ที่มา | ข่าวสดออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
พาณิชย์จัดเกรด 356 โรงพยาบาลเอกชน ขึ้นเว็บโชว์ให้รู้ว่า 30 แห่ง ยังคิดยาแพงสุดโต่ง
30รพ.เอกชนยังคิดยาแพงสุดโต่ง – นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังลงนามความร่วมมือกับคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการวิเคราะห์ข้อมูลโครงสร้างต้นทุนยา เวชภัณฑ์ ค่าบริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาล ว่า ความร่วมมือนี้จะนำไปสู่การจัดทำโครงสร้างต้นทุน ราคาขาย และอัตราส่วนต่างกำไร (มาร์จิ้น) ของยา เวชภัณฑ์ และค่าบริการของโรงพยาบาล ที่เป็นมาตรฐานมากขึ้นและไม่เอาเปรียบทางการค้าจนเกินไป
ทั้งนี้ กำหนดจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 12 เดือนจากนี้ โดยข้อมูลที่ได้รับจะนำมาเป็นมาตรฐานอ้างอิงการประกาศควบคุมเพดานกำไรส่วนต่างค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ และค่าบริการตามโรงพยาบาล ในบัญชีสินค้าควบคุม ภายใต้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.)
“เบื้องต้นกรมมีตัวเลขอัตรามาร์จิ้นของราคายาหรือเวชภัณฑ์ที่เหมาะสมแล้ว แต่ต้องนำไปเทียบกับตัวเลขทางวิชาการ ก่อนประกาศบังคับใช้ว่าส่วนต่างราคายานั้นไม่ควรเกินเท่าไหร่ ซึ่งตอนนี้มีทั้งหลักสิบถึงหลักหมื่นเปอร์เซ็นต์ โดยก่อนเผยแพร่โครงสร้างมาร์จิ้นยาซึ่งต้องใช้เวลา กรมจะดำเนินการแยกข้อมูลราคาซื้อราคาขายที่ให้โรงพยาบาลเอกชน 356 แห่ง จัดส่งมา และแยกออกเป็น 3 กลุ่มโรงพยาบาล ได้แก่ กลุ่มโรงพยาบาลคิดราคายาและค่าบริการระดับกลาง ที่มีสัดส่วนค่อนข้างมาก กลุ่มโรงพยาบาลคิดราคายาและค่าบริการแบบอนุเคราะห์ผู้ป่วย และกลุ่มโรงพยาบาลคิดราคายาและค่าบริการแบบสุดโต่ง ซึ่งส่วนนี้ประมาณ 30 แห่ง โดยจะเริ่มเผยแพร่ในเว็บไซต์กรมในอีก 3 สัปดาห์ข้างหน้า เพื่อให้ประชาชนได้มีทางเลือกว่าจะเข้ารักษาในโรงพยบาลใดที่จะไม่เป็นภาระต่อค่าใช้จ่ายที่รับได้” นายวิชัย กล่าว
นายวิชัย กล่าวว่า ส่วนความคืบหน้าการใช้มาตรการให้โรงพยาบาลเอกชน 356 แห่ง จัดส่งข้อมูลราคาซื้อและราคาขาย รวมถึงค่าบริการมายังกรมภายใน 31 ก.ค.ที่ผ่านมา พบว่า ขณะนี้เหลือ 13 รายยังไม่จัดส่งข้อมูลซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบสาเหตุและเปิดให้เข้าชี้แจง ซึ่งกำหนดผ่อนปรนถึง 31 ส.ค.นี้ แล้วยังเพิกเฉยก็จะส่งดำเนินคดีตามกฎหมายมีโทษจำคุก 5 ปี ปรับ 2 หมื่น หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ พบว่าประชาชนให้ความสนใจการตรวจสอบข้อมูลราคายาและค่ารักษาพยาบาลหลังจากกรมขึ้นเว็บไซต์ค่อนข้างมากถึงวันละ 1 หมื่นราย สะท้อนว่าประชาชนให้ความสนใจ ขณะที่จำนวนร้องเรียนราคาแพงยังอยู่ที่ 10 รายก็กำลังตรวจสอบข้อเท็จจริง สำหรับการติดคิวอาร์โค้ดแสดงรายละเอียดราคาขายยาและบริการตามโรงพยาบาลพบว่าส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือที่ดี