สสว. ผนึก ม.ศิลปากร ช่วยเอสเอ็มอีในอุตสาหกรรมดิจิตอลคอนเทนต์

สสว.จับมือ​ ม.ศิลปากร​ รุกโครงการ​ “Digital​  Content​ Cluster Day​” ปี​ 2​ เสริมแกร่งอุตสาหกรรมดิจิตอลคอนเทนต์​ พร้อมชูความสำเร็จจากผลงาน​ Hey Buddy ผลงานสร้างสรรค์โดยบริษัท​ บิ๊กเบรนพิคเจอร์ส​ จำกัด ร่วมทุนกับอินเดีย หวังขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทยเข้มแข็ง​อย่างยั่งยืน

คุณลักขณา​ ตั้งจิตมุก​ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจ​ SME​s​ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม​ (สสว.)​ เปิดเผยว่า​ ปัจจุบันดิจิตอลคอนเทนต์เข้ามามีบทบาทอยู่ในอุตสาหกรรมแทบทุกแขนงและยังถือเป็นอุตสาหกรรมที่ประเทศให้ความสำคัญเพราะต้องใช้ทรัพยากรมนุษย์และเทคโนโลยี​เพื่อรังสรรค​์เป็นผลงาน

โดยจากการสำรวจอุตสาหกรรมดิจิตอลคอนเทนต์ของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตอลหรือดีป้าพบว่าแนวโน้มการเติบโตในปี 2561 มูลค่าดิจิตอลคอนเทนต์ในไทยคาดว่าจะอยู่ที่ 27,005 ล้านบาท​ และคาดว่าจะมีมูลค่ากว่า 30,000 ล้านบาท​

ในปี 2562 ก่อให้เกิดรายได้อย่างมหาศาลให้กับประเทศและเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยปัจจัยการเติบโตมาจากการขยายตัวของสื่อดิจิตอลและด้านการผลิตของภาคอีสานตามดิจิตอลคอนเทนต์จากรายงานปี 2560 มูลค่าการผลิตและส่งออกงาน แอนิเมชั่น เกม​ และคาแร็กเตอร์ มีมูลค่าสูงถึง 1,851 ล้านบาท​ ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตเทียบกับปีก่อนหน้าถึง 50% และในปี 2561 มีมูลค่า 1,998 ล้านบาท​ โดยอุตสาหกรรมแอนิเมชั่น มีมูลค่าส่งออก 1,428 ล้านบาท ขณะที่สาขาเกมมีมูลค่าการส่งออก​ 398 ล้านบาท​ ซึ่งมีมูลค่าลดลงกว่าปีก่อนหน้าที่มีมูลค่าการส่งออก 435 ล้านบาทสำหรับสาขาคาแร็กเตอร์มีมูลค่าการส่งออกรวม 25 ล้านบาท​ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่มีมูลค่าส่งออก 14 ล้านบาท

“ดิจิตอลคอนเทนต์เป็นอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ เพราะสอดแทรกอยู่ในหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะภาคการค้า ก็ต้องใช้ดิจิตอลคอนเทนต์เป็นสื่อ ดังนั้นจะเห็นว่าดิจิตอลคอนเทนต์​มีพลังมากและสามารถสร้างเศรษฐกิจของประเทศได้มหาศาลและยังสามารถเป็นรากฐานที่สำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศได้ หากได้รับการสนับสนุนและมีการรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็งโดยแผนพัฒนากลุ่มคลัสเตอร์ในสมาชิกอุตสาหกรรมดิจิตอลคอนเทนต์​ ถือเป็นเรื่องสำคัญและเป็นความร่วมมือ ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ แต่ต้องมีการพัฒนาอย่างมีทิศทาง เริ่มจากการพัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพเทียบระดับสากลและมีการพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำไปยังปลายน้ำให้ได้ แล้วสุดท้ายหากเกิดกลุ่มคลัสเตอร์ที่แข็งแกร่งจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถรับงานใหญ่ระดับสากลได้ไม่ยาก”  ผู้อำนวยการ ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจ SMEs สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม​ (สสว.)​ กล่าว

ทั้งนี้ในปีที่ผ่านมา ทางสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม​ (สสว.)​ ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร​ จัดกิจกรรมพัฒนาเครือข่ายดิจิตอลคอนเทนต์ขายใต้โครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ปี 2562 ในชื่อโครงการ Digital Content Cluster Day เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจ​ โดยได้ส่งเสริมและสนับสนุนเอสเอ็มอี​ ที่ถือว่าเป็นส่วนสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศให้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการรวมกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี​เพื่อสร้างความแข็งแกร่ง

ดังนั้น จึงจำเป็นต้องนำเอาแนวคิดในการพัฒนาคลัสเตอร์มาเป็นเครื่องมือดำเนินการเพื่อกระตุ้นความเชื่อมโยงกันระหว่างผู้ประกอบการโดยคำนึงถึงความต้องการของตลาดเป็นสำคัญ โดยเน้นการพัฒนาผู้ประกอบการในเครือข่ายที่มีศักยภาพในการแข่งขัน ทั้งในและต่างประเทศโดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ รวมไปถึงการพัฒนาช่องทางการตลาดในชีวิตผ่านกิจกรรมต่างๆ

สำหรับเครือข่ายผู้ประกอบการมี 5 กลุ่ม ได้แก่ 1. เครือข่ายผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมการออกแบบและซื้อขายลิขสิทธิ์ตัวละคร (Character Design and Licensing)​ 2. เครือข่ายผู้ประกอบการสินค้าตัวละคร (Character Merchandising)​ 3. เครือข่ายผู้ประกอบการด้านการสร้างคอนเทนต์​แอนิเมชั่น​ (Animation​ IP)​ 4. เครือข่ายผู้ประกอบการรับผลิตแอนิเมชั่น ​(Animation​ Service)​  และ​ 5.​ เครือข่ายซื้อขายผู้ประกอบการด้านการให้บริการด้านคอมพิวเตอร์กราฟิก​ (CG​ Service)

ด้าน ผศ.ณัฐพร​ กาญจนภูมิ​ รักษาการแทนรองคณบดีฝ่ายบริหารคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมหาวิทยาลัยศิลปากร และในฐานะคณะดำเนินการ​ กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาทางมหาวิทยาลัยได้ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม​ (สสว.)​ กับภาคอุตสาหกรรมดิจิตอลคอนเทนต์จัดทำโครงการ Digital Content Cluster Day อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยคาดหวังว่าองค์ความรู้และกิจกรรมต่างๆ​ ที่ได้จะเกิดขึ้นนี้จะช่วยพัฒนาขีดความสามารถของอุตสาหกรรมไทยด้านดิจิตอลคอนเทนต์​ ให้ขยายไปสู่ตลาดโลกได้มากขึ้น รวมถึงสามารถพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้รองรับต่อความต้องการของอุตสาหกรรมในอนาคตได้

“ปัจจุบันจะเห็นว่าเด็กรุ่นใหม่ให้ความสนใจในเรื่องดิจิตอลคอนเทนต์มากขึ้น ดังนั้นจากนโยบายในการส่งเสริมสนับสนุนและประสานความร่วมมือทางด้านวิชาการระหว่างหน่วยงานองค์กรเพื่อถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างบุคลากรทางสายวิชาการและสายวิชาชีพเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งมหาวิทยาลัยศิลปากรยังได้เปิดหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาบุคลากรทางด้านดิจิตอลคอนเทนต์​มากกว่า 15 ปี​ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมดังกล่าว เพราะทางมหาลัยมีความเชื่อว่าในการสร้างบุคลากรที่มีความสามารถ​ จะช่วยพัฒนาขีดความสามารถของอุตสาหกรรมไทยด้านดิจิตอลคอนเทนต์ ให้สามารถขยายไปสู่ตลาดโลกได้รวมถึงสามารถพัฒนาศักยภาพบุคลากรในการรองรับความต้องการของอุตสาหกรรมดังกล่าวในอนาคตได้เป็นอย่างดี” ผศ.ณัฐ​พร​ กล่าว

ส่วนตัวอย่างผู้ประกอบการ​ที่มีผลงานแอนิเมชั่นโดดเด่น​ อย่าง​ Hey Buddy เป็นแอนิเมชั่นสร้างสรรค์โดย​ บริษัท​ บิ๊กเบรน​ พิคเจอร์ส​ จำกัด​ ซึ่งเป็นหนึ่งในผลงานที่ได้รับการคัดเลือกจากโครงการ Thailand Animation Pitch 2018 ในกิจกรรมพัฒนาเครือข่ายดิจิตอลคอนเทนต์ ภายใต้โครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ปี 2561 จัดโดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม​ (สสว.)​ ร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร​ ที่สามารถต่อยอดความสำเร็จนำไปสู่การประกวดในงานอาเซียน Animation Summit 2018 (AAS​ 2018) จัดโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยมีสมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกไทย​ (TACGA) เป็นผู้ประสานงาน​ และยังได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมทุนกับประเทศอินเดียในการผลิตเป็นการ์ตูนในรูปแบบ Non Verbal Animation ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จในวงการแอนิเมชั่นไทย