คนกรุงเฮ! ขึ้นรถไฟฟ้าครบ 1.5 หมื่นบาท หักภาษีได้ – ต.ค.นี้ ดีเดย์ตั๋วรถไฟฟ้าราคาถูก ลดค่าครองชีพ

คนกรุงเฮ! ขึ้นรถไฟฟ้าครบ 1.5 หมื่นบาท สามารถนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ คล้ายกับนโยบายช็อปช่วยชาติ – ต.ค.นี้ ดีเดย์ตั๋วรถไฟฟ้าราคาถูก ลดค่าครองชีพ

ขึ้นรถไฟฟ้าหักภาษีได้ – นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างอัตราค่าโดยสารการขนส่งทางราง ที่จะมีขึ้นในวันศุกร์ที่ 6 ก.ย.นี้ จะมีการเสนอมาตรการลดค่าครองชีพประชาชนเกี่ยวกับการลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าแบบรายเดือน ช่วงที่ผู้โดยสารไม่นิยมการเดินทาง (ออฟพีก) ลง รวมทั้งจะมีการเสนอมาตรการจูงใจในการใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น โดยหากผู้โดยสารซื้อตั๋วโดยสารรถไฟฟ้าในระบบใดก็ได้ครบ 15,000 บาท จะสามารถนำเงินมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ คล้ายกับนโยบายช็อปช่วยชาติ

สำหรับมาตรการลดค่าโดยสารรถไฟฟ้ามี 2 แนวทาง คือ 1. ลดค่าโดยสารรถไฟฟ้ารายเดือน และ 2. ลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าในช่วงที่ผู้โดยสารไม่นิยมเดินทาง (ออฟพีก) ซึ่งปัจจุบันรถไฟฟ้าที่อยู่ในระบบมีอยู่ 4 ประเภท คือ 1. รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ปัจจุบันมีค่าโดยสารที่จัดเก็บอยู่ที่ 15-45 บาท/คน/เที่ยว และมีการเดินทางเฉลี่ยต่อคนที่ 31 บาท/คน/เที่ยว หากมาลดราคาเป็นตั๋วรายเดือนค่าโดยสารจะอยู่ที่ 25-30 บาท/เที่ยว ส่วนราคาที่จะจัดเก็บในช่วงออฟพีกจะอยู่ที่ 15-25 บาท/เที่ยว

2. รถไฟฟ้าสายสีม่วง ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ปัจจุบันเก็บค่าโดยสารที่ 14-42 บาท/คน/เที่ยว เดินทางเฉลี่ยต่อคนที่ 21 บาท/คน/เที่ยว หากมาลดราคาเป็นตั๋วรายเดือนค่าโดยสารจะอยู่ที่ 15-20 บาท/เที่ยว ส่วนราคาที่จะจัดเก็บในช่วงออฟพีกจะอยู่ที่ 14-25 บาท/เที่ยว

3. รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ของ รฟม. ปัจจุบันเก็บค่าโดยสารที่ 16-42 บาท/คน/เที่ยว และเดินทางเฉลี่ยต่อคนที่ 25 บาท/คน/เที่ยว หากลดราคาเป็นตั๋วรายเดือนค่าโดยสารจะอยู่ที่ 20-25 บาท/เที่ยว ส่วนราคาที่จะจัดเก็บในช่วงออฟพีกจะอยู่ที่ 16-30 บาท/เที่ยว 4. รถไฟฟ้าบีทีเอส ของ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันมีค่าโดยสารที่จัดเก็บอยู่ที่ 16-44 บาท/คน/เที่ยว และคนเดินทางเฉลี่ย 29 บาท/คน/เที่ยว หากมาลดราคาเป็นตั๋วรายเดือนค่าโดยสารจะอยู่ที่ 26 บาท/เที่ยว

นายสราวุธ กล่าวต่อว่า คณะกรรมการจะมีการหารือเกี่ยวกับมาตรการดังกล่าวร่วมกับกระทรวงการคลังในวันศุกร์นี้ ก่อนที่จะนำมาตรการแนวทางการลดค่าครองชีพ เรื่องค่าโดยสารนี้ เสนอต่อ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ต่อไป เพื่อเสนอแนวทางต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) หากผ่านความเห็นชอบคาดว่ามาตรการลดราคาช่วงออฟพีก จะนำมาเริ่มทดลองก่อน 3 เดือน เริ่มเดือนต.ค. 2562 นี้ เป็นต้นไป

“มาตรการนี้จะทำให้ประชาชนหันมาเดินทางด้วยรถไฟฟ้ามากขึ้นอีก 10% ลดการใช้รถส่วนบุคคล รถติดน้อยลง ยอมรับว่าอาจกระทบต่อรายได้ของผู้ให้บริการรถไฟฟ้า เช่น แอร์พอร์ตลิงก์ รายได้จะลดลงเดือนละ 5 ล้านบาท/เดือน เบื้องต้นคณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างอัตราค่าโดยสารการขนส่งทางราง จะหารือกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อขอนำรายได้ที่จัดเก็บจากภาษีป้ายวงกลม ที่ กทม. จัดเก็บได้กว่าปีละ 14,000 ล้านบาท มาชดเชยเฉลี่ย 500-1,000 ล้านบาท/ปี”