ทุ่ม 1.7 หมื่นล.ประกันรายได้เกษตรกร ‘ประภัตร’ ชี้คนปลูกข้าวอด-ราคาสูงแล้ว หอมมะลิ 2 หมื่น/ตัน

‘เฉลิมชัย’ มอบนโยบายหน่วยงานในกระทรวงเกษตรฯ เผยนโยบายประกันรายได้เกษตรกรปีนี้จะใช้ 16,000-17,000 ล้าน ‘ประภัตร’ ชี้ปีนี้ไม่ต้องประกันรายได้ให้เกษตรกรปลูกข้าว เพราะมีราคาสูงมาก

ทุ่ม 1.7 หมื่นล.ประกันรายได้ – นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยการมอบนโยบายกับผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ ว่า เนื่องจากการกำกับดูแลงานของกระทรวงเกษตรฯ มาจากรัฐมนตรีทั้ง 4 พรรค แต่มีนโยบายที่ใกล้เคียงกัน ดังนั้นการทำงานหลังจากนี้ต้องบูรณาการร่วมกันโดยยึดเกษตรกรเป็นหลัก และใช้ตลาดนำการเกษตร การผลิตสินค้าแต่ละชนิดต้องมีปริมาณ คุณภาพ ตามความต้องการของตลาด ซึ่งจะส่งผลให้ไม่เกิดปัญหาล้นตลาดอีกต่อไป การใช้ตลาดนำการเกษตรดังกล่าว กระทรวงเกษตรฯ ต้องบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานภายนอกกระทรวงด้วย โดยอีก 1-2 วันนี้ คาดว่ากระทรวงพาณิชย์จะแถลงข่าวเรื่องการประกันรายได้ ในเบื้องต้นจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อใช้งบดำเนินการรวม 1.6-1.7 หมื่นล้านบาท

“งบประมาณดังกล่าว ได้รายงานให้นายกรัฐมนตรีรับทราบแล้ว โดยระบุว่าให้ใช้งบประมาณที่แต่ละกรมมีอยู่ไปก่อน หากไม่เพียงพอ หรือไม่มีจริงๆ ให้เสนอขอจากงบกลาง ซึ่ง 2 กระทรวงจะหารือในรายละเอียด ด้านราคา ระยะเวลาในการประกันรายได้ จำนวนเกษตรกร จำนวนพื้นที่ และผลผลิต เป็นต้น ซึ่งในส่วนของข้าวคาดว่าจะอยู่ที่อย่างน้อยตันละ 1 หมื่นบาท ปาล์มน้ำมัน 4 บาทต่อกิโลกรัม ยางพารา 60-65 บาทต่อกิโลกรัม เป็นต้น”

นายเฉลิมชัย กล่าวว่า การประกันรายได้จะดำเนินการจนกว่าจะมั่นใจว่าเกษตรกรสามารถบริหารจัดการได้ด้วยตนเอง หลังจากนั้นจะใช้มาตรการอื่นต่อเนื่องเพื่อผลักดันให้เกษตรกรมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งในเบื้องต้นได้สั่งการให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ปรับต้นทุนการผลิตใหม่ทั้งหมดในทุกสินค้าให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง รวมทั้งการชดเชยเมื่อพื้นที่ภาคการเกษตรได้รับความเสียหายจากปัญหาภัยธรรมชาติ ซึ่งเรื่องนี้ได้เสนอให้ ครม. พิจารณาไปแล้ว โดยการจ่ายเงินชดเชยในรูปแบบต่างๆ จะต้องมีคณะกรรมการกำกับดูแลเพื่อให้เงินดังกล่าวถึงมือเกษตรกรอย่างแท้จริงด้วย

กระทรวงเกษตรฯ ต้องทำงานเชิงรุกมากขึ้น จึงมอบนโยบายเร่งด่วนให้ทุกหน่วยงานนำไปปฏิบัติ ประกอบด้วย 1. การบริหารจัดการน้ำ ที่ต้องทำ อย่างปัญหาภัยแล้ง และน้ำท่วมซ้ำซาก ซึ่งเกิดขึ้นทุกปี ดังนั้นต้องมีแผนเตรียมรับมือเอาไว้ จะทำให้การทำงานดีขึ้น โดยผู้บริหารทุกคนต้องประเมินและบริหารจัดการล่วงหน้า เช่นกรณี ข้าว ที่ปัจจุบันเป็นระยะฟื้นตัวหลังจากมีฝนตก แต่ยังมีความเสี่ยงว่าจะเกิดฝนทิ้งช่วงขึ้นอีกครั้งได้ ดังนั้น การทำฝนหลวง จึงต้องดำเนินการเพื่อให้ฝนตกและมีน้ำไหลลงอ่างอย่างต่อเนื่อง

2. การแก้ปัญหาภัยธรรมชาติ โรคระบาด จะต้องดำเนินการอย่างฉับไว ดังนั้นเมื่อจำเป็นประสานกับหน่วยงานอื่นๆ จึงไม่ต้องรอเอกสาร แต่ให้นัดหารือเพื่อให้การทำงานคืบหน้าอย่างรวดเร็ว อย่างกรณีเรื่องยางพารา ผมได้หารือกับกระทรวงคมนาคมเพื่อให้นำไปใช้ทำเป็น กรวย แบริเออร์ นอกเหนือจากการทำถนน โดยทั้ง 2 กระทรวงจะทำบันทึกข้อตกลง (MOU) รวมกันในเร็วๆ นี้

3. การแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมายขาดการรายงานและไร้การควบคุม หรือ ไอยูยู จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อประชาคมโลก ไม่ละเมิดเงื่อนไขทางการค้าของต่างประเทศ ปรับปรุงกฎหมายที่ไม่จำเป็น ทบทวนกฎระเบียบเพื่อไม่เกิดผลกระทบกับ 22 จังหวัดชายทะเล 4. การป้องกันและกำจัดโรคระบาด ซึ่งในเบื้องต้นได้หารือกับกรมวิชาการเกษตร กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย เพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหามันสำปะหลัง

นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรฯ กล่าวว่า นโยบายของนายเฉลิมชัย พูดชัดเจนว่า แม้จะมีการแบ่งงานให้รมช.เกษตรฯ แล้วก็ตาม แต่ให้อำนาจ รมช.เกษตรฯ เรียกหน่วยงานภายในกระทรวง แม้ไม่ใช่กรมที่ดูแลโดยตรง แต่สามารถเรียกมาให้ข้อมูลหรือไปตรวจเยี่ยมได้ สำหรับความเสียหายของนาข้าวที่เกิดจากภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ล่าสุดเมื่อมีพายุวิภาเข้ามาได้ช่วยให้ความเสียหายมีไม่ถึง 1 ล้านไร่แล้ว แต่ถ้าหากจากวันนี้ไปอีก 30 วัน ไม่มีฝนตกลงมาอีกเลยจะเกิดความเสียหายของนาข้าวเป็น 10 ล้านไร่ ทั้งนี้ เรื่องของการประกันรายได้เกษตรกรในปีนี้เรื่องของข้าวคงไม่มี เพราะข้าวปีนี้ราคาสูงมาก ข้าวหอมมะลิราคา 20,000 บาท/ตันแล้ว

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ กล่าวว่า การทำงานจากนี้ไปจะยึดหลักบูรณาการ และเน้นย้ำให้มีส่วนร่วม แม้แต่ละพรรคการเมืองจะมีนโยบายหาเสียงที่แตกต่างกัน แต่การทำงานจากนี้จะถึงตรงนโยบายของรัฐบาลเป็นหลักเพราะถือว่าได้นำนโยบายของแต่ละพรรคมารวมเป็นนโยบายรัฐบาลแล้ว