ประเดิม 20 เอสเอ็มอีเข้าโครงการส่งสินค้าผ่าน “อาลีบาบา” ของแจ็ค หม่า 4 หน่วยงานรัฐร่วมลงนามปั้นรายย่อยเจาะตลาดจีนเพิ่มปีละ 2 พันราย

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ก้าวสู่ตลาดอีคอมเมิร์ซระดับสากล

นายสมชาย กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยมี 4 หน่วยงาน ทั้งกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ธพว. ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมผลักดันให้เอสเอ็มอีสามารถทำธุรกิจในรูปแบบอีคอมเมิร์ซกับทางอาลีบาบาดอทคอม อีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของจีนที่ประสบความสำเร็จระดับโลก ภายหลังนายแจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร บริษัท อาลีบาบา กรุ๊ป จำกัด เข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รวมถึงนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือการร่วมผลักดันเอสเอ็มอีไทยให้เข้าสู่ตลาดอีคอมเมิร์ซ เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า โครงการนำร่องครั้งนี้ทั้ง 4 หน่วยงานได้คัดเลือกผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพรวม 20 รายในอุตสาหกรรมต่างๆ มาเข้าโครงการเพื่อพัฒนาบ่มเพาะเชื่อมต่อการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซผ่านอาลีบาบาดอทคอม ระหว่างวันที่ 11-13 พฤศจิกายนนี้ ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ตั้งเป้าว่าหลังจากนี้จะมีผู้เข้าร่วมอบรมอีคอมเมิร์ซกับอาลีบาบาปีละไม่ต่ำกว่า 20,000 ราย สามารถทำการค้าขายในอาลีบาบาปีละ 10% หรือคิดเป็น 2,000 ราย และตั้งเป้าภายใน 5 ปี มีผู้ประกอบการเข้าร่วม 100,000 ราย จากเอสเอ็มอีทั้งหมด 3 ล้านรายในขณะนี้

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ เอ็กซิมแบงก์ เปิดเผยว่า เอ็กซิมแบงก์จะร่วมสนับสนุนด้านสินเชื่อและให้บริการทางการเงินต่างๆ ร่วมกับธพว. และมองว่าการส่งเสริมเอสเอ็มอีทำการค้าผ่านอีคอมเมิร์ซครั้งนี้จะทำให้ตลาดเอสเอ็มอีก้าวกระโดด ไม่จำเป็นต้องทำการค้าภายในประเทศให้แข็งแรงก่อนแล้วจึงวางแผนส่งออกเหมือนการทำธุรกิจในอดีต คาดการณ์ปีนี้ตลาดอีคอมเมิร์ซจะเติบโต 12.5% มีมูลค่าเชิงพาณิชย์ประมาณ 2.52 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 มีมูลค่าเชิงพาณิชย์ 2.24 ล้านล้านบาท

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธพว. เปิดเผยว่า นอกจากเป็นสถาบันให้บริการทางการเงินร่วมกับเอ็กซิมแบงก์แล้ว ธพว.จะเป็นผู้คัดเลือกเอสเอ็มอีร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมด้วย สำหรับผลประกอบการของธพว.ช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่เพื่อช่วยผู้ประกอบการรายย่อยรวม 26,253 ล้านบาท จำนวน 8,823 ราย ยอดสินเชื่อคงค้าง 91,898 ล้านบาท สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) คงเหลือ 18,983 ล้านบาท ลดลงจากเดือนสิงหาคมที่มียอดเอ็นพีแอล 19,486 ล้านบาท หรือลดลง 503 ล้านบาท ทำให้ผลประกอบการของธนาคารมีกำไรสุทธิในเดือนกันยายน 2559 เท่ากับ 186 ล้านบาท และรวมกำไรสุทธิสิ้นสุดไตรมาส 3/2559 เท่ากับ 1,473 ล้านบาท

 

 

ที่มา มติชน