ที่มา | ข่าวสดออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
จากศัตรูพืชสู่แหล่งทำเงิน เกษตรกรไทยจับอาชีพเพาะเลี้ยงหอยทาก ส่งออกเมือกสร้างรายได้
ชาวนาเคยมองว่าหอยทากเป็นศัตรูร้ายทำลายพืชผล เจอที่ไหนเป็นต้องหยิบทิ้งหรือโยนลงน้ำ แต่ทุกวันนี้ถ้าใครเจอจะเก็บไว้อย่างทะนุถนอม เพื่อนำไปขายฟาร์มหอยทากที่จะขูด “เมือก” ของมัน ส่งออกเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมความงาม โดยเฉพาะในเกาหลีใต้และสหรัฐฯ
หอยทากขนาดใหญ่หลายตัวค่อย ๆ คืบคลานบนกะละมังพลาสติกที่เต็มไปด้วยอาหารโอชะของพวกมัน ทั้งฟักทองและแตงกวา ภาทินีสิริ แตงเขียว เจ้าของฟาร์มหอยทากหวังว่า เมื่อได้รับสารอาหารที่ดี พวกมันจะสร้างเมือกที่เชื่อว่าอุดมด้วยคอลลาเจน
สำหรับบริษัทด้านความสวยความงามแล้วเมือกหอยทากคุณภาพดี มีมูลค่ายิ่งกว่าทองเสียอีก

ภาทินีสิริ ครูใน จ.นครนายก ทำฟาร์มเลี้ยงหอยทากเป็นอาชีพเสริม ปัจจุบันเธอมีหอยทากกว่า 1,000 ตัว และมีรายได้จากพวกมัน 10,000 – 20,000 บาทต่อเดือน
“หอยทากมันทำลายพืชผักของชาวบ้าน เขาก็เลยเก็บมาขาย” เธอให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอเอฟพี

“ทุกทีจะโยนทิ้งให้รถทับหรือโยนลงแม่น้ำ ตอนนี้ก็เอามาขาย เป็นการเพิ่มรายได้”
ความงามจากหอยทาก
กลุ่มวิจัยการตลาด โคฮีเรนต์ มาร์เก็ต อินไซต์ส (Coherent Market Insights) ประเมินว่า ตลาดความงามจากเมือกหอยทากทั่วโลก มีมูลค่าราว 314 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 9,700 ล้านบาท
ภาทินีสิริสาธิตวิธีเก็บเมือกหอยทากโดยหยดน้ำสะอาดลงไปบนตัวหอย แล้วใช้แท่งแก้วค่อย ๆ เขี่ยเมือกออกมา แต่เมือกสด ๆ นั้น ยังไม่สามารถนำไปใช้ได้ ต้องผ่านกรรมวิธีทางวิทยาศาสตร์เพื่อความปลอดภัยก่อน
“ก่อนที่จะเอาเมือกไปใช้ ก็ต้องทำให้เมือกบริสุทธิ์ ปลอดสารเจือปนต่าง ๆ และแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรค โดยใช้การกรองผ่านเมมเบรนฟิลเตอร์ (Membrane Filter)” ดร. สมกมล แม้นจันทร์ ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยอธิบาย

ดร.สมกมล ที่ดูแลกระบวนการสกัดเมือกหอยทากในห้องปฏิบัติการเสริมว่า เมือกหอยทากมีส่วนประกอบของคอลลาเจนและอีลาสติน ซึ่งช่วยให้ “ผิวตึง ลดริ้วรอย” และ “กระตุ้นเซลล์ผิวหนัง ช่วยในการสมานแผล”
รศ.ดร.ภญ.พิมลพรรณ พิทยานุกุล ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการศึกษาสรรพคุณทางการแพทย์และเครื่องสำอางของเมือกหอยทากซึ่งพบว่าสามารถรักษาแผลไฟไหม้ เป็นยาชาเฉพาะที่ ยาสมานแผล ยารักษาทางเดินหายใจ และบำรุงผิว
แต่เธอหมายเหตุไว้ว่า “คุณสมบัติดังกล่าว ไม่สามารถระบุได้ว่าน้ำเมือกสกัดที่ผสมในครีมบำรุงผิว จะให้ผลได้ดีแค่ไหน ทั้งนี้ผลดีทั้งหมดเกิดจากน้ำเมือกสดเท่านั้น แต่ไม่มีการทดสอบกับครีมหอยทากแต่ประการใด”
สอดคล้องกับการรายงานของเอเอฟพีว่า จนถึงตอนนี้ ยังไม่มีผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่รับรองสรรพคุณของสารสกัดเมือกหอยทาก
กิโลกรัมเกือบแสน
ภาทินีสิริเล่าว่า ช่วงแรกที่หันมาทำฟาร์มหอยทาก ชาวบ้านขายหอยทากให้เธอในราคาถูกมาก เพียง 25-30 บาทต่อกิโลกรัม เพราะพวกมันเป็นภัยต่อพืชผลทางการเกษตรอยู่แล้ว
เมื่อได้เมือกหอยทากมา ภาทินีสิริจะนำเมือกสด ๆ ไปขายให้กับบริษัท เอเดนอินเทอร์เนชันแนล บริษัทผู้ผลิตเครื่องสำอางของไทย ที่ส่งออกเมือกหอยทากต่อไปยังเกาหลีใต้และสหรัฐฯ
กฤตพง ภัทรธุวานัน กรรมการบริหาร บริษัท เอเดนอินเทอร์เนชันแนล ระบุว่า เมือกหอยทากของไทยมีคุณภาพสูง โดยมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 80,000 บาท และหากสกัดเป็นผงบริสุทธิ์ จะมีราคามากถึงกิโลกรัมละ 1.8 ล้านบาท ซึ่งมีมูลค่ามากกว่าทองคำหนัก 1 กิโลกรัม

“ธัญพืชพวกเกรน ถั่ว เปลือกไม้ก็กินได้หมดนะครับ แม้แต่เห็ดก็กิน การที่กินอะไรได้หลากหลาย ทำให้ตัวเขามีความแข็งแรง และสร้างเมือกที่มีคุณภาพดี มีคุณสมบัติในการกันแดด รักษาแผลได้ดีมาก”
อันที่จริง ประเทศจีนส่งออกเมือกหอยทากเช่นกัน แต่กฤตพงชี้ว่า คุณภาพยังต่ำกว่าไทย เพราะของจีนสกัดเมือกหอยทากวันละครั้ง แต่ของไทยจะทิ้งช่วงทำ 3 สัปดาห์ครั้ง ทำให้หอยทากได้พัก

สำหรับภาทินีสิริแล้ว การทำฟาร์มเมือกหอยทากสร้างรายได้เสริมค่อนข้างมาก แต่ด้วยความนิยมที่มากขึ้น การแข่งขันจึงเพิ่มสูงตามมา ปัจจุบัน ใน จ.นครนายก มีคนที่ทำฟาร์มหอยทากแบบเธอมากถึง 80 แห่งแล้ว