‘จุรินทร์’ เดินหน้าเติมรายได้เกษตรกร ประกันรายได้ ข้าว-มัน-ยาง-ปาล์มน้ำมัน-ข้าวโพด

‘จุรินทร์’ เดินหน้าเติมรายได้เกษตรกร ประกันรายได้ ข้าว-มัน-ยาง-ปาล์มน้ำมัน-ข้าวโพดพร้อมเร่งรัดส่งออกฝ่าวิกฤตสงครามการค้า

‘จุรินทร์’เติมรายได้เกษตรกร – นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวในเวทีเสวนา Bangkok Post Forum 2019 ว่า การเข้ามาร่วมรัฐบาลนี้เพื่อมาเติมเต็มทางด้านเศรษฐกิจฐานรากคือเกษตรกร ซึ่งการเติมเต็มรายได้ให้กับเกษตรกร โดยการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจฐานรากเป็นเรื่องแรก ด้วยการใช้นโยบายประกันรายได้ ผลิตผลเกษตร 5 ตัวคือ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพด ส่วนพืชชนิดอื่นนั้นให้ใช้มาตรการที่มีความยืดหยุ่นแตกต่างกันออกไปตามความเหมาะสมเพื่อให้เกษตรกรสามารถยังชีพได้ เรื่องที่สองจะต้องเข้าไปดูแลควบคุมราคาสินค้าหรือการดูแลค่าใช้จ่ายเรื่องค่าครองชีพประชาชน รวมทั้งเรื่องคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรมที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเช่นเดียวกัน

ประเด็นที่สาม คือ การเร่งรัดการส่งออก ซึ่งต้องยอมรับความจริงว่าขณะนี้ทุกประเทศในโลกได้รับผลกระทบหมด โดยเฉพาะผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ไม่มีประเทศไหนที่ไม่ได้รับผลกระทบ แม้แต่ตัวสหรัฐและจีนเอง เพราะฉะนั้นตรงนี้จึงเป็นเรื่องที่จะต้องดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาจึงเตรียมกลไกทางนโยบายไปแล้วว่าอย่างน้อยที่สุดการส่งออกในยุคที่ตนเข้าไปรับผิดชอบเราจะต้องมีพระเอกโดยให้เอกชนเป็นบุคคลที่มีประสบการณ์ในเรื่องการทำการค้าตัวจริงมีประสบการณ์ทำตัวเลขรายได้เข้าประเทศตัวจริง จะให้เอกชนเป็นทัพหน้าในการหารายได้เข้าประเทศ ส่วนรัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์จะเป็นแค่ทัพหนุน

“แนวทางที่มีความชัดเจน แต่จะเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นเมื่อกระทรวงพาณิชย์ได้เชิญเอกชนที่จะจับมือกันเป็นทัพหน้า-ทัพหลังทำงานร่วมกันได้กำหนดวันแล้ว และเราได้ตั้งคณะกรรมการร่วมรัฐ-เอกชน หรือ กรอ.พาณิชย์ ขึ้น เพื่อให้เป็นเวทีที่จะทำให้กระทรวงพาณิชย์และหน่วยราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้ได้มีเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเจรจากันสนับสนุนส่งเสริมกัน โดยมีมติว่ากระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ส่วนอะไรที่เอกชนต้องการให้ช่วยนั้นกระทรวงพาณิชย์ต้องเข้าไปคลี่คลายขจัดปัญหาเพื่อให้เอกชนสามารถไปรบชนะในต่างแดนได้ อันนี้คือแนวทางที่มีความชัดเจนแต่จะเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น โดยเอกชนก็จะมีทั้งสมาคม สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า สภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือ เป็นต้น หน่วยงานรัฐบาลไทยหน่วยงานเอกชนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องครบ ส่วนการนัดประชุมกำหนดไว้ในวันที่ 14 ส.ค.นี้ เราจะประชุมนัดแรก เวลา 09.00 น. ที่ กระทรวงพาณิชย์” นายจุรินทร์ กล่าว

นอกจากนี้ ยังเห็นว่า เพื่อให้ตัวเลขการส่งออกในภาพรวมปรับตัวดีขึ้น หรือให้ลดน้อยที่สุดก็คือการส่งเสริมการค้าชายแดน เพราะอาเซียนเรายังมีศักยภาพสูงในการจะเป็นตลาดของประเทศไทยและอาเซียนอย่างมีศักยภาพโดยเฉพาะตัวเลขจะขึ้นเร็วมาก การค้าชายแดนจึงมีความสำคัญไม่ว่าจะเป็นไทย-มาเลย์ ไทย-กัมพูชา ไทย-เมียนมา และไทย-ลาว หรือแม้กระทั่งไทย-เวียดนาม โดยจะจัดเวทีพบปะระหว่างภาคเอกชนของไทยกับชายแดนที่ติดปัญหาอะไรอุปสรรคอะไรสำคัญก็จะหารือกับทุกประเทศที่เป็นคู่ค้าที่บริเวณชายแดน ซึ่งจากที่ได้ไปประชุมอาร์เซ็ป ช่วง 3 วันที่ผ่านมานี้ได้มีโอกาสคุยกับรัฐมนตรีพาณิชย์ของทั้ง 4 ประเทศ และทุกท่านก็ตอบรับและจะมีการจัดฟอรัมกันที่ชายแดนซึ่งเชื่อมั่นว่าจะมีอนาคตขึ้น

ประเด็นที่สี่ ที่มีความสำคัญไม่น้อยคือการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่ค้างท่ออยู่หรือยังเดินต่อไม่ได้ อันนี้ต้องมาเร่งรัดการเจรจายกตัวอย่างสำคัญที่สุดคือกลุ่มประเทศอาร์เซ็ป (ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP คืออาเซียน 10 ประเทศบวกกับประเทศสมาชิกอีก 6 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย) การเจรจานี้จะให้จบทันสิ้นปีซึ่งหมายถึงจะให้จบให้ได้ในเดือน พ.ย. 2562 ถ้าได้ตามเป้าเราจะมีการประชุมในเดือน พ.ย. ที่กรุงเทพฯ แล้วหลังจากนั้นในปี 2020 คือปีหน้านั้นจะได้ลงนามข้อตกลงร่วมกัน

หากจบข้อตกลงนี้ได้เท่ากับอาร์เซ็ป เป็นโอกาสให้ไทยสามารถเพิ่มตลาดที่มีประชากรรวมกันมากถึง 3,500 ล้าน คิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรโลกและมีมูลค่า GDP ประมาณ 32.3% ของ GDPโลก สำหรับไทยสินค้าที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์ เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เครื่องจักรอุปกรณ์ไฟฟ้าพลาสติก เคมีภัณฑ์ ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องแต่งกาย อาหาร เป็นต้น

นอกจากนี้ เราต้องเร่งฟื้นการเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-ยุโรป หรือ FTA ยุโรปที่ไทยดินหน้าต่อไม่ได้ใน 5-6 ปีที่ผ่านมา เพราะติดปัญหาเรื่องสถานการณ์ทางการเมืองแต่ถัดจากนี้ไปเรามาจากการเลือกตั้งแล้ว เพราะฉะนั้นเราสามารถนับหนึ่งเอฟทีเอไทยกับสหภาพยุโรปได้ และก็พร้อม เชื่อว่าทางยุโรปเขาก็พร้อมจะเจรจา และตนได้ให้นโยบายที่กระทรวงพาณิชย์แล้วว่าขอให้เริ่มต้นเตรียมในการจะนับหนึ่งกันอีกครั้งเราจะทำเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป