แบงก์ชาติจับตาว่างงานเพิ่ม ทั้งภาคเกษตร-ภาคผลิต ผลพวงส่งออกติดลบ-ภัยแล้งซ้ำเติม

แบงก์ชาติจับตาว่างงานเพิ่ม ทั้งภาคเกษตร-ภาคผลิต ผลพวงส่งออกติดลบ-ภัยแล้งซ้ำเติม

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. จะติดตามตัวเลขอัตราการว่างงานที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น โดยอัตราการว่างงานเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 1.1% เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายนที่ 0.9% ตามการจ้างงานโดยรวมที่ลดลงทั้งในและนอกภาคเกษตรกรรม โดยการจ้างงานในภาคเกษตรกรรมลดลงแม้ปริมาณผลผลิตภาคเกษตรกรรมในภาพรวมทรงตัว แต่ผลผลิตข้าวยังคงหดตัวต่อเนื่องจากผลกระทบของปัญหาภัยแล้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมลดลงจากภาคการก่อสร้าง ภาคการผลิตโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออก รวมทั้งภาคการค้าลดลงทั้งในภาคการค้าปลีกและค้าส่ง ขณะที่การจ้างงานในภาคบริการทรงตัว ซึ่งพบว่ามีการจ้างงานในกลุ่มการเงินและอสังหาริมทรัพย์ลดลง ขณะที่การจ้างงานในกลุ่มโรงแรมและภัตตาคาร และขนส่งเพิ่มขึ้น

“อัตราการว่างงานแม้ว่าจะอยู่ในระดับต่ำแต่ทิศทางไม่น่าไว้วางใจ ซึ่งอัตราการว่างงานเดือนกรกฎาคมที่เพิ่มขึ้น 0.2% จากเดือนก่อนถือว่ามีนัยระดับหนึ่ง เพราะหากอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจะเป็นความเสี่ยงต่อการบริโภคให้ปรับลดลงมีผลต่อเศรษฐกิจ และอาจจะมีผลต่อการชำระหนี้ในระยะต่อไปได้ซึ่งกนี้ครัวเรือนขณะนี้อยู่ในระดับสูง” นายดอน กล่าว

นายดอน กล่าวว่า แนวโน้มอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ(จีดีพี) ปีนี้มีโอกาสที่จะขยายตัวต่ำกว่า 3% เนื่องจากผลจากสงครามการค้าสหรัฐและจีนที่ยืดเยื้อและจะมีมาตรการตอบโตระหว่างกันมากขึ้น ทำให้ภาคการส่งออกได้รับผลกระทบ โดยมูลค่าการส่งออกไทยช่วง 7 เดือนแรก 2562 ยังติดลบ 3.0% มูลค่ารวม 1.41 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย ธปท. คาดการณ์ส่งออกปีนี้ขยายตัว 0.0% แต่มีโอกาสที่ปีนี้การส่งออกจะติดลบเล็กน้อย แม้ว่าการส่งออกเดือนกรกรกฎาคมจะขยายตัวถึง 3.8% มูลค่า 2.10 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าเป็นการขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 8 เดือน โดยต้องติดตามแนวโน้มในช่วงที่เหลือปีว่าจะเป็นอย่างไรโดยทิศทางปรับดีขึ้นจากครึ่งปีแรก ผลจากฐานต่ำในปีที่ผ่านมา มีการย้ายฐานการผลิตฮาร์ดดิสไดรฟ์เข้ามาในไทยและการเร่งการส่งออกก่อนการปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าระหว่างสหรัฐและจีนรอบใหม่

“ประเมินการขยายตัวเศรษฐกิจและการส่งออกได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว คาดว่าในช่วงไตรมาสที่ 4 การส่งออกน่าจะกลับมาเป็นบวกได้ ด้านการนำเข้าเริ่มเห็นการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบที่มีทิศทางดีขึ้นจะสนับสนุนให้การลงทุนเอกชนดีขึ้นในอนาคต แม้ว่าการบริโภคเอกชนจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงกว่าครึ่งปีแรกและดัชนีความเชื่อมั่นปรับลดลง ทั้งนี้ การเบิกจ่ายภาครัฐมีแนวโน้มปรับดีขึ้นหากยังดีต่อเนื่องจะเป็นตัวช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มได้ นอกจากนี้ ต้องติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐออกมาว่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด โดย ธปท. ประมาณการจีดีพีขยายตัว 3.3% การปรับตัวเลขใหม่ในเดือนกันยายน” นายดอน กล่าว