เกษตรกรโคราช เจอทั้งภัยแล้ง-หนอนกระทู้ระบาดรุนแรง เสียหาย500ล. วอนรัฐเพิ่มค่าชดเชย

ทุกข์ซ้ำ! เกษตรกรโคราช เจอทั้งภัยแล้ง-หนอนกระทู้ระบาดรุนแรง เสียหาย500ล. วอนรัฐเพิ่มค่าชดเชย

เมื่อเวลา 14.00น. วันที่ 5 สิงหาคม 2562 ที่ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายเสกสรร วิวัฒน์สกุลรัตน์ รองประธานศูนย์ยุติธรรมชุมชนจังหวัดนครราชสีมา พร้อมผู้แทนเกษตรกรพืชไร่พื้นที่ อ.เทพารักษ์ อ.ด่านขุนทด อ.พระทองคำ และ อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา เดินทางเข้ายืนหนังสือต่อนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เพื่อร้องทุกข์ กรณีเกษตรกรทั้ง 4 อำเภอได้รับความเดือดร้อนจากหนอนกระทู้ลายจุดระบาดกินยอด ใบต้นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และผลกระทบจากภัยพิบัติฝนทิ้งช่วง ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างต่อเนื่อง

ต่อมานายวิเชียรเรียกนายกังสดาล สวัสดิ์ชัย เกษตรจังหวัดนครราชสีมา มารับฟังปัญหาและชี้แจงแนวทางเยียวยา บรรเทาความเดือดร้อน พร้อมเปิดให้ผู้แทนเกษตรกรพืชไร่แต่ละอำเภอสะท้อนปัญหา ต้นข้าวโพดถูกศัตรูพืชระบาดซึ่งผลกระทบขยายวงกว้างอย่างรวดเร็ว มีเกษตรกรหลายรายได้รับเสียหายทั้งหมด บางรายกำลังระบาด จึงใช้สารเคมีฉีดพ่นแต่ไม่สามารถระงับการระบาดได้ แต่ทำให้หนอนดื้อยา และเกษตรกรต้องเปลี่ยนตัวยากำจัดศัตรูพืช ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น หากรวมปัจจัยการผลิตประมาณไร่ละ 4,000บาท แม้เสียหายเพียงบางส่วนแต่ไม่คุ้มการลงทุน ขณะที่มันสำปะหลังและอ้อยได้รับผลกระทบจากฝนทิ้งช่วง ทำให้เหี่ยวเฉา ยืนต้นตาย ไม่ได้ผลผลิตตามที่ต้องการ สร้างปัญหาในการดำรงชีวิต ไม่มีเงินชำระหนี้สินที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นเรื่อยๆ จึงขอให้ภาครัฐเร่งช่วยเหลือ

นายเสกสรร กล่าวว่า ความเสียหายครั้งนี้ ถือเป็นภัยพิบัติรุนแรงที่สุดของเกษตรกรชาวไร่ ที่ผ่านมาพื้นที่ทั้ง 4 อำเภอเคยประสบภัยแล้งแต่ไม่มีหนอนกระทู้ลายจุดระบาดต้นข้าวโพด แต่ปีนี้ต้องเผชิญปัญหาซ้ำซ้อนทั้งภัยแล้งและศัตรูพืชระบาด จากการสำรวจเบื้องต้น เฉพาะต้นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีพื้นที่เสียหายรวมกว่าแสนไร่ คิดเป็นมูลค่าเกิน 500 ล้านบาท ขณะนี้เกษตรกรประสบปัญหาการดำรงชีพ ต้องขอความช่วยเหลือจากผู้ว่าฯ ขอความอนุเคราะห์รายงานปัญหาต่อรัฐบาล เพื่อปรับเพิ่มเงินชดเชยให้เกษตรกรที่ได้รับความเสียหายทุกราย โดยเฉพาะปัจจัยการผลิตให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันต้องไม่ต่ำกว่า 30 -50% ของกำลังผลิต เนื่องจากค่าชดเชยไร่ละ 1,148 บาท ไม่เพียงพอต่อความเดือดร้อนที่แท้จริง

ด้านนายวิเชียร กล่าวว่า ทุกภาคส่วนมิได้นิ่งนอนใจ พยายามหาทางช่วยเหลือ ลักษณะการเสียหายไม่ได้ทำให้ผลผลิตเสียหายสิ้นเชิง แต่ไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้ เมื่อประกาศภัยพิบัติแล้ว อาจมีปัญหาจ่ายเงินชดเชยภายหลัง จึงจำเป็นต้องช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ ตนจะนำเรื่องนี้เข้าสู่การประชุมอนุกรรมการพัฒนาเกษตร เพื่อรวบรวมปัญหาเสนอรัฐบาลให้พิจารณาสนับสนุนงบประมาณ ส่วนภัยแล้งในนาข้าว เกษตรจังหวัดกำลังสำรวจควบคู่กับการขึ้นทะเบียนเกษตรกร จากนั้นนำไปสู่การประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติแล้ง เตรียมชดเชย ซึ่งจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน