ดับฝันค่าแรง 400 บาท! บอร์ดค่าจ้างยังไม่พิจารณา

ดับฝันขึ้นค่าแรง 400 บาท ที่ประชุมบอร์ดค่าจ้างกลางไม่มีการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรอบใหม่

รายงานข่าวจากการปะชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลาง ชุดที่ 20 (บอร์ดค่าจ้าง) ที่มีนายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน เมื่อวันที่ 9 สิงหาคมนั้น ที่ประชุมไม่มีวาระการพิจารณาการปรับขึ้นอัตราจ้างขั้นต่ำแต่อย่างไร

มีเพียงเรื่องเพื่อทราบ ที่เป็นการรายงานสถานการณ์ทางเศษฐกิจและแรงงาน ผลการตรวจแรงงาน เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ข้อมูลจำนวนผู้สมัครงาน ตำแหน่งงานว่าง การบรรจุงาน และสำเนาการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด ส่วนเรื่องเพื่อพิจารณา จะเป็นการเสนอชื่อผู้เข้าร่วมการประชุมและเลือกกันเองเป็นผู้แทนฝ้ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง เพื่อแต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาสมทบในศาลแรงงาน ภาค 3 ภาค 4 ภาค 5 และภาค 9 เท่านั้น

แต่อย่างไรก็ตามตัวเลขที่คณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการได้พิจารณา และมีมติเสนอบอร์ดค่าจ้างให้ปรับขึ้นค่าจ้างในอัตรา 2-10 บาท/ วันนั้น ยังคงไว้สำหรับการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งตรงนี้อาจจะใช้ระยะเวลาในอีก 1-2 เดือนในการวิเคราะห์ หารือจากคณะกรรมการไตรภาคี เพื่อหาข้อยุติ ส่วนการประชุมบอร์ดค่าจ้างกลางในครั้งต่อไปจะมีขึ้นในวันที่ 11 กันยายน 2562 นี้

ด้าน “ผศ.ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ” ผู้อำนวยการสถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และที่ปรึกษาคณะกรรมการค่าจ้าง (ด้านเศรษฐศาสตร์) ให้ความเห็นว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ทั้งจากปัจจัยทางด้านเศษฐกิจ ค่าครองชีพ รวมถึงหลักเกณฑ์ของบอร์ดค่าจ้างในการพิจารณาขึ้นค่าจ้างจำนวน 10 ตัวชี้วัด เข้ามาพิจารณาเป็นองค์ประกอบ

“แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีนโยบายของพรรคการเมืองที่จะให้มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทนั้น โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่าต้องนำเอาข้อมูล หลักเกณฑ์ ตลอดจนองค์ประกอบต่างๆ มาเป็นแกนหลักในการพิจารณา มากกว่าจะนำเอาสิ่งที่พรรคการเมืองหาเสียงไว้เป็นตัวตั้ง แต่หากจะมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดนั้น สิ่งที่สำคัญคือ ต้องคำนึงถึงปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อนายจ้าง ลูกจ้าง ตลอดจนระบบเศรษฐกิขของประเทศก่อน”

“อาจจะไม่จำเป็นที่ต้องปรับค่าจ้างขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดทันทีเป็น 400 บาท แต่อาจจะทยอยปรับแบบค่อยไป ค่อยไปตามขั้นบันไดจนไปถึง 400 ซึ่งต้องวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ แล้วนำมาประกอบการพิจารณากำหนดขั้นความถี่ หรือระยะห่างของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่จะปรับขึ้น เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในภาพรวม”

“ขณะเดียวกัน หากพิจารณาถึงตัวเลขที่อนุกรรมการวิชาได้เสนอมายังบอร์ดค่าจ้างกลางในรอบที่ผ่านมา ในถือเป็นตัวเลขเดิมที่อนุกรรมการค่าจังหวัดได้พิจารณากลั่นกรองและเสนอมา ซึ่งหากจะใช้ตัวเลขดังกล่าวว่าจะไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ทางด้านเศษฐกิจของประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งในตอนนี้ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดชุดใหม่เข้ามา ผมมองว่าต้องให้โอกาสคณะกรรมการชุดใหม่ทำงานด้วย”

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า อัตราค่าจ้างขั้นต่ำรอบบัญชีที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ประกาศเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2561 มีทั้งหมด 7 อัตรา ตั้งแต่ 8-22 บาท

โดย 3 จังหวัดปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุดเป็น 330 บาท/วัน ได้แก่ ภูเก็ต, ชลบุรี และระยอง ปรับขึ้นเป็น 325 บาท 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ, นครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร และฉะเชิงเทรา

ปรับเป็น 320 บาท 14 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี, สุพรรณบุรี, สระบุรี, พระนครศรีอยุธยา, หนองคาย, ลพบุรี, ตราด, ขอนแก่น, สงขลา, สุราษฎร์ธานี, กระบี่, เชียงใหม่, นครราชสีมา และพังงา

ส่วนจังหวัดที่ปรับขึ้นต่ำสุดที่ 308 บาท ได้แก่ นราธิวาส, ยะลา และปัตตานี เฉลี่ยรวมอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศอยู่ที่ 315.97 บาท