วันนี้คนกรุงเจอฝน 40% ของพื้นที่ แม่น้ำสายหลักระดับน้ำยังสูงต่อเนื่อง

วันนี้คนกรุงเจอฝน 40% ของพื้นที่ แม่น้ำสายหลักระดับน้ำยังสูงต่อเนื่อง

กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์อากาศ ประจำวันที่ 7 กันยายน ลักษณะอากาศทั่วไป ใน 24 ชั่วโมงข้างหน้า ประเทศไทยตอนบนมีการกระจายฝนลดลง สำหรับทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง โดยหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง

ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมาและประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและภาคตะวันออกยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองในระยะนี้ ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังปานกลาง

กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีเมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.

วันเดียวกันศูนย์อำนวยการน้ำเฉพาะกิจ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) รายงานสถานการณ์น้ำทั่วประเทศ ว่า ประเทศไทยฝนยังตกต่อเนื่อง ทั่วทุกภาค โดย ประเทศไทยตอนบนมีการกระจายฝนลดลง ในช่วงวันที่ 8 – 12 กันยายน ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปริมาณฝน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา (มม.) มีฝนตกหนักมากบริเวณ อ.เวียงเชียงรุ้ง จ.เชียงราย (162) อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ (121)

แม่น้ำสายหลักระดับน้ำยังสูงต่อเนื่อง โดยแม่น้ำสายหลัก มีระดับน้ำเพิ่มขึ้นจากปริมาณฝนที่ตกในระยะนี้ คาดระดับน้ำในแม่น้ำยม เจ้าพระยา ชี และมูล มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น สถานการณ์น้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในหลายพื้นที่ ได้แก่ แม่น้ำยม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ลำน้ำยัง อ.โพนทอง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ลำปาว อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ แม่น้ำชี อ.เมือง อ.มหาชนะชัย จ.ยโสธร อ.เมือง อ.เชียงขวัญ อ.ทุ่งเขาหลวง อ.จังหาร จ.ร้อยเอ็ด ลำเซบาย อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร อ.เขื่องใน ลำโดมใหญ่ อ.เดชอุดม แม่น้ำมูล อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี

แม่น้ำโขง ระดับน้ำเริ่มทรงตัว โดยบริเวณหนองคายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และน้ำล้นตลิ่งบริเวณโขงเจียม จ.อุบลราชธานี ขณะนี้ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง ปัจจุบันระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 0.92 เมตร ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำ มีปริมาณน้ำรวมทั้งสิ้น 49,841 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 61% แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ต้องเฝ้าระวัง หนองหาร (125%) สิรินธร (92%) ศรีนครินทร์ (82%) วชิราลงกรณ (83%) และแก่งกระจาน (82%) เฝ้าระวังน้ำน้อย 11 แห่ง โดยมีแนวโน้มปริมาตรน้ำเพิ่มขึ้น 30 แห่ง ซึ่งถึงปัจจุบันมีปริมาณน้ำไหลลงแหล่งน้ำรวม 17,290 ล้าน ลบ.ม. ระบายออกรวม 12,295 ล้าน ลบ.ม. แหล่งน้ำขนาดกลาง เฝ้าระวังน้ำน้อย 73 แห่ง มีแนวโน้มปริมาตรน้ำเพิ่มขึ้น 32 แห่ง แหล่งน้ำที่เสี่ยง น้ำมากกว่าความจุ 86 แห่ง ได้แก่ เหนือ 5 แห่ง ตอน. 77 แห่ง ตะวันออก 4 แห่ง

คุณภาพน้ำ ค่าความเค็มอยู่ในเกณฑ์ปกติ ค่าออกซิเจนในน้ำต่ำกว่าค่ามาตรฐาน บริเวณ แม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำนครชัยศรี เจ้าพระยาระบายน้ำตามแผน ส่วนชี-มูล ปรับแผนการระบายน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ และเขื่อนสิรินธร ลุ่มเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก : ระบายน้ำ 3.14 ล้าน ลบ.ม. น้ำใช้การ 4,327 ล้าน ลบ.ม. (24%) และเก็บน้ำสำรอง 3,943 ล้าน ลบ.ม. ช่วยชะลอน้ำลงแม่น้ำเจ้าพระยา ลุ่มชี-มูล 8 เขื่อนหลัก : ระบายน้ำ 1.10 ล้าน ลบ.ม. น้ำใช้การ 1,440 ล้าน ลบ.ม. (24%) และเก็บสำรองน้ำเพิ่ม 1,021 ล้าน ลบ.ม. เพื่อใช้บริหารจัดการฤดูแล้ง 62/63 ลุ่มภาคตะวันออก 6 เขื่อนหลัก : ระบายน้ำ 0.80 ล้าน ลบ.ม. น้ำใช้การ 474 ล้าน ลบ.ม. (33%) และเก็บน้ำสำรอง 383 ล้าน ลบ.ม.

เฝ้าระวังน้ำหลาก-ดินโคนถล่ม ไม่มีการแจ้งเตือนภัยน้ำหลากดินโคลนถล่ม พื้นที่ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย 21 จ. ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ลําปาง อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก พิจิตร อุบลราชธานี ขอนแก่น อํานาจเจริญ นครพนม ร้อยเอ็ด ยโสธร กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ชัยภูมิ สระแก้ว ศรีสะเกษ สกลนคร น่าน สุโขทัย และเชียงใหม่

โดยในวันนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ จ.ขอนแก่น ติดตามสถานการณ์น้ำ มีกำหนดการลงพื้นที่ตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาค ตะวันออกเฉียงเหนือ สถานการณ์น้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ และตรวจเยี่ยมโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง พร้อมสั่งการให้ความช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้ง