เคลียร์พื้นที่ เตรียมปลูกกัญชาปีหน้า หลังถูกปลดล็อกไม่ใช่สารเสพติด

เคลียร์พื้นที่ เตรียมปลูกกัญชาปีหน้า หลังถูกปลดล็อกไม่ใช่สารเสพติด

หลังเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 โดยสาระสำคัญ ของการยกเว้นไม่เป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ของกัญชา กัญชง โดยคร่าว

อ่านข่าวต่อ  ราชกิจจาฯ ประกาศ ปลดล็อกสาร “กัญชง-กัญชา” พ้นยาเสพติด ผสมอาหารได้!

เส้นทางเศรษฐีสอบถามไปยัง คุณสุภาวดี คูนสุข ประธานวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรเกษตรอินทรีย์บ้านดงบัง กลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่มีความร่วมมือกับโรงพยาบาลในการเป็นผู้ปลูกกัญชา เผยว่า ในมุมมองของตนเองที่เป็นแพทย์แผนไทยประยุกต์ การปลดล็อกกัญชา มีทั้งข้อดีและข้อเสีย เพราะกัญชามีทั้งประโยชน์และโทษ หากใช้ไม่ถูกวิธีอาจเกิดโทษได้ จึงไม่อยากให้เปิดมากจนเกินไป อย่างตอนนี้ต้องยอมรับว่ามีกลุ่มนายทุนเข้าไปส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกกัญชา ซึ่งยังไม่มีข้อมูลชัดเจน แต่ของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรนั้น อยู่ในขั้นตอนของการเก็บรวบรวมข้อมูล ทดลอง และวิจัยทั้งระบบโรงเรือนและระบบเปิด เพราะไม่อยากให้มีปัญหากับสังคมภายหลัง มองประโยชน์ของคนไข้เป็นสำคัญ ต้องมีจรรยาบรรณของการเป็นผู้ผลิตที่ดี จึงทำให้การปลูกดำเนินการช้ากว่าที่อื่นมาก เพราะมองแต่เรื่องเงินเป็นหลัก

“ถามว่าต่างประเทศทำไมปลูกได้ เปิดเสรีได้ เพราะบุคลากรหรือประชาชนมีองค์ความรู้ในการใช้ ไม่มีปัญหาตามมา แต่ของไทยยังไม่มีองค์ความรู้ ทำให้เกิดโทษเหมือนข่าวที่ออกมา สำหรับการปลูก คาดว่าจะได้เริ่มปลูกปีหน้า ซึ่งทางวิสาหกิจได้เตรียมพื้นที่ปลูกไว้แล้ว”

ด้านคุณสมัย คูณสุข  ผู้แทนวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรเกษตรอินทรีย์บ้านดงบัง เผยต่อว่า วิสาหกิจชุมชนสมุนไพรเกษตรอินทรีย์บ้านดงบัง ทำงานร่วมกับโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรมาตั้งแต่เริ่มต้น อีกทั้งพื้นที่การปลูกสมุนไพรยังอยู่ใกล้กับโรงพยาบาล จึงมีความร่วมมือกับโรงพยาบาลในการเป็นผู้ปลูกกัญชา ขณะนี้ การปลูกยังอยู่ในขั้นตอนของการเก็บข้อมูล ทั้งการปลูกแบบระบบเปิดและระบบปิด การทดลอง และวิจัย ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างวิสาหกิจและโรงพยาบาล

“ทุกอย่างต้องมีข้อมูลชัดเจน กัญชาไม่ใช่ว่าใครจะปลูกได้ และข้อมูลเหล่านี้จะกลายเป็นองค์ความรู้สู่สมาชิกในกลุ่มต่อไป”

ทั้งนี้ วิสาหกิจชุมชนสมุนไพรเกษตรอินทรีย์บ้านดงบังรวมตัวกันเมื่อปี 2540 และจดทะเบียนเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา มีสมาชิก 11 ครัวเรือน ปลูกสมุนไพรแบบเกษตรอินทรีย์กลุ่มแรกในประเทศไทยราว 15 ชนิด บนเนื้อที่รวม 60 ไร่ ส่งให้โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร อาทิ ฟ้าทะลายโจร หญ้าหนวดแมว ใบชะพลู เพชรสังฆาต รางจืด เสลดพังพอน ทองพันชั่ง เป็นต้น