‘ตลาดถนอมมิตร’ โกออนไลน์ นำร่องส่งดีลิเวอรี่ เชื่อผู้ค้าขายได้ ตลาดอยู่รอด

‘ตลาดถนอมมิตร’ โกออนไลน์ นำร่องส่งดีลิเวอรี่ เชื่อผู้ค้าขายได้ ตลาดอยู่รอด

เป็นอีกหนึ่งยุคที่แหล่งค้าขายเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของคนไทยมาเนิ่นนานอย่าง “ตลาดสด” ต้องเร่งปรับตัวกันอย่างหนัก เป็นผลพวงจากยุคสมัยที่เปลี่ยนไป มีคู่แข่งอยู่รอบทิศ ทั้งโมเดิร์นเทรด ตลาดเปิดใหม่ และค้าขายออนไลน์ เป็นต้น นอกจากที่กล่าวมา สาเหตุสำคัญคือพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป แต่ก่อนเคยออกมาจากบ้านมาจับจ่ายใช้สอย ปัจจุบันเลือกที่จะใช้บริการขนส่ง หรือดีลิเวอรี่กันมากขึ้น

ปรับตัวส่งดีลิเวอรี่

คุณศุภกร กิจคณากร กรรมการผู้จัดการและทายาทรุ่นสอง ตลาดถนอมมิตร เผยว่า ตลาดถนอมมิตรเปิดให้บริการมายาวนาน 12 ปี มีพื้นที่รวม 8 ไร่ ปัจจุบันมีแผงค้าขายประมาณ 1,000 แผง การส่งดีลิเวอรี่เป็นส่วนหนึ่งที่ตลาดถนอมมิตรพยายามปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป รวมทั้งการเข้ามาของเทคโนโลยี

“เรามองว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ จะเข้ามาทำลายตลาดสด เมื่อก่อนสินค้าในตลาด 60% เป็นข้าวของเครื่องใช้ เช่น โทรศัพท์ เสื้อผ้า กระเป๋า ของแห้ง โชห่วย ฯลฯ 40% คือของสดและอาหารพร้อมทาน แต่ช่วง 5 ปีหลังพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน มีตลาดนัดเปิดมากขึ้น มีการซื้อขายผ่านออนไลน์ คนขายข้าวของเครื่องใช้เริ่มอยู่ไม่ได้ กลายเป็นว่า 70% คืออาหารของกิน อีก 30% คือของใช้” คุณศุภกร บอกถึงการเปลี่ยนแปลงช่วง 5 ปีหลัง

บวกกับตอนนี้มีการสร้างรถไฟฟ้าบีทีเอส แถวถนนวัชรพล รามอินทรา รถติด ลูกค้าเดินทางมาตลาดไม่สะดวก จึงนำมาซึ่งการช่วยเหลือแผงค้าให้ขายของได้ด้วยการทำโครงการนำร่อง ร่วมกับไลน์แมนส่งดีลิเวอรี่ โดยใช้ตลาดเป็นหน้าร้าน

“อันที่จริงดีลิเวอรี่มีมานานแล้ว เพียงแต่เป็นการส่งของเฉพาะร้านตัวเอง เช่น เคเอฟซี พิซซ่าฮัท แต่ช่วงหลังมีบริการไลน์แมน ฟู้ดแพนด้า และอื่นๆ อีกหลายเจ้า ทำให้เกิดการแข่งขัน ลูกค้าก็เลือกที่จะใช้บริการดีลิเวอรี่มากขึ้น แม้ตอนนี้จะยังไม่ส่งผลกระทบเท่าไหร่ แต่ถ้าเราไม่ปรับตัวในอนาคตอาจจะมีผลมากขึ้น” ทายาทรุ่นสอง เล่าถึงที่มาของการปรับตัวส่งดีลิเวอรี่ที่เพิ่งเริ่มนำร่องได้ไม่นาน

คุณศุภกร ระบุว่า ก่อนทำบริการส่งดีลิเวอรี่ มีผู้ค้าในตลาดส่งดีลิเวอรี่มาก่อนแล้ว แต่เป็นการทำเฉพาะร้านใครร้านมัน

“เราเข้าไปสำรวจแผงผู้ค้าที่ส่งดีลิเวอรี่มาก่อนแล้ว ว่าทำแล้วมีข้อดีข้อเสียอย่างไร จากข้อมูลสรุปกันมาว่า หากแผงค้าเล็กๆ ทำดีลิเวอรี่กันเองจะไม่คุ้มลูกค้า เช่น ขายของกิน 1 อย่าง ลูกค้า นาย ก สั่งขนมร้านนี้ ขนมมูลค่า 30 บาท ค่าส่ง 50 บาท ถ้าอยู่ไกลหน่อยค่าส่งอาจเป็นร้อย”

รวบรวมแผงค้าคุณภาพ ร่วมนำร่อง 

สำหรับการนำร่องส่งดีลิเวอรี่ของตลาดถนอมมิตร คุณศุภกร บอกว่า ได้คัดเลือกร้านเด็ดจากแผงค้าในตลาด ที่มีความพร้อม มีคุณภาพ และรับกฎกติกาได้คือ ร้านต้องเปิดรับออร์เดอร์ 10.00-19.00 น. หากหยุดต้องแจ้งล่วงหน้า ถ้าของหมดต้องรีบแจ้ง เป็นต้น

“ตอนนี้มีร้านค้ารวม 40 แผง เป็นร้านอาหารทั้งหมด ของคาว 80% ของทานเล่น 20% ร้านละ 3-5 เมนู รวมๆ แล้วเกือบ 200 เมนู ทั้ง อาหารเหนือ อาหารใต้ ขนมไทยต่างๆ ลูกค้าสามารถเลือกได้โดยจ่ายค่าขนส่ง 1 ครั้ง เป็นประโยชน์กับลูกค้าโดยตรง ทางตลาดได้จัดทีมซื้อของ เพื่อรวบรวมออร์เดอร์ของลูกค้า ให้กับแมสเซนเจอร์เพื่อความรวดเร็ว”

แม้ว่าออร์เดอร์จะยังไม่มากเท่าที่คิด แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งทางตลาดเองจะประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้าได้รับรู้มากขึ้น คุณศุภกร มองว่า แม้จะยังไม่คุ้มในเรื่องของเม็ดเงิน แต่ทำแล้วคุ้มกับผู้บริโภคและผู้ค้าในตลาดมากกว่า ไม่ว่าลูกค้าจะซื้อช่องทางไหนก็ตาม เท่ากับผู้ค้าขายได้ ตลาดก็อยู่ได้ ถือเป็นเรื่องที่น่าศึกษา

“ช่วงแรกพ่อค้าแม่ค้าจะ งงๆ ว่าคืออะไร ต้องอธิบาย แต่ส่วนใหญ่รู้อยู่แล้วก็พร้อมเข้าร่วม ทุกวันนี้ยังมีแผงค้าขอสมัคร เพราะเห็นประโยชน์ ผมตั้งเป้าให้ได้วันละ 40-50 ออร์เดอร์ เราต้องค่อยๆ สะสมลูกค้าให้โตขึ้นเรื่อยๆ” คุณศุภกร กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามความเคลื่อนไหวของตลาด ได้ที่ เฟซบุ๊ก ตลาดถนอมมิตร