เตรียมพัฒนา กัญชง เป็นพืชเศรษฐกิจ มีสารซีบีดีสูงกว่ากัญชา ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์

เตรียมพัฒนา กัญชง เป็นพืชเศรษฐกิจ มีสารซีบีดีสูงกว่ากัญชา ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ แต่ยังถือว่าเป็นสารเสพติดให้โทษ จ่อผลักดันแก้กฎหมาย

กัญชง เมื่อวันที่ 25 ก.ค. ที่สถานีเกษตรหลวงปางดะ จ.เชียงใหม่ คุณวาทิน ดำรงเลาหพันธ์ ผู้อำนวยการสถาบัน​สำรวจและติดตามการปลูกพืชเสพติด สำนักงาน ป.ป.ส. พร้อมด้วย ดร.สริตา ปิ่นมณี นักวิจัยสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์กรมหาชน) ได้เดินทางมาพร้อมคณะสื่อมวลชน เพื่อดำเนินงานติดตามความคืบหน้าการวิจัยพืชกัญชง เนื่องจากป็นศูนย์วิจัยศึกษาต้นกัญชงแบบครบวงจร

ดร.สริตา เปิดเผยว่า ต้นกัญชงสามารถนำมาพัฒนาใช้ประโยชน์ได้ตั้งแต่รากไปจนถึงใบ พบว่าเส้นใยนำมาถักทอเป็นเครื่องนุ่งห่มและวิจัยพัฒนาเป็นไบโอพลาสติก ส่วนแกนลำต้น นำมาทำเป็นวัสดุก่อสร้าง คอนกรีตรับแรงน้ำหนักเบา และเมล็ดพันธุ์นำสกัดเป็นโปรตีน น้ำมันกัญชงเพื่อบำรุงร่างกายและโภชนาการ นอกจากนี้ในปี 2561 มีการศึกษาการใช้ประโยชน์ของกัญชง พบว่ามีสาร CBD คล้ายกับกัญชาที่สามารถนำไปใช้ทางการแพทย์ได้เป็นส่วนผสมทำยารักษาและอาหารเสริม โดยจะนำส่วนของดอกกัญชงมาใช้ จะมีระยะการปลูก 120 วัน หรือ 4 เดือน ปลูกหน้าฝนและเก็บหน้าหนาวจะมีคุณภาพสูงสุด

ทั้งนี้ปัจจุบันได้รวบรวมกัญชงสายพันธุ์ไทยได้มากกว่า 20 สายพันธุ์ และพบว่ามีสาร CBD สูงกว่ากัญชา ซึ่งสามารถใช้ในทางการแพทย์ได้ แต่ขณะนี้ปริมาณค่าของสาร CBD ยังถือว่าน้อย ดังนั้นจะต้องมีการศึกษาวิจัยขยายสายพันธุ์ของกัญชง ให้มีค่า CBD เพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 10 รวมถึงได้ขออนุญาตนำเข้าเมล็ดพันธุ์จากยุโรป สหรัฐอเมริกาและแคนาดา เพื่อพัฒนาสายพันธุ์ให้มีคุณภาพและนำไปใช้ทางการแพทย์ได้สูงสุด

ขณะที่ คุณวาทิน กล่าวว่า ปัจจุบันการปลูกกัญชงและกัญชายังผิดกฎหมายอยู่เพราะมีสาร THC ที่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาทเป็นส่วนประกอบ ดังนั้นกัญชงยังถือว่าเป็นสารเสพติดให้โทษอยู่ แต่เปิดโอกาสให้สามารถปลูกในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต และเป็นพืชเศรษฐกิจ แต่หลังจากนี้ขึ้นอยู่กับฝ่ายกฎหมายผลักดันแก้ไข เพื่อให้สาร CBD นำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้อย่างถูกกฎหมายต่อไป

จากนั้นได้นำสื่อมวลชนดูแปลงกัญชง ภายในสถานีเกษตรหลวงปางดะ ก่อนเดินทางไปที่กลุ่มแม่บ้านผลิตภัณฑ์เส้นใยกัญชงแม่สาใหม่ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เพื่อดูผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเส้นใยกัญชง

คุณวิชัย ไชยมงคล รองเลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า สำนักงาน ป.ป.ส. มีการส่งเสริมปลูกกัญชงให้เป็นพืชเศรษฐกิจที่ชาวบ้านสามารถปลูกได้เองแต่มีหน่วยงานรัฐควบคุม โดยจะครบกำหนดทดลองปลูกกัญชงในปี 2563 ขณะนี้ทางสำนักงานป.ป.ส.เตรียมร่างระเบียบเพื่อควบคุมการปลูกและเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ให้มีระยะ 120 วัน จากเดิม 90 วัน เพื่อนำมาใช้ประโยชน์และให้ค่า THC อยู่ในเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ส่วนที่ชาวบ้านกังวลว่าการพัฒนาสายพันธุ์ของกัญชาจะทำให้การใช้ประโยชน์จากเส้นใยยากขึ้น ขอยืนยันว่า การวิจัยพัฒนาสายพันธุ์ของกัญชงจะแยกส่วนกันระหว่างต้นกัญชงและเมล็ดพันธุ์ เพื่อไม่ให้กระทบต่อการใช้ประโยชน์