ธนารักษ์ ลุยสำรวจบ้านโบราณปล่อยทิ้งร้าง บ้านผีสิง พัฒนาทำโรงแรม-ร้านกาแฟ

ธนารักษ์ ลุยสำรวจบ้านโบราณปล่อยทิ้งร้าง บ้านผีสิง พัฒนาทำโรงแรม-ร้านกาแฟ

นายอำนวย ปรีมนวงศ์ อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า กรมกำลังรวบรวมพื้นที่ราชพัสดุ อาคารสำนักงานรัฐ อาคารที่พักข้าราชการ สิ่งปลูกสร้างโบราณ ที่มีสถาปัตยกรรม และศิลปกรรมเก่าแก่ หรือมีประวัติเรื่องเร้นลับทั่วประเทศประมาณ 200 แห่ง มาจัดทำการเปิดให้ภาคเอกชนเช่า เข้ามาลงทุนพัฒนาเชิงพาณิชย์ เช่น โรงแรมบูติค ร้านอาหาร และร้านกาแฟ โดยมีเงื่อนไข ผู้ร่วมประมูลจะต้องอนุรักษ์สภาพตัวอาคารไว้เพื่อช่วยอนุรักษ์สถานที่สำคัญของประเทศ

“เดิมทีอาคารเหล่านี้เป็นอาคารเก่า เป็นบ้านโบราณ มีศิลปกรรม สถาปัตยกรรมเก่าแก่มาหลายร้อยปี แต่ปัจจุบันบางหลังก็มีการปล่อยร้าง หรือมีประวัติมีเรื่องราวเหนือธรรมชาติ เป็นบ้านผีสิง กรมจึงเห็นควรนำมาจัดทำแผนปรับปรุงเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยให้เอกชนเข้ามาร่วมพัฒนา เพราะหากกรมจะเข้าไปพัฒนาเองอาจต้องใช้งบประมาณมาก”

ทั้งนี้การรวบรวมอาคารเก่าเหล่านี้อยู่ในโครงการจัดทำฐานข้อมูลอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นที่ราชพัสดุที่มีลักษณะยังทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ศิลปกรรม หรือสถาปัตยกรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ โดยเบื้องต้นอาคารที่น่าสนใจ เช่น บ้านเขียว หรือบ้านของขุนพิทักษ์บริหาร เป็นบ้านโบราณสมัยรัชกาลที่ 5 อายุเกินกว่า 100 ปี ที่อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อาคารกรมศุลกากร จังหวัดหนองคาย รวมถึงอาคารเก่าในเขตกรุงเทพมหานคร 21 แห่ง ซึ่งตั้งอยู่ในทำเลที่มีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ มีลักษณะเชิงอนุรักษ์ มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์

นายอำนวย กล่าวว่า อาคารโบราณทั่วประเทศบางส่วนอยู่ในการดูแลของส่วนราชการ หากมีแผนต้องการนำไปพัฒนาต่อก็สามารถดำเนินการได้ แต่ถ้าปล่อยร้างไว้ไม่ได้ใช้ประโยชน์กรมก็จะขอเรียกคืนมาพัฒนา หรือเปิดประมูลให้เอกชนเข้ามาพัฒนาต่อเอง แต่หากอาคารใดมีการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน กับกรมศิลปากร กรมก็ต้องมีการหารือก่อนนำมาพัฒนา

“กรมคาดว่าน่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุน นักท่องเที่ยวพอสมคววร เพราะมีบางกลุ่มชอบเข้าพักสถานที่เก่าแก่ หรือบางกลุ่มก็เข้าไปสำรวจในลักษณะเป็นบ้านผีสิง โดยเมื่อได้ข้อมูลชัดเจนแล้วว่า มีแห่งใดสามารถนำมาบูรณะได้ กรมก็จะเปิดให้เอกชนเข้ามาทำสัญญา อาจเป็นรูปแบบพิพิธภัณฑ์ อาคารจำหน่ายสินค้าโอท็อป ที่พักแบบบูทีค โฮเทล หรือ ทำเป็นร้านค้า ร้านกาแฟ ก็ได้”

ส่วนผลตอบแทนเข้ารัฐ อยู่ระหว่างพิจารณา แต่โครงการนี้ไม่ได้มีเป้าหมายในการหารายได้เข้ารัฐ แต่ต้องการทำเพื่ออนุรักษ์โบราณสถานที่สำคัญ เป็นการดูแลสังคมมากกว่า เหมือนกับอาคารที่ดินร้อยชักสามที่เพิ่งลงนามสัญญาให้เอกชนเช่าพัฒนาไป เมื่อทำเสร็จแล้วก็มีความสวยงาม กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ และสามารถอนุรักษ์สถาปัตยกรรมเป็นมรดกของประเทศต่อไปได้ด้วย

นอกจากนี้ กรมอยู่ระหว่างการทำโครงการอนุรักษ์ที่ดินกำแพงเมือง-คูเมือง 1,400 แห่งทั่วประเทศ เพื่อแก้ปัญหาการออกเอกสารสิทธิ์พื้นที่ทับซ้อน และการพัฒนาอนุรักษ์เป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ของประเทศ โดยเบื้องต้นมีการสำรวจพื้นที่กำแพงเมืองและคูเมืองที่ยังมีร่องรอยประวัติศาสตร์กว่า 300 แห่ง มาสำรวจและจัดทำพื้นที่เอกสารสิทธิ์ก่อน

 

ที่มา ข่าวสดออนไลน์