ดับฝันสายเขียว! ไทยทำกัญชาเสรี เพื่อความบันเทิงไม่ได้ ปลูกบ้านละ 6 ต้น คุมไม่ได้

ปธ.กก.ควบคุมสารเสพติดโลก พูดชัดไทยทำกัญชาเสรี เพื่อความบันเทิงไม่ได้แน่นอน ยูเอ็นแจงเตือนกลุ่มประเทศที่เปิดเสรี หากไม่หยุดเจอบทลงโทษหนัก

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เปิดการประชุมวิชาการสารเสพติดระดับชาติ ครั้งที่ 11 : สภาวการณ์นานาชาติที่มีผลต่อการใช้สารเสพติด (International Influences on Drug Abuse) โดยมีนักวิชาการ เจ้าหน้าที่ ผู้ปฏิบัติงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ในหัวข้อต่างๆ เช่น การอุบัติของสารเสพติดชนิดใหม่ และการอุบัติซ้ำของสารเสพติดชนิดเดิม ตลาดยาเสพติดและอาชญากรรมบนโลกออนไลน์ การอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อการรักษา และกฎหมายการเปิดเสรี  กำหนดจัดการประชุมระหว่างวันที่ 7-9 สิงหาคม 2562 

นายวิโรจน์ สุ่มใหญ่ ประธานคณะกรรมการควบคุมสารเสพติดระหว่างประเทศ (INCB) กล่าวถึงสถานการณ์สารเสพติดโลกว่า อเมริกาเหนือ แคนาดา จะใช้ยาเสพติดจากสารสังเคราะห์จากสารเคมี ซึ่งแก๊งค้ายาจะไปผสมกับเฮโรอีน เนื่องจากเฮโรอีนหาได้ยากแต่ยากลุ่มนี้จะมีสิ่งเจือหรือสารพิษมากทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิต อีกทั้งออกฤทธิ์รุนแรง สำหรับในกลุ่มประเทศแถบยุโรปจะประสบปัญหาเรื่องการใช้กัญชา สำหรับปัญหาที่เจอ คือเป็นโรคทางจิต ประสาทหลอน เกิดอัตราฆ่าตัวตายสูง เนื่องจากจะกลายเป็นโรคซึมเศร้า แต่สิ่งที่เรารับรู้คือมีคนชอบพูดว่าสูบกัญชาไม่ได้ทำให้คนเสียชีวิต ซึ่งข้อเท็จจริงก็คือกัญชาจะพบโดสที่ทำให้เสียชีวิตจากการสูบ แต่การใช้ทุกวันเป็นประจำ จนเป็นนิสัย จะเกิดผลกับสมองเยอะ และระบบประสาท สมอง เพราะสมองมนุษย์หากอายุต่ำกว่า 25 ปี สมองจะต้องพัฒนาเซลล์ปมประสาท หากวัยรุ่นใช้สิ่งเหล่านี้ ระบบปมประสาท หรือการพัฒนาเซลล์จะหยุดการพัฒนา นี่คือปัญหาการใช้กัญชาเพื่อความบันเทิงหรือสันทนาการ โดยในยุโรปพบการระบาดของการนำน้ำมันกัญชาไปผสมกับบุหรี่ไฟฟ้า รัฐบาลต้องเร่งทำความเข้าใจกับประชาชนถึงพิษภัยของกัญชาหากใช้ไม่ถูกวิธี

นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า การใช้ประโยชน์กัญชาทางการแพทย์นั้นสามารถทำได้อยู่แล้ว ตามมาตรา 4 อนุสัญญาว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961 อนุญาตให้ประเทศสมาชิกสามารถปลูก ปรุง และผสม พืชยาเสพติด 3 ชนิด ได้แก่ โคคา ฝิ่น และกัญชา เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ การศึกษา สังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ และผลิตยา โดยเป็นพืชในกลุ่มต้นโคคาใช้สกัดโคเคนทางการแพทย์, ฝิ่นสกัดเป็นมอร์ฟีนเพื่อระงับอาการปวด และกัญชาที่นำช่อดอกมาสกัดเป็นน้ำมันกัญชา ซึ่งทั่วโลกได้นำมาใช้อยู่แล้ว แต่ไม่อนุญาตให้ใช้เพื่อปลูกเสรีหรือการปลูกบ้านละ 6 ต้น ไม่สามารถทำได้จะควบคุมยังไง โดยในวันที่ 9  ส.ค. เวลา 09.00 น. จะมีการอธิบายรายละเอียดในเรื่องกฎหมายดังกล่าว

เมื่อถามต่อว่าหากปลูก 6 ต้น และระบุว่าใช้ทางการแพทย์ทำได้หรือไม่ นายวิโรจน์ ยังกล่าวต่อว่า การขออนุญาตใช้กัญชา รัฐบาลของประเทศสมาชิกจะต้องมีการประมาณการตัวเลขผู้ป่วยให้ชัดเจนที่ต้องใช้สารสกัดจากกัญชา เพื่อส่งรายงานไปยังองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ถึงจำนวนผู้ป่วยที่มีความประสงค์ต้องการใช้สารสกัดจากกัญชา เพื่อคำนวณพื้นที่ปลูกกัญชา ปริมาณเท่าไหร่ สอดคล้องกับคนไข้กลุ่มนี้ แต่การจะอนุญาตให้ปลูกครอบครัวละ 6 ต้น แสดงว่าทุกบ้านทั่วประเทศต้องมีผู้ป่วย มันผิดวัตถุประสงค์การขออนุญาตเพื่อให้ทำอย่างไร 

 

เมื่อถามอีกว่าในกลุ่มประเทศ เช่น แคนาดา อเมริกา เนเธอร์แลนด์ ที่ดูเหมือนจะเปิดเสรี ทำได้เพราะอะไร นายวิโรจน์ กล่าวว่า พวกนี้ทำผิดกฎอนุสัญญาของ INCB ซึ่งกำลังถูกลงโทษอยู่ การลงโทษไม่สามารถเปิดเผยต่อสาธารณะได้เป็นความลับระหว่างคู่เจรจากับยูเอ็น

เมื่อถามต่อว่า แสดงว่าประเทศไทยทำกัญชาเสรีไม่ได้ นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า ต้องถามว่าเสรีแบบไหน ถ้า การปลูกกัญชาเสรีเพื่อการนันทนาการ สูบเพื่อความบันเทิง ทำไม่ได้แน่นอน หากไทยกระทำฝ่าฝืนประเทศจะต้องถูกลงโทษ โดยการฝ่าฝืนข้อตกลงระหว่างประเทศ ทำให้ไม่สามารถนำเข้ายาที่อยู่ภายใต้อนุสัญญาฉบับนี้ได้เลย ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยรวมกับผู้ป่วย โรงพยาบาล ระบบสาธารณสุข และทำให้ประชาชนและผู้ป่วยเดือดร้อน ประเทศจะอยู่ในภาวะไม่สามารถนำเข้ายาทางการแพทย์ได้เลย

“ขณะนี้ INCB ได้แจ้งเตือนแคนาดากับอเมริกาแล้วว่า มีการละเมิดอนุสัญญา หากถูกลงโทษบทลงโทษรุนแรงกระทบผู้ป่วยจริงๆ เพราะประเทศจะไม่สามารถนำเข้ายาได้ กัญชานำมาสกัดใช้เป็นยารักษาโรคมานานแล้ว แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมไทยเพิ่งจะมาตื่นเต้น ต่างชาติที่เข้ามาเดินสายโปรโมตกัญชาเสรี ก็เพราะไม่สามารถทำในประเทศตนเองได้ ถูกรัฐบาลมีคำสั่งห้ามธนาคารทำธุรกรรมกับกลุ่มธุรกิจกัญชาเสรี คนพวกนี้จึงย้ายมาทำในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” นายวิโรจน์ กล่าว

นายวิโรจน์ กล่าวด้วยว่า การใช้ส่วนผสมจากใบกัญชาในยาตำรับต่างๆ นั้นไม่มีข้อห้าม เนื่องจากมติคณะกรรมการจัดตำรับประเภทของยาตามองค์การอนามัยโลกได้ระบุชัดว่า ใบกัญชาสามารถนำมาเป็นส่วนผสมใน 16 ตำรับยาได้ แต่ต้องไม่มีปริมาณมากจนนำมาสกัดหรือแยกแยะสารกัญชาออกจากตัวยาได้ ทั้งนี้ เพื่อไม่เกิดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนในทางสาธารณสุขได้