม ทำให้ค่างวดลดน้อยลงได้ ในบางกรณีเป็นลูกค้าร่วมระหว่างเรากับทางธนาคาร บางครั้ง บสย.ก็ช่วยในการเจรจา เขียนแผนธุรกิจให้ นี่เป็นสิ่งที่หมอหนี้ บสย. ทำอยู่” ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าว

และว่า จากนี้ไป บสย. จะเปลี่ยนบทบาทสู่การทำงานเชิงรุกมากขึ้น นั่นคือจะจูงมือผู้ประกอบการไปหาธนาคาร ทำงานควบคู่ไปกับพันธมิตรสถาบันการเงิน เหมือนหุ้นส่วนธุรกิจกับลูกค้า บสย. ยกระดับการทำงานสู่การเป็นผู้ให้คำปรึกษาทางการเงินและการเข้าถึงสินเชื่อ 

“หมอหนี้ บสย.” เข้าไปช่วยแก้จุดอ่อน เพื่อให้เจ้าของธุรกิจกลับมาเดินหน้าธุรกิจได้อีกครั้ง เพราะที่ผ่านมาปัญหาของผู้ประกอบการ ส่วนหนึ่งมาจากการขาดสภาพคล่อง หรือเงินทุนหมุนเวียนเพื่อใช้ในการฟื้นธุรกิจหมอหนี้ บสย. ช่วยให้ SMEs กลับมาตั้งตัวได้อีกครั้ง