“บ้านคำปุน” แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ฝีมือทอผ้าไหมสุดเลื่องลือ

“บ้านคำปุน” แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ฝีมือทอผ้าไหมสุดเลื่องลือ

บ้านคำปุน” คือ แหล่งผลิตและจำหน่ายผ้าไหมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ตั้งอยู่อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี สถานที่แห่งนี้  นับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญทางวัฒนธรรมการทอผ้าไหม ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ ของจังหวัดอุบลฯ

ความพิเศษของ “บ้านคำปุน” นี้ คือ การเปิดให้เข้าชมแค่ปีละ 1 ครั้ง เป็นเวลาไม่เกิน 3 วัน ในช่วงเทศกาลแห่เทียนเข้าพรรษาของจังหวัดอุบลฯ ทุกปี เนื่องจากสถานที่แห่งนี้เป็นบ้านส่วนตัว โดยมีการเก็บค่าเข้าชม 100 บาท รายได้ไม่หักค่าใช้จ่ายจะนำไปทำบุญตามแต่จะกำหนดไว้ในแต่ละปี

สำหรับชื่อเรียกขานบ้านทรงไทย บนที่ดินร่มรื่นแห่งนี้ มีที่มาจากชื่อของ คุณคำปุน ศรีใส เจ้าของผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม สาขาทัศนศิลป์-ถักทอ พ.ศ. 2537

และมี คุณเถ่า-มีชัย แต้สุจริยา ทายาทของเธอ เป็นผู้ดูแล

คุณเถ่า กับผลงานผ้าทอผืนงาม ที่เผยได้เพียงว่า ราคาหลาละ 6 หลัก

 ธุรกิจค้าปลีก-ส่ง ทรุด

หันทำผ้าทอสืบทอดบรรพบุรุษ

คุณเถ่า-มีชัย แต้สุจริยา แห่ง “บ้านคำปุน” ปัจจุบันอายุ 59 ปี ผู้ชายคนนี้ มีรางวัลการันตีความสามารถด้านผ้าทอมาแล้วมากมาย และมีผลงานโดดเด่นจนได้รับการยกย่องในฐานะ “ครูศิลป์ของแผ่นดิน” เขาเป็นผู้คิดค้นเทคนิคการทำและออกแบบ “ผ้าลายกาบบัว” จนเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางตั้งแต่ระดับชาติไปจนถึงระดับโลก

แต่หากมองย้อน “เส้นทางความสำเร็จ” กว่าจะมาถึงวันนี้ ใช่จะได้มาง่ายดายเพียงชั่วข้ามคืน ทุกอย่างต้องผ่านการเรียนรู้ ลองผิดลองถูก ขยัน และอดทนอย่างที่สุด

และบางครั้ง อาจต้องพบพานกับ “ความบอบช้ำ” น้อยใหญ่ มาบ้าง…เป็นธรรมดา

“ธุรกิจดั้งเดิมของคุณพ่อ คือ แต้-กวง-หมง เป็นกิจการค้าขายทั้งปลีก-ส่ง ลูกค้ามีทั้งในจังหวัดอุบลฯ และฝั่งลาว ช่วงแรกทุกอย่างไปได้ดี ส่งข้าว ของใช้ ผลไม้ อาหารทะเล ไปฝั่งลาวแทบทุกวัน” คุณเถ่า เล่าเรื่องราวเมื่อเกือบ 50 ปีที่ผ่านมา

ก่อนย้อนความทรงจำให้ฟังต่อ ในเวลานั้น การสัญจรกับฝั่งลาวใช้เรือเป็นหลัก แต่เมื่อความเจริญของเมืองเพิ่มขึ้น ถนนหนทาง สะพาน ฯลฯ ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป ประกอบกับเกิดการเปลี่ยนการปกครองในลาว ทำให้เกิดผลกระทบกับธุรกิจของคุณพ่อของเขาอย่างมาก

“ช่วงเรียนอยู่ชั้นประถมฯ อุบลฯ เป็นเมืองที่ได้รับผลกระทบจากสงครามชายแดน ทุกอย่างถูกตัดขาด การค้าการขายเงียบสนิท จะข้ามไปค้าขายฝั่งลาวก็ไม่ได้เหมือนก่อน ขณะที่คุณพ่อ มีลูกหนี้อยู่ที่ฝั่งลาว แต่ไม่สามารถเก็บเงินได้ เลยต้องใช้หนี้สินให้กับคู่ค้าทางกรุงเทพฯ เอง” คุณเถ่า เล่าเหตุการณ์ครั้งนั้น

เมื่อเห็นคุณพ่อ-คุณแม่ ต้องได้รับความลำบาก คุณเถ่า แม้จะอยู่ในวัยเด็กชาย ก็มีความมุ่งมั่นตั้งใจอยากจะช่วยเหลือครอบครัวอีกแรง และเมื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ เขาสามารถเริ่มต้นธุรกิจของครอบครัวได้ใหม่จาก “งานอีกด้าน” ที่ต้นตระกูลฝ่ายคุณแม่ของเขามีความถนัดเป็นต้นทุนชั้นดี

“ผ้าลายกาบบัว” อันโด่งดัง

“คุณยายทวด ได้รับพระราชทานเครื่องมือทอผ้าและผ้าพระราชทาน นับเป็นความภาคภูมิใจของวงศ์ตระกูลเรา ส่วนคุณยาย ก็ทอผ้าไหมส่งขายร้านมีชื่อเสียงในจังหวัด คุณยายเป็นคนขยัน ทำงานหนักในเรื่องทอผ้า ทำงานตลอดเวลา และไม่ได้ทำเพื่อรายได้เลี้ยงครอบครัวอย่างเดียว ยังแบ่งผ้าที่ทอ ถวายเป็นจีวรทุกปีอีกด้วย” คุณเถ่า เล่าตาเป็นประกาย

 ผ้าผืนแรก ขายได้ 1.7 หมื่น รับรางวัลเยาวชนดีเด่น

เมื่อบรรพบุรุษทั้งคุณยายทวด-คุณยาย กระทั่งคุณแม่คำปุน ของเขาเอง ล้วนมีความสามารถด้านการทอผ้า  คุณเถ่า ผู้เป็นเลือดเนื้อเชื้อไข จึงอาสาสานวิชา หวังส่งต่อความภาคภูมิใจไปยังรุ่นสู่รุ่น

“ผมลองแกะลายผ้าด้วยตัวเอง ตอนอายุ 20 ช่วงเรียนมหาวิทยาลัยปี 1 ตอนนั้นไม่เคยคิดว่าตัวเองอยากมีอาชีพทอผ้า แต่เพราะคิดจะพิสูจน์ ในเมื่อคนรุ่นเรา มีข้อได้เปรียบคนโบราณตั้งหลายอย่าง และมีสองมือเหมือนกัน เลยคิดแบบอหังการ ทำไมเราจะทำไม่ได้” คุณเถ่า เล่ายิ้มๆ

แต่พอลงมือทำแล้ว คุณเถ่า บอกว่า ยากกว่าที่คิด ผ้าผืนแรกที่ทำนั้น บอบช้ำมาก เพราะย้อมยาก ต้องเอาอันนั้นมาโขลก มาตำ มาตี จนกระทั่งได้เป็นเส้นไหม ต้มนานหลายสิบชั่วโมง แต่สุดท้าย ก็ทอผ้าออกมาได้ 1 ผืน ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นอาชีพทอผ้าของเขามาถึงทุกวันนี้

“ขายผ้าผืนแรกได้ในราคาสูงมาก เมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้ว ขายได้เงิน 17,000 บาท ขายแล้วนอนไม่หลับ ปลื้มกับความอดทนที่ใช้เวลาเป็นปี ความจริงไม่ได้ดีใจที่ได้เงินขนาดนั้น แต่ที่พอใจ คือ ความสำเร็จที่ทำได้” คุณเถ่า เล่าอย่างนั้น

นอกจากจะขายได้ราคาดีอย่างไม่น่าเชื่อแล้ว ผลงานผ้าทอชิ้นแรกของคุณเถ่า ยัง “เข้าตา” ผู้หลักผู้ใหญ่ กระทั่งได้รับเลือกให้เป็นเยาวชนดีเด่นจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ (สยช.) ซึ่งเป็นจุดเริ่มที่ทำให้เขา “จับงานผ้า” อย่างจริงจัง มานับแต่นั้น

และหลังจากศึกษาจบปริญญาตรีจากคณะรัฐศาสตร์ คุณเถ่าสมัครเข้าทำงานประจำที่ “การบินไทย” ในตำแหน่งสจ๊วต ซึ่งการได้เดินทางไปต่างประเทศนี้เอง นับเป็นการเปิดมุมมองใหม่มากมาย ที่ทำให้สามารถนำมาปรับใช้กับงานด้านผ้าในแบบของเขาได้อย่างลงตัว

“ตอนเรียนจบมา ยังทำผ้าอยู่ พอเข้าทำงานอยู่การบินไทย ก็มีโอกาสทำผ้าต่อ โดยยกกี่ทอผ้า 2 กี่ไปไว้บ้านที่กรุงเทพฯ มีคนงาน 2-3 คนช่วย มีการสร้างโรงย้อมขึ้นมา สรุปงานของเราไม่ได้ขาดช่วงในการพัฒนามาตลอดเกือบ 40 ปี” คุณเถ่า บอกจริงจัง

 ผ้าหลาละหลายแสน ไฮเอนด์ยินดีต่อคิวซื้อ

สำหรับร้านคำปุน กิจการตั้งต้น ที่ผลิตและจำหน่ายผ้าทอแฮนด์เมดร้อยเปอร์เซ็นต์นั้น ตั้งต้นขึ้นในราวปี 2523 ต่อมา คุณเถ่าได้ก่อสร้าง “บ้านคำปุน” ให้เป็นทั้งที่พักอาศัย ที่ทำงาน และพิพิธภัณฑ์ จากนั้นก็ตัดสินใจเปิดบ้านส่วนตัวของเขา ต้อนรับอาคันตุกะจากทั่วสารทิศปีละ 1 ครั้ง ครั้งละ 3 วัน ช่วงที่จังหวัดอุบลฯ มีงานประจำปีแห่เทียนพรรษา

“เปิดบ้านคำปุน ให้แขกมาเยือนเข้าปีที่ 19 แล้ว เก็บค่าเข้าชมท่านละ 100 บาท มีน้ำ-ขนม ต้อนรับ เงินที่ได้นำไปทำบุญและช่วยการกุศล ความตั้งใจจริงอยากใช้บ้านคำปุน ที่เป็นแค่วัตถุนี้ ให้มีประโยชน์กับคนอื่น เพราะทุกอย่างไม่อยู่นานเดี๋ยวก็เสื่อมไป แต่ถ้าบ้านแห่งนี้ สามารถสร้างประโยชน์ได้ไม่มากก็น้อยก็ยินดี” คุณเถ่า บอกมาอย่างนั้น

และว่า การเปิด “บ้านคำปุน” ปีละ 1 ครั้งนี้ เป้าหมายสำคัญคือ ให้คุณแม่คำปุนของเขา ได้แบ่งปันความรู้ ให้กับช่างทอผ้าคนอื่น รวมทั้งมีการให้ความรู้ด้านผ้าแก่ทุกคนที่เข้ามาโดยไม่มีการปิดบังอำพราง เราจะให้ช่างแต่ละส่วนทำงานประจำวันตามปกติ งาน “มาสเตอร์พีซ” เราทำกันยังไง ทุกคนจะได้เห็นอย่างนั้น และไม่มีความกังวลจะมีใครมาลอกเลียนแบบ เพราะลายเซ็นก็คือลายเซ็น ไม่มีใครเซ็นแทนกันได้ เพราะสิ่งสำคัญที่ตั้งใจคือ แบ่งปันภูมิปัญญาที่ได้รับถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ

“บ้านคำปุน” ที่อนุญาตเปิดให้เข้าชมปีละครั้ง

ปัจจุบัน เป็นที่รับรู้ในแวดวงไฮเอนด์ว่า ผลงานผ้าทอจาก “บ้านคำปุน” นั้น มีความ “ยูนีก-Unique” ชนิดใครต่อใคร ต่างเต็มใจ “รอคิว” และ “ยินดีจ่าย” ให้แบบไม่เกี่ยง ขอเพียงให้ได้มาครอบครองสักผืนสองผืน เกี่ยวกับประเด็นนี้ คุณเถ่า อธิบาย  ความ “ยูนีก” นี้ ไม่ใช่เพราะต้องการ “อัพราคา” แต่เพราะต้องทำงานให้ประณีตทุกขั้นตอน ซึ่งต้องใช้เวลาในการทำนั้นนานมาก

คุณเถ่า บอกต่อ ผ้าทอของบ้านคำปุน มีราคาตั้งแต่หลาละ 4,000 บาท ถึงหลาละแสนหรือหลายแสนบาท  ความพิเศษของขั้นตอนการผลิต ซึ่งเป็นเทคนิค “หนึ่งเดียว” ในโลก ที่นอกจากจะประกอบด้วยการ มัดหมี่ เกาะ ล้วง และจก แล้ว ยังเป็นงานที่มีความประณีตทุกด้าน เช่น วัสดุต้องเป็นของดีที่สุด อย่าง ไหมน้อย หรือ ไหมสีทองดีที่สุด และเราตีเกลียวเส้นไหมด้วยมือเท่านั้น เหล่านี้คือ ความพิเศษ เพราะแฮนด์เมดทุกขั้นตอน

“เส้นทางเศรษฐี เส้นทางสู่ความรวย ในแบบของเรา ไม่ได้วัดด้วยตัวเลขในบัญชีธนาคาร ไม่ได้วัดด้วยรถยนต์ที่แพง หรือวัดที่ขนาดของบ้านใหญ่โต แต่ความรวยของเรา วัดด้วยความสามารถในการเลี้ยงครอบครัวด้วยสัมมาอาชีพ ด้วยจิตอันเป็นกุศล ทุกวันนี้ไม่คิดว่าตัวเองโด่งดังอะไร สิ่งที่ยึดถือมาตลอดคือ ความซื่อสัตย์ต่องานและลูกค้า” คุณเถ่า จบบทสนทนา ไว้อย่างนั้น