เครือข่ายรถตู้เฮ! “ศักดิ์สยาม” รับเงื่อนไข ต่ออายุรถเก่าจาก 10 ปี เป็น 12 ปี ไม่บังคับเปลี่ยนเป็นรถไมโครบัส

เครือข่ายรถตู้เฮ! “ศักดิ์สยาม” รับเงื่อนไข ต่ออายุรถเก่าจาก 10 ปี เป็น 12 ปี ไม่บังคับเปลี่ยนเป็นรถไมโครบัส ทำกลุ่มทุนขายมินิบัสเสี่ยงขาดทุนกว่า 7 หมื่นล้าน

วันที่ 11 สิงหาคม คุณศิริพิศ เจตนาดี ตัวแทนเครือข่ายผู้ประกอบการรถตู้โดยสารสาธารณะหมวด 2 เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับเครือข่ายตัวแทนรถตู้หมวด 3 ชมรมรถตู้ป้ายฟ้าเพื่อธุรกิจและการท่องเที่ยว สมาคมรถตู้วีไอพีประเทศไทย สมาคมธุรกิจรถตู้ต่างจังหวัด สมาคมรถตู้โดยสารต่างจังหวัดแห่งประเทศไทย หารือร่วมกับนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะทำงาน หลังจากได้รับความเดือดร้อนจากการกำหนดเงื่อนไขของรถตู้สาธารณะและการเดินรถที่มีมากเกินความจำเป็น ทำให้ผู้ประกอบการประสบปัญหาขาดทุน โดยขอให้รัฐมนตรีพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ ล่าสุดผลการหารือเป็นที่พอใจ โดยปรับเปลี่ยนเงื่อนไขอายุการใช้งานของรถตู้โดยสารมาตรฐาน 2 (จ) จากเดิมกำหนดอายุการใช้งาน 10 ปี เป็นให้มีอายุการใช้งาน 15 ปี ล่าสุดรัฐมนตรีขยายอายุให้ 12 ปี และให้อยู่ในเงื่อนไขการควบคุมของกรมการขนส่งทางบก

คุณศิริพิศ กล่าวว่า ประเด็นข้อเรียกร้องให้พิจารณาให้มีรถตู้ มาตรฐาน 2 จ. ไว้ในสารบบมาตรฐานของรถโดยสารประจำทาง รัฐมนตรีอนุมัติให้เปลี่ยนจากรถตู้เป็นรถตู้แบบเดิมโดยไม่มีกำหนดเวลา และให้เปลี่ยนไมโครบัสภาคสมัครใจ ตามนโยบายใหม่ ใช้ได้ทั้งหมวด 1-4 โดยไม่เพิ่มจำนวนรถ แต่ให้ทดแทนรถคันเดิมตามสภาพรถที่หมดอายุในระยะเวลา 12 ปี เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไม่อำนวย จากเดิมกำหนดเปลี่ยนรถตู้เป็นรถไมโครบัสกว่า 3 หมื่นคัน ราคาขายคันละ 2.6 ล้านบาท ล่าสุดทราบว่านายทุนจำหน่ายรถไมโครบัสไม่พอใจนโยบายของรัฐมนตรีเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีความเสี่ยงปัญหาขาดทุนกว่า 7 หมื่นล้านบาท เพราะไม่สามารถขายรถไมโครบัสได้ตามแผนที่กำหนดไว้ และเร็วๆ นี้อาจจะออกมาเคลื่อนไหวเพื่อกดดันการทำงานของรัฐมนตรี

คุณศิริพิศ กล่าวอีกว่า ส่วนข้อเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาเร่งด่วนกรณีการรับส่งพัสดุภัณฑ์ โดยใช้รถตู้โดยสาร หมวด 2 รถร่วมบริษัทขนส่ง เนื่องจากบริษัทขนส่ง จำกัด (บขส. )ไม่อนุญาตให้ผู้ประกอบการแต่ละช่องขายตั๋วทั้ง 4 อาคารที่ใต้ทางด่วนขนส่งหมอชิตรับส่งพัสดุภัณฑ์ แต่ให้สิทธิผู้ให้บริการโปรแกรมขายตั๋วรวมเป็นผู้แสวงหาผลประโยชน์ โดยเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการที่ต้องเสียค่าหัวคิวกับผู้ให้บริการโปรแกรมขายตั๋วรวมนั้น

“ประเด็นนี้รัฐมนตรีให้ผู้เกี่ยวข้องตั้งคณะทำงานให้สรุปภายใน 1 เดือน เพื่อให้ผู้ประกอบการได้มีรายได้เสริมจากการฝากสิ่งของ ขณะที่ข้อเสนอให้ยกเลิกการควบคุมการขับขี่โดยระบบจีพีเอส ในรถตู้รับจ้างไม่ประจำทาง สรุปว่าให้มีการใช้จีพีเอสต่อไป และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ประกอบการร่วมกันกำหนดแผนจากการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพิจารณาว่ามีเทคโนโลยีอื่นที่มีประสิทธิภาพการดูแลความปลอดภัยให้ประชาชนเพื่อนำไปใช้ทดแทน” คุณศิริพิศ กล่าว