ที่มา | ข่าวสดออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ผู้ประกอบการ-เกษตรกร แห่ร้องพาณิชย์ยกเลิกห้ามนำเข้าแทรกเตอร์มือสอง ด้านกรมการค้าต่างประเทศหารือด่วน พร้อมมีมติยกเลิกประกาศกระทรวง ชี้ไม่กระทบสิ่งแวดล้อมใช้ปีไม่กี่ครั้ง
วอนยกเลิกห้ามนำเข้าแทรกเตอร์มือสอง – เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 16 ส.ค. 2562 ตัวแทนผู้ประกอบการที่จำหน่ายรถแทรกเตอร์ใช้แล้ว หรือ รถแทรกเตอร์มือสอง เกษตรชาวไร่อ้อยกว่า 100 คน เดินทางมากระทรวงพาณิชย์เพื่อเรียกร้องให้กระทรวงพาณิชย์ ยกเลิกหรือแก้ไข ประกาศกฎกระทรวงกำหนดให้รถยนต์ใช้แล้วเป็นสินค้าที่ต้องห้ามหรือต้องขออนุญาตในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร ที่ห้ามนำเข้ารถที่ใช้แล้วหรือรถมือสองตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภท 87.01 หรือห้ามรถแทรกเตอร์มือสองเพื่อใช้ในการเกษตร ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 10 ธ.ค. 2562 เป็นต้นไป เนื่องจากจะมีเกษตรกรกว่า 500,000 คน และผู้ประกอบการรถแทรกเตอร์มือสองไม่ต่ำกว่า 40 แห่งทั่วประเทศ ได้รับผลกระทบจนอาจต้องปิดกิจการ ซึ่งนายบุญช่วย ศรีเดช ตัวแทนเกษตรกรชาวไร่อ้อยจังหวัดนครสวรรค์ ระบุหากกระทรวงพาณิชย์ยังยืนยันที่จะบังคับใช้กฎกระทรวงดังกล่าว เกษตรกรจะต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น
น.ส.พัชรินทร์ ชำนาญจักร์ ตัวแทนผู้ประกอบการรถแทรกเตอร์มือสอง กล่าวว่า การเรียกร้องให้กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าต่างประเทศ ทบทวนกฎกระทรวงนี้ เพราะที่ผ่านมา ผู้มีส่วนใดส่วนเสีย ไม่มีส่วนร่วมกับการทำประชาพิจารณ์ จึงอยากให้ทางกระทรวงพาณิชย์ รับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างทั่วถึง รวมยกเลิกหรือแก้ไขกฎกระทรวงห้ามนำเข้ารถแทรกเตอร์ใช้แล้วเพื่อการเกษตร และให้การคุ้มครองสิทธิ์ในระหว่างที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงกฎกระทรวงพาณิชย์
ทั้งนี้ นายวันชัย วราวิทย์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ได้ออกมารับเรื่องและได้เชิญตัวแทนเกษตรกรรม ผู้ประกอบการ และผู้ที่เกี่ยวข้องหารือเพื่อหาข้อสรุป
สำหรับจำนวนรถแทรกเตอร์ที่ใช้ในการเกษตรแต่ละปีซึ่งเป็นรถนำเข้าทั้งใหม่และเก่ามีประมาณ 15,000 คัน ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น โดยรถเก่าจะมีราคาถูกกว่า 2 เท่าของรถแทรกเตอร์ใหม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเดือนก.ค. ที่ผ่านมา กรมการค้าต่างประเทศ (คต.) ออกประกาศกำหนดให้รถยนต์ใช้แล้วเป็นสินค้าที่ต้องห้ามหรือต้องขออนุญาตในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 10 ธ.ค. 2562 เป็นต้นไป โดยกำหนดให้รถยนต์นั่งที่ใช้แล้วเพื่อใช้เฉพาะตัวเป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้า เพื่อป้องกันปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยบนท้องถนน รวมถึงแก้ไขปัญหาการหลบเลี่ยงมาตรการควบคุม และปรับลดขั้นตอนการทำงานเพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนตามนโยบายรัฐบาลซึ่งรวมถึงรถแทรกเตอร์มือสองตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภท 87.01 ด้วย