ตรวจพบน้ำพริกหนุ่ม ของฝากภาคเหนือ สารกันบูดเกินมาตรฐาน สูงสุดถึง 11 เท่า

ตรวจพบน้ำพริกหนุ่ม ของฝากภาคเหนือ สารกันบูดเกินมาตรฐาน สูงสุดถึง 11 เท่า

เมื่อวานนี้ (1 ส.ค. 62) นิตยสารฉลาดซื้อ ตรวจซ้ำน้ำพริกหนุ่ม 17 ตัวอย่าง พบกว่าร้อยละ 63 ใช้สารกันบูดเกินมาตรฐาน และบางตัวอย่างเกินมาตรฐานถึง 11 เท่า แนะยกระดับมาตรฐานของฝากทั่วไทย สร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค

ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคเหนือ ภายใต้โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ สุ่มเก็บตัวอย่างน้ำพริกหนุ่มในพื้นที่ภาคเหนือจำนวน 17 ตัวอย่าง ส่งตรวจวิเคราะห์หาปริมาณวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก และกรดซอร์บิก เป็นครั้งที่ 2 หลังจากเคยสุ่มตรวจในครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม 2561 โดยผลทดสอบ มีดังนี้

Nampriknoom2 graphic for web 01 1

Nampriknoom2 graphic for web 01 2

      

น้ำพริกหนุ่มที่ตรวจไม่พบสารกันบูด มี 2 ตัวอย่าง คือ น้ำพริกหนุ่มอุ้ยคำ (ตราขันโตก) จากตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่ และน้ำพริกหนุ่มวรรณภา จากร้านวรรณภา จ.เชียงราย ส่วนน้ำพริกหนุ่มที่ตรวจพบสารกันบูดประเภทกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก แต่ไม่เกินมาตรฐาน มี 8 ตัวอย่าง ได้แก่

-ยี่ห้อ นันทวัน (เจียงฮาย สูตรดั้งเดิม) จาก จ.เชียงราย พบปริมาณกรดเบนโซอิก 455.80 มก./กก.

-น้ำพริกหนุ่มอุ้ยแก้ว จากตลาดสดแม่ต๋ำ จ.พะเยา พบปริมาณกรดเบนโซอิก 437.27 มก./กก.

-ยี่ห้อ อำพัน จากร้านข้าวแต๋นของฝาก จ.ลำปาง พบปริมาณกรดเบนโซอิก 435.29 มก./กก.

-ยี่ห้อ ศุภลักษณ์ รสเผ็ดมาก จากตลาดสดแม่ต๋ำ จ.พะเยา พบปริมาณกรดเบนโซอิก 51.92 มก./กก. และ กรดซอร์บิก 338.17 มก./กก. (รวม 390.09 มก./กก.)

-ยี่ห้อ ป้าแอ็ด จากตลาดหลักเมือง จ.ลำปาง พบปริมาณกรดเบนโซอิก 387.38 มก./กก.

-ยี่ห้อ แม่มารศรี น้ำพริกหนุ่ม-ปลาร้า จากร้านปะเลอะเยอะแยะ จ.เชียงราย พบปริมาณกรดเบนโซอิก 41.73 มก./กก.

– ยี่ห้อ มารศรี น้ำพริกหนุ่มสูตรดั้งเดิม จากตลาดสดแม่ต๋ำ จ.พะเยา พบปริมาณกรดเบนโซอิก 36.92 มก./กก.

– ยี่ห้อ แม่ศรีนวล จากร้านของฝากสามแยกเด่นชัย จ.แพร่ พบปริมาณกรดเบนโซอิก 30.67 มก./กก.

 

สำหรับ น้ำพริกหนุ่มที่เหลืออีก 7 ตัวอย่าง ตรวจพบปริมาณสารกันบูดเกินมาตรฐาน ได้แก่

-น้ำพริกหนุ่มอุมา จากตลาดสดแม่ต๋ำ จ.พะเยา พบปริมาณกรดเบนโซอิก 5649.43 มก./กก.

-ยี่ห้อ ยาใจ (รสเผ็ด) จากร้านของฝากสามแยกเด่นชัย จ.แพร่ พบปริมาณกรดเบนโซอิก 3549.75 มก./กก.

-ยี่ห้อ แม่ชไมพร จากตลาดสดอัศวิน จ.ลำปาง พบปริมาณกรดเบนโซอิก 2231.82 มก./กก.

-ยี่ห้อ เจ๊หงส์ จากตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่ พบปริมาณกรดเบนโซอิก 1968.85 มก./กก.

-ยี่ห้อ นิชา (เจ๊หงส์ น้ำพริกหนุ่ม) จากตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่ พบปริมาณกรดเบนโซอิก 1634.20 มก./กก.

-น้ำพริกหนุ่มล้านนา จากตลาดของฝากเด่นชัย จ.แพร่ พบปริมาณกรดเบนโซอิก 1026.91 มก./กก.

ร้านดำรงค์ จากตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่ พบปริมาณกรดเบนโซอิก 890.32 มก./กก.

ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ กองบรรณาธิการ นิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า แม้ร่างกายมนุษย์จะสามารถขับสารกันบูดออกทางระบบปัสสาวะได้ แต่หากได้รับเป็นประจำจากอาหารต่างๆ ที่รับประทาน โดยเฉพาะอาหารที่มีปริมาณสารกันบูดค่อนข้างมากอย่างสำเร็จรูปหรืออาหารแปรรูป ก็อาจทำให้ร่างกายสะสมสารกันบูดในปริมาณมาก และทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยตามมาได้ เช่น วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หมดสติ หรือแม้กระทั่งทำให้กลไกการดูดซึมสารอาหารของร่างกายผิดปกติ จนอาจเกิดปัญหาต่อตับและไตได้

ทั้งนี้ คุณมลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการด้านอาหาร มพบ. ตั้งข้อสังเกตว่า น้ำพริกหนุ่มที่ตรวจพบปริมาณกรดเบนโซอิกเพียงเล็กน้อยนั้น อาจเป็นกรดเบนโซอิกจากธรรมชาติ ซึ่งไม่ได้มาจากการเติมโดยผู้ผลิต เพราะสารกันบูดในปริมาณน้อย ไม่เพียงพอต่อการใช้เพื่อการถนอมอาหาร อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบการมีการใช้วัตถุเจือปนอาหาร เช่น วัตถุกันเสีย ก็ต้องระบุข้อมูลการใช้สารกันบูดไว้บนฉลากบรรจุภัณฑ์ให้ผู้บริโภคทราบด้วย

“จากการตรวจสอบน้ำพริกหนุ่มทั้ง 17 ตัวอย่าง พบว่ามีเพียง 2 ตัวอย่าง (คิดเป็นร้อยละ 11) เท่านั้น ที่ระบุว่าใช้วัตถุกันเสีย โดยเฉพาะน้ำพริกหนุ่ม 7 ยี่ห้อ ที่มีปริมาณสารกันบูดเกินมาตรฐาน ไม่มียี่ห้อใดที่ให้ข้อมูลบนบรรจุภัณฑ์ว่าใช้สารกันบูดเลย ทั้งที่บางยี่ห้อมีปริมาณสารกันบูดสูงถึง 5649.43 มก./กก. ซึ่งเกินจากที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ถึง 11 เท่า” คุณมลฤดี กล่าว

คุณมลฤดี กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากสินค้าของฝากอย่าง น้ำพริกหนุ่ม โรตีสายไหม และแกงไตปลาแห้งแล้ว มพบ. เคยสุ่มตรวจสารกันบูดในขนมปังไส้ เฉาก๊วย และขนมจีน ซึ่งส่วนใหญ่พบว่าผู้ประกอบการไม่ได้มีการแสดงฉลากให้ถูกต้องชัดเจน โดยเฉพาะข้อมูลเรื่องการใช้วัตถุเจือปนอาหารประเภทสารกันบูด จึงอยากเสนอให้หน่วยงานของรัฐที่กำกับดูแล ได้ออกกฎหมาย ข้อกำหนด หรือบทลงโทษ ให้ผู้ประกอบการได้มีการจัดทำฉลากบนบรรจุภัณฑ์ให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรมเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค

คุณพวงทอง ว่องไว เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคเหนือ กล่าวว่า น้ำพริกหนุ่ม ถือเป็นสินค้าประจำภาคเหนือที่นักท่องเที่ยวนิยมซื้อหาเป็นของฝาก แต่จากผลตรวจน้ำพริกหนุ่มในครั้งนี้กลับพบน้ำพริกหนุ่มที่มีปริมาณสารกันบูดเกินมาตรฐานกว่าร้อยละ 63 จึงอยากฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยกันสำรวจคุณภาพมาตรฐานสินค้าของฝากต่างๆ รวมถึงให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้วัตถุเจือปนอาหารอย่างถูกต้องให้กับผู้ประกอบการ เพื่อช่วยกันยกระดับมาตรฐานของฝากทั้งของภาคเหนือและภาคอื่นๆ เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว

ที่มา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค