‘เฉลิมชัย’ จี้ กยท. ปรับทัพ ดึงราคายางถึง 60 บาท/กก. เคาะแผนชดเชยส่วนต่างให้

‘เฉลิมชัย’ จี้ กยท. ปรับทัพ ดึงราคายางถึง 60 บาท/กก. เคาะแผนชดเชยส่วนต่างรองรับ – หาผู้ว่ากยท.คนใหม่เข้ามาเพื่อแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ

‘เฉลิมชัย’ดันราคายางถึง 60 บาท – นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย หรือ บอร์ด กยท. วันที่ 19 ก.ค.นี้ จะพิจารณาแนวทางการหารือผู้ว่าการกยท. คนใหม่เพื่อแทนนายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการกยท. คนปัจจุบัน ที่มีคำสั่งจากนายกรัฐมนตรีไปช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี และลาออกตำแหน่งไปแล้ว การลาออกของนายธีธัช ไม่ได้ส่งผลกระทบกับการทำงานของกยท. ในด้านการบริหาร เนื่องจาก นายธีธัธ จะครบวาระการดำรงตำแหน่งในเดือนส.ค. นี้ ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่จะปรับทัพหาคนใหม่เข้ามาเพื่อแก้ปัญหาราคายางตกต่ำในปัจจุบัน

ส่วนการผลักดันราคายางตามนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ที่หาเสียง ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 60 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ในขณะที่พรรคพลังประชารัฐ ตั้งราคาในช่วงหาเสียงไว้ที่ 65 บาท/กก. นั้น รัฐบาลมีนโยบายดึงยางออกจากระบบ โดยการใช้ยางในประเทศ จากปัจจุบันที่มีการใช้อยู่ที่ 14% จะเพิ่มเป็น 20-30% ภายใต้แผนนำยางไปทำถนน ส่งเสริมให้การแปรรูป พัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ยางให้สูงขึ้นวิธีการเหล่านี้จะช่วยดึงราคายางให้เพิ่มขึ้นเป็น 60 บาท/กก. ได้ แต่ในกรณีที่ราคาไม่ถึง 60 บาท รัฐบาลจะชดเชยส่วนต่างให้

นายสุนันท์ นวลพรหมสกุล รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของกยท. ปี 2562 หรือระหว่างเดือนต.ค. 2561-มิ.ย. 2562 ว่า ที่ผ่านมา กยท. ได้ดำเนินมาตรการด้านอุปสงค์ คือ เพิ่มความต้องการใช้ยางจากภาครัฐ เช่น โครงการส่งเสริมการใช้ยางพาราของหน่อยงานภาครัฐ ซึ่งตามแผนคาดการณ์ว่าจะใช้น้ำยางประมาณ 167,231.60 ตัน ปัจจุบันมีการใช้ยาง 66,552.57 ตัน และโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 กิโลกรัม ตามแผนกำหนดไว้ที่ 1,232.29 ตัน ปัจจุบันมีการใช้ยาง 53.30 ตัน และเพิ่มความต้องการใช้ยางจากภาคเอกชน เช่นโครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยางพารา ตามแผนกำหนดไว้ที่ 60,000 ตัน มูลค่า 15,000 ล้านบาท ปัจจุบันมีการใช้ยาง 14,408.20 ตัน มูลค่า 39,492.73 ล้านบาท

โครงการช็อปช่วยชาติ ตามแผนกำหนดไว้ที่ 2,000 ตัน ปัจจุบันมีการใช้ยาง 2,669.40 ตัน มาตรการด้านโค่นยางตามแผน 4 แสนไร่ต่อปี ดำเนินการได้ 9.1 หมื่นไร่ โครงการพัฒนาอาชีพชาวสวนยางรายย่อยเพื่อความยั่งยืน ตามแผนกำหนดไว้ 1.39 แสนไร่ ผลดำเนินการได้ 6.8 หมื่นไร่

และมาตรการจัดการด้านการตลาดและราคายาง หน่วยธุรกิจของกยท. ได้เข้าไปประมูลซื้อยางในตลาด ทั้งสิ้น 8.5 หมื่นตัน มูลค่า 3,792.06 ล้านบาท เพื่อเพิ่มการแข่งขันด้านราคา และชี้นำราคาในตลาดไม่ให้เคลื่อนไหวจนส่งผลกระทบต่อรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง

 

ที่มา ข่าวสดออนไลน์