“มิตรสิบ ลิสซิ่ง” เชื่อขึ้นค่าโดยสาร ช่วยเพิ่มรายได้แท็กซี่ ธุรกิจสินเชื่อกลับมาคึกคัก

“มิตรสิบ ลิสซิ่ง” เชื่อขึ้นค่าโดยสารช่วยเพิ่มรายได้แท็กซี่ ธุรกิจสินเชื่อกลับมาคึกคัก

จากกรณี กระทรวงคมนาคม ให้มีการปรับขึ้นค่าโดยสารรถแท็กซี่ โดยระยะเริ่มต้นกดมิเตอร์ยังคงอัตราค่าโดยสารเดิมที่ 35 บาท แต่จะมีการปรับขึ้นค่าโดยสารในระยะต่อไป คือ ระยะทางช่วง 1-10 กิโลเมตร ปรับขึ้นกิโลเมตรละ 1 บาท จาก 5.50 บาท เป็น 6.50 บาท

ส่วนระยะช่วง 10-20 กิโลเมตร ปรับขึ้นกิโลเมตรละ 50 สตางค์ จาก 6.50 บาท เป็น 7 บาท ระยะช่วง 20-40 กิโลเมตร ปรับขึ้นกิโลเมตรละ 50 สตางค์ จาก 7.50 บาท เป็น 8 บาท และระยะช่วง 40-60 กิโลเมตร ปรับขึ้นกิโลเมตรละ 50 สตางค์ จาก 8 บาท เป็น 8.50 บาท

นอกจากนี้ ยังอนุมัติให้ปรับขึ้นค่าโดยสารช่วงรถติด ซึ่งรถมีอัตราความเร็วไม่เกิน 6 กม./ชม. อีกนาทีละ 1 บาท คือปรับจากนาทีละ 2 บาท เป็นนาทีละ 3 บาท

ภายหลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ชี้แจง ยืนยันยังไม่ขึ้นค่าแท็กซี่! ขอศึกษาแนวทางการปรับขึ้นค่าโดยสารก่อน

คุณนิติพัทญ์ ยงค์สงวนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มิตรสิบ ลิสชิ่ง จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านการจำหน่ายและให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ มุ่นเน้นรถยนต์สาธารณะประเภทแท็กซี่เป็นหลัก เผยว่า การขึ้นค่าโดยสารแท็กซี่ ผู้ที่ได้รับประโยชน์โดยตรง คือ ผู้ที่ประกอบอาชีพขับขี่แท็กซี่ที่เรียกร้องการปรับขึ้นราคามาโดยตลอด

“ช่วงหลายปีที่ผ่านมา แท็กซี่บางกลุ่มพยายามเรียกร้องเรื่องนี้มาโดยตลอด แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติ ในขณะที่ค่าครองชีพ ค่าข้าวปรับขึ้นจากจานละ 30-40 เป็นจานละ 50 บาท ส่วนค่าเชื้อเพลิง ซึ่งรถแท็กซี่ใช้ NGV และ LPG เป็นหลัก ซึ่งอัตราค่าเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นตลอด เมื่อ 5-6 ปีก่อน ขึ้นอัตราค่าโดยสารที่ใช้กันถึงปัจจุบันได้รายได้วันละ 1,000 บาท ขณะนี้รายได้เหลือแค่ 700-800 บาท ส่วนต่าง 200 หายไปกับค่าครองชีพ ทุกวันนี้รถติด ลูกค้าแต่ละวันลดลง ทำให้การรับลูกค้าไม่ต่อเนื่อง” คุณนิติพัทญ์ เผยถึงปัญหาของคนขับแท็กซี่

ส่วนทางบริษัทเอง ซึ่งดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการจำหน่ายและให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ มุ่งเน้นรถยนต์สาธารณะประเภทแท็กซี่เป็นหลัก จะได้รับประโยชน์ในด้านโอกาส สามารถปล่อยสินเชื่อได้เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ การปรับราคา จะมีข้อเสียกับผู้โดยสาร ลูกค้าอาจชะลอการใช้บริการรถแท็กซี่ ซึ่งเป็นสิ่งที่แท็กซี่กังวลเช่นกัน

“เชื่อว่าธุรกิจการปล่อยสินเชื่อจะกลับมาคึกคักมากขึ้น เพราะจะเกิดผู้ประกอบการายใหม่ และเป็นกำลังใจให้ผู้ประกอบการรายเก่าไม่เปลี่ยนไปทำอาชีพอื่น ช่วงที่ผ่านมาปลายปี 61 ถึงต้นปี 62 ยอมรับว่าปล่อยสินเชื่อได้ยากขึ้น และบริษัทเองต้องพิจารณาลูกค้าให้มากขึ้น เพราะผู้ประกอบการมีกำลังเงินน้อยลง”

สำหรับการดำเนินธุรกิจของบริษัท คุณนิติพัทญ์ เผยว่า สาเหตุที่มุ่งเน้นการจำหน่ายและปล่อยสินเชื่อรถยนต์รับส่งสาธารณะประเภทแท็กซี่ เพราะอาชีพขับแท็กซี่เป็นอาชีพที่สุจริต ผู้ที่ประกอบอาชีพนี้ไม่มีโอกาสโตไปมากกว่านี้ อาจจะขับตั้งแต่วัยรุ่นยันสูงวัย

“ต้องยอมรับว่าบุคคลทั่วไปมองคนขับแท็กซี่ว่าต่ำต้อย เราอยากทำให้บุคคลเหล่านี้ภูมิใจในอาชีพขับรถแท็กซี่ ในขณะเดียวกันก็อยากสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจแบบเดียวกับ มิตรสิบ ลิสซิ่ง ให้ยกระดับการบริการให้ดีขึ้นกับลูกค้าที่เป็นผู้ขับขี่โดยตรง”

คุณนิติพัทญ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน มีผู้ดำเนินธุรกิจเช่นเดียวกับ บริษัท มิตรสิบ ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) อยู่ประมาณ 3-4 ราย แต่ มิตรสิบ ลิสซิ่ง เองถือเป็นผู้นำ ผู้ประกอบการแท็กซี่ทุกรายรู้จัก และเคยเข้ามาใช้บริการ ในส่วนรายได้ 80-90 เปอร์เซ็นต์มาจากการจำหน่าย และดอกเบี้ยจากการปล่อยสินเชื่อแท็กซี่เป็นหลัก

นอกจากนี้ บริษัท มิตรสิบ ลิสชิ่ง จำกัด (มหาชน) ยังส่งเสริมการจำหน่ายและให้บริการปล่อยสินเชื่อ รถยนต์สาธารณะประเภทอื่น เช่น รถสองแถว รถบรรทุก และรถขนาดเล็กสำหรับขนส่งโลจิสติกส์