“แม็คโคร” รับซื้อผลไม้จากเกษตรกรทุกภาค 4,800 ตัน แก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาด

แม็คโคร ขานรับนโยบายภาครัฐ หนุนชาวสวนรับซื้อผลไม้ฤดูกาลคุณภาพ 4,800 ตัน พร้อมกางแผนติวเข้มแนวคิด “การตลาดนำการผลิต” แก้ปัญหาผลผลิตล้นอย่างยั่งยืน

บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ขานรับกรมการค้าภายใน กางแผนช่วยชาวสวนผลไม้ เพิ่มปริมาณรับซื้อจากสหกรณ์การเกษตรจากปีก่อน แก้ปัญหาภาวะสินค้าฤดูกาลล้นตลาดอย่างยั่งยืน โดยส่งทีมติวเข้มชาวสวนรายภูมิภาค ปั้นเกษตรกรสู่พ่อค้ายุค “การตลาดนำการผลิต” ควบส่งเสริมการขาย กระตุ้นรณรงค์บริโภคผลไม้ฤดูกาลทุกสาขาทั่วประเทศ

นางศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการสื่อสารองค์กร บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย แม็คโคร ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย ซึ่งเป็นเศรษฐกิจฐานรากที่มีความสำคัญต่อประเทศ โดยร่วมพัฒนาศักยภาพชาวนา ชาวสวน สู่การเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ ปลอดภัย เป็นที่ยอมรับของกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการ และผู้บริโภค โดยแม็คโครรับซื้อผักผลไม้จากเกษตรกรและสหกรณ์ต่างๆ ทั่วประเทศมากกว่า 115,000 ตันในปี 2561 สำหรับปีนี้ในกลุ่มผลไม้ฤดูกาล เรามีแผนรับซื้อจากเกษตรกรเพิ่มขึ้นจากปีก่อนๆ

ในทุกปีผลไม้ฤดูกาลจะมีผลผลิตออกมามากในช่วงนี้ และเกิดภาวะล้นตลาด ทำให้ราคาตกต่ำ จึงได้ร่วมกับกรมการค้าภายในรับซื้อผลไม้ฤดูกาล อันได้แก่ เงาะ มังคุด ลองกอง ลำไย ทุเรียน เพิ่มขึ้น 40% จากเดิม 3,420 ตัน เป็น 4,800 ตัน ในปี 2562 โดยสิ่งที่แม็คโครเน้นย้ำกับเกษตรกรอยู่เสมอก็คือเรื่อง คุณภาพ ความปลอดภัย ที่ได้มาตรฐาน ซึ่งแม็คโครร่วมทำงานอย่างใกล้ชิด เพื่อพัฒนาศักยภาพชาวสวนชาวไร่ให้มีความรู้เท่าทันกลไกตลาด เข้าใจความหมายของแนวคิด การตลาดนำการผลิตอย่างถ่องแท้”

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนกรกฎาคมจนถึงตุลาคม มีผลไม้ออกสู่ตลาดมากกว่าปกติ โดยลำไยในภาคเหนือออกสู่ตลาดกว่าครึ่งของที่ประมาณการไว้ ส่วนภาคใต้ จะมีผลผลิตทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2561 ร้อยละ 34 หรือ 648,088 ตันโดยประมาณ เฉพาะอย่างยิ่งผลผลิตมังคุดและลองกอง มีปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 30-60 โดยออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2562 ขณะที่ ลองกอง จะออกมากเดือนกันยายน-ตุลาคม 2562

นางศิริพร กล่าวอีกว่า “การแก้ไขปัญหาของเกษตรกรชาวนาชาวสวนที่ยั่งยืนที่สุดในมุมของแม็คโคร ก็คือ การปรับสมดุลของอุปสงค์ (Demand) และอุปทาน (Supply) สินค้าเกษตรด้วยการเพิ่มปริมาณการบริโภคภายในประเทศ หรือลดการปลูกพืชชนิดใดชนิดหนึ่งไปสู่การปลูกพืชชนิดอื่นซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด ตามนโยบายการตลาดนำการผลิต ซึ่งแม็คโครจะส่งทีมไปให้ความรู้ในการสร้างมาตรฐานความปลอดภัย การวางแผนเพาะปลูกเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด นอกจากนั้นยังเพิ่มช่องทางการรับซื้อผ่านเครือข่ายสหกรณ์การเกษตร โดยมีทีมงานจัดซื้อภูมิภาคคอยให้คำปรึกษา”

ทั้งนี้ แม็คโคร ได้นำผลไม้ฤดูกาลมาจัดรายการในราคาพิเศษ เพื่อกระตุ้นการบริโภคพร้อมรณรงค์ให้คนไทยหันมารับประทานผลไม้ในฤดูกาลช่วยเหลือเกษตรกรมากขึ้นในทุกสาขาทั่วประเทศด้วย