ผู้พิพากษาอาวุโส ชี้นโยบายเศรษฐกิจกำลังหลงทาง แนะต้องช่วยชาวบ้าน อย่าเอื้อแต่นายทุน

ผู้พิพากษาอาวุโส ชี้นโยบายเศรษฐกิจกำลังหลงทาง แนะต้องช่วยชาวบ้าน อย่าเอื้อแต่นายทุน

วันที่ 25 ส.ค. นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์ ผู้พิพากษาอาวุโส ในศาลอุทธรณ์ แสดงความคิดเห็นเเละเเสดงข้อห่วงใยถึงการเสนอนโยบายของฝ่ายรัฐบาลเกี่ยวกับเศรษฐกิจของประเทศ ที่เมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมาเป็นข่าวใหญ่ในเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือที่เรียกว่า จีดีพี, การเร่งส่งเสริมหารายได้เข้าประเทศทางการท่องเที่ยว โดยการเสนอให้เปิดการยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมการขอวีซ่าเข้าประเทศของพลเมืองจีนและอินเดียเพื่อเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยวหารายได้เข้าประเทศ ทดแทนการส่งสินค้าออกที่มีปัญหาหดตัวจากเศรษฐกิจโลกและสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ

การขอให้รัฐอนุโลมให้สถานบันเทิงเปิดถึงเวลา 04.00 น., การหามาตรการช่วยเหลือการส่งสินค้าออกนอกประเทศเพราะกลัวการพลาดเป้าส่งออก, โครงการถมทะเลบริเวณแหลมฉบังอีก 300 ไร่ เพื่อประกอบอุตสาหกรรมด้านปิโตรเคมี ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมใหญ่เกี่ยวกับด้านน้ำมันและผลิตผลจากการผลิตและกลั่นน้ำมัน มาเป็นโพลีพลาสติก เป็นต้น, มาตรการการประกันราคาพืชผลเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร, การกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการแจกเงินคนจน

นโยบายของรัฐเหล่านี้ดูเผินๆ อาจเข้าใจผิดว่าเป็นการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจตามหลักวิชาการ ทั้งยังมีนักวิชาการ กูรู และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง การปฏิบัติตามนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลออกมาอธิบายถึงประโยชน์ได้เสียที่รัฐนำนโยบายไปปฏิบัติเป็นแผนงานต่างๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนและทำให้เศรษฐกิจของประเทศชาติเข้มแข็ง

แต่หากวิเคราะห์เข้าถึงเนื้อในของนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐในขณะนี้แล้ว เป็นเรื่องที่น่าตกใจว่า วิสัยทัศน์และมุมมองความเห็น ถ้าเป็นการหลงทาง หรือเป็นการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ผิดพลาดและสุ่มเสี่ยงต่อการทำให้สถานะเศรษฐกิจของประเทศตกสู่หล่มหรือกับดักของวิกฤตเศรษฐกิจโลกได้ ภายในไม่ถึง 2 ปีด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

เพราะหากวิเคราะห์เจาะลึก โครงสร้างการผลิตของประเทศแล้วพบว่าเรามี โครงสร้างอยู่ที่สำคัญ 2 อย่างคือ หนึ่ง เกษตร ซึ่งเป็นบุคคลส่วนใหญ่ของประเทศ เเละสอง ภาคอุตสาหกรรมและการค้า ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ของผู้ประกอบการ มีไม่เกิน 5% เเละเมื่อดูโครงสร้าง การผลิตอุตสาหกรรมไทยคงเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่มีเทคโนโลยีขั้นสูง ขาดการวิจัยและพัฒนา ไม่ว่าอุตสาหกรรมหนักหรือเบา อุตสาหกรรมเคมีและเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์หรือเครื่องมือทางการแพทย์ก็ไม่ได้มีความก้าวหน้าทัดเทียมประเทศชั้นนำอื่นๆ

ดังนั้น มูลค่าสินค้าจึงต่ำ และยากแก่การแข่งขันกับประเทศต่างๆ ที่มีระดับอุตสาหกรรมเช่นเดียวกัน

สำหรับภาคเกษตร ของประเทศไทย ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรจะทำเกษตรมากที่สุดก็พบว่า มีรายได้ต่ำ และไม่สามารถเพิ่มผลผลิตให้สูง และไม่สามารถลดต้นทุน ได้เทียบเท่าประเทศเพื่อนบ้านเช่น มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

เช่น การปลูกปาล์มน้ำมัน ยางพารา หรือกระทั่งการปลูกข้าวเราก็สู้เวียดนามและจีนไม่ได้ เพราะเรามีเทคโนโลยีการเกษตรที่ต่ำกว่า จนไม่สามารถพัฒนาพืชผลให้เทียบเท่ากับประเทศอื่น

ยกตัวอย่างเช่น ปาล์มน้ำมัน เราไม่สามารถแข่งขันสู้กับมาเลเซียและอินโดนีเซียได้ ผักผลไม้ เราก็ไม่สามารถผลิตสู้ประเทศจีนได้ ดังจะเห็นได้ว่าในแต่ละปีประเทศจีนจะส่งผักผลไม้มาขายในประเทศไทยกว่า 1 ล้านตัน โดยผลิตผลดังกล่าวมีคุณภาพดี ราคาถูกกว่า เช่น กระเทียม แคร์รอต ผักต่างๆ ผลไม้ ก็มีราคาถูกกว่าประเทศไทยทั้งสิ้น

เนื่องจากกระบวนการจัดการการผลิตและเทคโนโลยีสูงกว่าอันเป็นจุดแข็งของเขา จนผลิตผลของประเทศไทย แข่งขันไม่ได้ต้องตั้งกำแพงภาษีหรือจำกัดจำนวนนำเข้าหรือจำกัดเขตการจำหน่าย เป็นต้น

ปัญหาของรัฐที่ต้องตั้งโจทย์มีว่า อะไรที่เป็นจุดแข็งของกระบวนการการผลิตของประเทศไทยที่จะสามารถนำไปแข่งขันและสู้กับประเทศอื่นได้ ในขณะที่เศรษฐกิจของโลกกำลังมีปัญหา และปัญหาสงครามการค้าจีน-สหรัฐ อันมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทย ที่ไทยต้องแก้ปัญหา มันเป็นโจทย์ที่ยากยิ่ง จึงขอถามว่าอะไรที่เป็นจุดแข็งของสินค้าไทยที่จะนำไปแข่งขันกับประเทศอื่น ในท่ามกลางเศรษฐกิจที่มีมรสุม และมีกูรูทำนายว่าอาจเกิดเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกภายในไม่เกิน 3-5 ปีนี้

รัฐบาลและคนไทย กลับลืม ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ให้ไว้ตั้งแต่ปี 2543 คือเราไม่พยายามสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชน คนไทยทั้งภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม เราไม่เคยค้นคว้าหรือหาจุดแข็ง หรือความสามารถทางการแข่งขันกับประเทศอื่นทั่วโลก

เราไม่ได้ศึกษาและวิจัยในเรื่อง การผลิตสินค้า หรือบริการ ตลอดจนภาคเกษตร และเกษตรอุตสาหกรรม ว่าสินค้าใดเป็นสินค้าที่ เป็นจุดแข็ง และสู้เขาได้ สินค้าและบริการที่เป็นจุดแข็ง คือสินค้าที่เราสามารถผลิตได้โดยเทคโนโลยีของเราเอง มีราคาสูง มีคุณภาพสูง และประเทศอื่นไม่สามารถผลิตเพื่อแข่งขันได้

จะขอยกตัวอย่างเช่น ขณะนี้ เราได้พบว่าน้ำมันกัญชา เป็นพืชทางเศรษฐกิจ ที่ประเทศไทยมีความสามารถสูงในการปลูก ผลิต และสกัดทำน้ำมันกัญชาเพื่อนำไปใช้เป็นยารักษาโรค ที่มีประสิทธิภาพสูง ที่สามารถสู้ ผู้ผลิต เคมีภัณฑ์จากชาติยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีนได้

แต่รัฐก็ไม่มีวิสัยทัศน์หรือความกล้าที่จะนำจุดแข็งของประเทศไทยมาเป็นการผลิตสินค้าเพื่อเป็นสินค้าชนิด Champion Products และสามารถส่งออกเป็นมูลค่าสูงหลายล้านล้านบาทต่อปีได้ อันเนื่องจากความหวาดระแวง ความขี้ขลาด และไม่กล้าหาญของผู้นำประเทศ ที่จะกล้าตัดสินใจให้ประเทศไทย เป็นผู้ผลิตสินค้า ประเภท Champion of Product คือน้ำมันกัญชา ให้เป็นอุตสาหกรรม

เรื่องต่อไปคือการที่ประเทศไทยกลับไปส่งเสริมเกษตรกรรมประเภทที่เราสู้เขาไม่ได้ เช่น ส่งเสริมให้ปลูกผลผลิตประเภทกระเทียม ถั่วเหลือง น้ำมันปาล์ม และยาง แทนที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชที่สามารถแข่งขันและผลิตเป็นสินค้าชั้นสูงได้ กลับไม่กระทำ แต่กลับไปรับจำนำสินค้าเกษตรบ้าง ประกันราคาพืชผลบ้าง ทั้งๆ ที่สินค้าเหล่านี้เราไม่สามารถที่จะส่งออกหรือแข่งขันในการส่งออกได้ทั้งราคาก็ต่ำไม่คุ้มค่า

สิ่งที่ลูกค้าทั่วโลกต้องการ คือ ยาสมุนไพร ที่ประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการผลิต ตลอดจนมีวัตถุดิบมาก เนื่องจากประเทศไทยมีพืชสมุนไพรและพืชอื่นๆ ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ สามารถนำไปผลิตยาที่มีคุณภาพสูง และมีผลข้างเคียงน้อย อันเป็นที่นิยมของตลาดโลก แต่รัฐก็ไม่ส่งเสริมและระดมทุนในการวิจัยและพัฒนา

ทั้งๆ ที่สินค้าประเภทนี้ ตลาดโลกต้องการสูง ราคาสูง และไม่มีคู่ต่อสู้ที่จะมาแข่งขันกับเราได้ แต่ประเทศไทยก็ไม่ได้ส่งเสริม ให้เกษตรกรหันมาสนใจปลูกและผลิตยาสมุนไพรแต่อย่างใด

คนไทยเก่งในการปลูกไม้ดอกไม้ประดับและสามารถผลิตต้นกล้าพันธุ์ ที่เป็นสินค้าอันมีคู่แข่งขันน้อย มีราคาสูง และสามารถเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ แต่ก็ไม่ปรากฏการส่งเสริมของรัฐแต่อย่างใด คนไทยมีฝีมือ หรือศิลปะในการผลิตสินค้าชนิด Handmade การวิจัยและพัฒนา ประกอบการฝึกอาชีพและฝีมือ สามารถทำให้สินค้าประเภทนี้ สามารถแข่งขันกับสินค้าประเทศอื่นได้ ก็ไม่ได้สนใจในการส่งเสริมการลงทุนประเภทนี้

ด้านการแพทย์แผนโบราณของไทย เราก็สามารถผลิตยาไทย ที่มีคุณภาพทัดเทียมยาแผนปัจจุบัน สามารถส่งเสริมการลงทุนและส่งออกได้โดยง่าย โดยมีราคาสูง มีผลข้างเคียงน้อย การรักษาด้วยวิชาการนวดแผนโบราณ และการรักษาด้วยสปา เราก็สามารถแข่งขันได้ และยังเป็นการส่งออกซึ่งสินค้าและบริการได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าการเกษตร และเพื่อการผลิต รัฐจะละเลย แม้สินค้าประเภทนี้เราจะสู้เขาไม่ได้แต่เราต้องการการพึ่งพาตนเองในเรื่องความมั่นคงทางอาหารและการผลิตสินค้าเพื่อใช้ภายในประเทศเป็นหลัก ส่วนการส่งออกนั้นก็ไม่ควรจะส่งเสริมให้มากเกินไป เพราะอย่างไรก็ตามผลตอบแทนมีต่ำกว่าสินค้าที่เป็นจุดแข็งของประเทศ จีดีพี และการส่งออก ไม่ควรเป็นเป้าหมายที่สำคัญของประเทศ แต่รัฐต้องคำนึงถึงตัวเลขเศรษฐกิจว่าควรขยายตัวเพียงใด ตัวเลขจีดีพี มากหรือน้อย หรือสถิติการส่งออกควรขยายตัวเพียงใด เพราะสิ่งนี้ไม่ใช่ตัวชี้วัดหรือบ่งชี้ถึงความสำเร็จในการบริหารงานของรัฐ

นโยบายเศรษฐกิจที่แท้จริงต้องไม่ให้ประเทศไทยพึ่งพาการส่งออก ไม่ต้องพึ่งพาตัวเลขจีดีพี ที่บรรดาผู้ประกอบการและเศรษฐีเพียงไม่ถึงร้อยละ 50 ของประเทศ เป็นเจ้าของ แต่ต้องถามให้ประชาชนในประเทศมีความเข้มแข็ง ในการประกอบกิจการงาน มีรายได้ที่สมควรพอกินพออยู่ มีความมั่นคงทางอาหาร

อย่าไปส่งเสริมให้มีเศรษฐีใหม่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่ต้องทำให้ประชาชนรากหญ้า สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยไม่ต้องเอาเงินมาแจกประชาชนเหมือนประชาชนเป็นคนขอทาน การกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดเศรษฐีใหม่ อีก 1-2 เปอร์เซ็นต์คงไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง

ในเรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยยอมให้เปิดสถานบริการถึงเช้าก็ไม่ได้ทำให้รายได้ที่เข้ามาเพื่อซื้อเผื่อแผ่ไปถึงประชาชนที่เป็นรากหญ้าของประเทศ หากรัฐบาลสามารถทำให้ประชาชนเข้มแข็ง และ พึ่งพาตนเองได้ ก็ถือว่า ประสบความสำเร็จในการบริหารราชการแผ่นดิน เราไม่สามารถทําให้ทุกคนเป็นคนรวยได้ แต่อย่าพยายาม ใช้งบประมาณอย่างล้างผลาญ เพื่อตัวเลขจีดีพีการเติบโตทางเศรษฐกิจ ว่าด้วยการส่งออกและการได้เปรียบดุลการค้า เพราะสิ่งนั้นไม่ใช่ภาพที่แท้จริงของเศรษฐกิจประเทศไทย

ส่วนการเร่งหารายได้จากการท่องเที่ยวด้วยการยกเว้น ค่าธรรมเนียมวีซ่า และ การขอผ่อนผันให้เปิดสถานบันเทิง ถึงเวลา 04.00 น. นั้น มองว่า รมว.ท่องเที่ยวฯ ผู้เสนอนโยบายอาจจะหลงทาง เพราะแม้รายได้จากการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนรายได้จากการส่งออก แต่การส่งเสริมการท่องเที่ยวจนมากเกินกว่าประเทศจะรับได้จะเป็นการทำลายบรรยากาศการท่องเที่ยว

เป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติอันเกิดจากการใช้ของนักท่องเที่ยวมากเกินไป และยังก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง ความไม่พึงพอใจระหว่างคนในประเทศกับนักท่องเที่ยวที่มีการแย่งกันใช้บริการ นอกจากนี้ การไม่คัดกรองนักท่องเที่ยวยังเป็นปัญหาสุ่มเสี่ยงในการเกิดปัญหา

การขอเปิดสถานบันเทิงถึง 04.00 น. ก็ไม่ใช่รายได้หลักของการท่องเที่ยว เพราะผู้ที่มาใช้บริการนั้น เป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มน้อย เขามีงานเลี้ยง และเม็ดเงิน ที่ได้จากนักท่องเที่ยวจากสถานบันเทิงนี้ก็ไม่ได้กระจายไปยังประชาชนรากหญ้า แต่จะตกอยู่กับนายทุน ผู้ประกอบธุรกิจ เป็นส่วนใหญ่

ทั้งยังก่อให้เกิดปัญหาสังคม ที่คนไทยในแหล่งที่มีการยกเว้นให้เปิดสถานบันเทิงเกินเวลาก็จะเข้ามาใช้บริการ อันก่อให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของคนไทย ซึ่งไร้ระเบียบวินัยและการควบคุม ปัญหานี้จะย้อนกลับมาสู่คนไทย และไม่เกิดประโยชน์แก่รายได้ที่จะกระจายลงแก่ประชาชนทั่วไป จึงเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม และมองแต่ตัวเลขรายได้จากการท่องเที่ยวเท่านั้น จึงเป็นนโยบายที่ไม่รอบคอบและไม่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง