เศรษฐกิจพ่นพิษ! กยศ.ฟ้องเบี้ยวหนี้ 2 แสนราย เห็นใจลูกหนี้ตกงานไม่มีเงินส่ง

เศรษฐกิจพ่นพิษ! กยศ.ฟ้องเบี้ยวหนี้ 2 แสนราย เห็นใจลูกหนี้ตกงานไม่มีเงินส่ง

วันที่ 11 ก.ย. นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า ในปีนี้ กยศ.เตรียมฟ้องดำเนินคดีกับลูกหนี้เพิ่มเติมอีกกว่า 1.5-2 แสนราย ซึ่งเป็นกลุ่มลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระกับ กยศ.มากกว่า 4 ปี โดยสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว รวมถึงบางรายก็มีเจตนาไม่ชำระหนี้ แต่ก็ถือว่าอัตราการฟ้องร้องในปีนี้อยู่ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว และแม้จะอยู่ในกระบวนการฟ้องดำเนินคดี แต่ กยศ.ก็พร้อมเปิดให้ลูกหนี้เข้ามาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ได้อยู่

ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ ทำให้ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้บ้าง เพราะลูกหนี้บางรายเคยมีงานทำบางคนก็ตกงานซึ่งเมื่อโทรไปสอบถามก็ได้รับแจ้งและขอชำระแค่บางส่วน เช่น เดิมมีภาระต้องชำระปีละ 3,000 บาท ก็ขอลดชำระหนี้แค่ 1,000 บาท อย่างไรก็ตามภาพรวมในการชำระหนี้ปีนี้ยังทำได้ดีโดยยอด 11 เดือน มีการชำระหนี้เข้ามาแล้ว 29,700 ล้านบาท และเมื่อครบทั้งปีน่าจะทะลุ 30,000 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่มีกองทุนฯ”

ทั้งนี้สาเหตุที่มีการชำระหนี้สูงสุดเป็นประวัติการณ์เนื่องจากมีการใช้มาตรการหักหนี้ผ่านบัญชีเงินเดือนลูกหนี้ได้แล้ว 4 แสนราย คิดเป็นวงเงิน 420 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 3,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งปีหน้าคาดว่าจะหักเงินเดือนได้เพิ่มเป็น 1 หมื่นล้านบาทต่อปี ทำให้มียอดชำระหนี้เพิ่มขึ้นเป็น 32,000 ล้านบาท

นายชัยณรงค์ กล่าวว่า กยศ.มีนโยบายช่วยเหลือลูกหนี้ที่ถูกฟ้องดำเนินคดีและมีคำพิพากษาให้ชำระหนี้ให้ กยศ.เป็นรายเดือน ที่มีจำนวน 1.6 ล้านราย โดยแต่ละรายมีหนี้ประมาณ 1.2 แสนบาท ให้ได้รับการช่วยเหลือเพิ่มเติม เนื่องจากลูกหนี้กลุ่ม จะหมดอายุความภายใน 2 ปี แต่เขามีระยะเวลาชำระหนี้เหลืออีก 5 ปีจึงจะมีการส่งหนังสือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อสอบถามถึงแนวทางว่า กยศ.จะเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวได้อย่างไร เพื่อไม่ให้ขัดต่อกฎหมายด้วย

นอกจากนี้ กยศ.ยังมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ประสบภัยน้ำท่วมให้ขอผ่อนผันได้ไม่เกิน 2 ช่วงๆ ละไม่เกิน 1 ปี รวมแล้วไม่เกิน 2 ปี โดยช่วงเวลาที่ได้รับการผ่อนผัน ผู้กู้ยืมไม่ต้องชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย โดยกองทุนจะยกเว้นเบี้ยปรับหรือค่าธรรมเนียมกรณีผิดนัดชำระหนี้ที่เกิดขึ้นในระหว่างเวลาที่ได้รับการผ่อนผัน

ขณะเดียวกัน ผู้มีรายได้ถดถอยเมื่อหักจำนวนเงินงวดที่ครบกำหนดชำระคืนกองทุนในปีนั้นมาเฉลี่ยเป็นรายเดือน แล้วมีเงินเหลือไม่เกินเดือนละ 2,500 บาท และเป็นผู้กู้ยืมเงินที่มีความจำเป็นต้องดูแลบุคคลในครอบครัวซึ่งชราภาพ ป่วย หรือพิการ ต้องเป็นผู้มีรายได้คงเหลือหลังจากการหักค่าใช้จ่ายที่ใช้ดูแลบุคคลในครอบครัว ซึ่งชราภาพ ป่วย หรือพิการแล้ว เหลือไม่เกิน 8,008 บาทต่อเดือน

นอกจากนี้ กองทุนได้ออกประกาศหลักเกณฑ์การขอระงับการเรียกให้ชำระหนี้ สำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพจนไม่สามารถประกอบการงานได้ เป็นโรคติดต่อร้ายแรงหรือโรคเรื้อรังที่อาการรุนแรงจนไม่สามารถประกอบการงานได้ มีรายได้ที่ไม่ได้เกิดจากการประกอบอาชีพการงานไม่เกิน 3 หมื่นบาทต่อปี หรือไม่เกิน 2,500 บาทต่อเดือน รวมถึงมีโทษจำคุกตลอดชีวิต และถูกพิพากษาเป็นคนล้มละลาย ให้กองทุนพิจารณาระงับการเรียกให้ชำระหนี้ได้คราวละไม่เกิน 1 ปี