ดีเดย์ 7 ส.ค.จ่ายยากัญชา 5,000 ขวด – แพทย์แผนไทย เปิดคลินิกปรึกษา 30 แห่งทั่วประเทศ

ดีเดย์ 7 ส.ค.จ่ายยากัญชา 5,000 ขวด – แพทย์แผนไทย เปิดคลินิกปรึกษา 30 แห่งทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 1 ส.ค. ที่งานประชุมวิชาการพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย (National Health R2R Forum) โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชา ออคิด จังหวัดขอนแก่น นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมแจกจ่ายสารสกัดน้ำมันกัญชา ว่า ในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ จะสามารถแจกจ่ายสารสกัดน้ำมันกัญชาประมาณ 5,000 ขวด ให้กับโรงพยาบาล สังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศได้ ภายใต้การควบคุม ของ กรมการแพทย์ ซึ่งเดิมได้มีการประเมินไว้ว่าจะมีการจ่ายสารสกัดน้ำมันกัญชา ประมาณ 10,000 ขวด ภายในสิ้นเดือนนี้ แต่ไม่สามารถทำได้ตามที่ประเมินไว้ เนื่องจากพบปัญหาสารความเข้มข้นในดอกกัญชาที่ไม่คงที่ ทำให้ไม่ได้สารสำคัญในการนำไปผลิตสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ตามเป้าที่วางไว้

ผู้สื่อข่าวถามว่าตามที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตั้งเป้าผลิตสารสกัดกัญชาให้ได้ 1,000,000 ขวด ภายใน 5-6 เดือนนั้น นพ.โสภณ กล่าวว่า ต้องไปดูว่าจะนำวัตถุดิบกัญชา มาจากแหล่งไหนได้บ้าง เนื่องจากกัญชาของกลางสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ไม่สามารถที่จะนำมาผลิตสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ได้ทันทีเนื่องจากมีสารปนเปื้อนโลหะหนัก อย่างไรก็ตาม จะนำบทเรียนการปลูกกัญชาในล็อตแรกมาพัฒนาปรับปรุงในล็อตที่ 2 เพื่อให้ได้สารสำคัญในดอกกัญชาอย่างมีประสิทธิภาพ

ด้าน นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า สำหรับสารสกัดน้ำมันกัญชาที่จ่ายให้กับผู้ป่วยตอนนี้มีจำกัด โดยเบื้องต้นได้มีการหารือในกระทรวงสาธารณสุขถึงกลุ่มผู้ป่วยที่จะได้ใช้น้ำมันกัญชารักษาโรค โดยกลุ่มแรกจะเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่อยู่ในโครงการศึกษาวิจัยกัญชาทางการแพทย์ที่ได้มีการลงทะเบียนไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งการจ่ายน้ำมันกัญชาทางการแพทย์จะเน้นกลุ่มที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ในการรักษาโรคก่อน เช่น กลุ่มผู้ป่วยโรคลมชักรักษายาก กลุ่มผู้ป่วยคลื่นไส้อาเจียนจากผลข้างเคียงเคมีบําบัด กลุ่มผู้ป่วยพาร์กินสัน

“กลางเดือนสิงหาคมนี้ จะมีการเปิดคลินิกให้คำปรึกษา ภายในโรงพยาบาลสังกัด กรมการแพทย์ ทั่วประเทศ ประมาณ 30 กว่าแห่ง รวมถึงในสำนักงานปลัดกระทรวง ตอนนี้มีการวางแผนเปิดเป็นคลินิกให้คำปรึกษากัญชาทางการแพทย์ เขตละ 1 แห่ง เพื่อนำร่อง ทดสอบระบบการจ่ายสารสกัดน้ำมันกัญชา” นพ.มรุต กล่าว และว่า สารสกัดน้ำมันกัญชาขององค์การเภสัชกรรม ในช่วงแรกปริมาณอาจไม่เยอะ จึงต้องมีการจำกัดผู้ป่วย และคัดกรองผู้ป่วยที่มีความจำเป็นก่อน โดยทำควบคู่กับการให้คำปรึกษากลุ่มผู้ป่วยที่มีการใช้กัญชารักษาโรค เช่น กลุ่มผู้ป่วยที่มีการใช้น้ำมันกัญชาใต้ดิน