เกษตรฯเผยปลูกข้าวนาปีได้แค่ 10 ล้านไร่ จากแผน 58 ล้านไร่ ชี้น้ำน้อยเกษตรกรรอฝน

เกษตรฯเผยปลูกข้าวนาปีได้แค่ 10 ล้านไร่ จากแผน 58 ล้านไร่ ชี้น้ำน้อยเกษตรกรรอฝน

ปลูกข้าวนาปีได้แค่ 10 ล้านไร่ – นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยในพี่น้องประชาชน ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง โดยกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่า ปริมาณฝนรวมของประเทศไทยในช่วงฤดูฝนนี้จะน้อยกว่าค่าปกติ 5-10% ซึ่งน้อยกว่าปีที่ผ่านมา อีกทั้งสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) ยังได้คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะเกิดภาวะฝนตกน้อยตั้งแต่เดือนส.ค.-ก.ย. ซึ่งจะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำต่างๆ น้อยตามไปด้วย จำเป็นต้องวางแผนใช้น้ำอย่างระมัดระวังตั้งแต่ตอนนี้ นั้น

สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ปัจจุบัน (11 ก.ค. 2562) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 37,018 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้านลบ.ม.) หรือ 49% ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด มีปริมาณน้ำใช้การได้ ประมาณ 13,093 ล้านลบ.ม. อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศ ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันมากกว่า 38,000 ล้านลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสัก-ชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 8,596 ล้านลบ.ม. หรือ 35% ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้ 1,900 ล้านลบ.ม. ซึ่ง 4 เขื่อนหลัก ยังสามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 16,200 ล้านลบ.ม.

ปริมาณน้ำในเขื่อนดังกล่าว จะยังเพียงพอที่จะใช้สนับสนุนการทำนาปรังปี 2563 แต่ต้องอยู่ในแผนข้าวครบวงจรเท่านั้น ซึ่งจะหารืออีกครั้ง คาดว่าจะมีพื้นที่ประมาณ 9 ล้านไร่ ซึ่งจะเริ่มปลูกช่วงต้นปีหลังการเก็บเกี่ยวข้าวนาปี 2562/63 ที่ปัจจุบันเกษตรกรเริ่มปลูกแล้วประมาณ 10 ล้านไร่ จากแผนทั้งหมด 58 ล้านไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ที่เหลือฝนที่คาดว่าจะตกอีกครั้งช่วงเดือนส.ค.-ก.ย. นี้ แต่จากการประเมินเบื้องต้นพบว่าจะน้อยกว่าค่าปกติ

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทานวางมาตรการเพื่อรองรับสถานการณ์ โดยพื้นที่ที่ยังไม่ได้ทำการเพาะปลูกข้าว ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานทุกแห่ง ทำการประชาสัมพันธ์แนะนำให้เกษตรกรทยอยเพาะปลูกตามปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่และให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก ส่วนพื้นที่ที่ได้ทำการเพาะปลูกไปแล้ว กรมชลประทาน จะดำเนินการส่งน้ำแบบประณีตด้วยวิธีเปียกสลับแห้ง ซึ่งเป็นการส่งน้ำแบบรอบเวรหมุนเวียนในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้มีปริมาณเพียงพอต่อการใช้น้ำของทุกภาคส่วน

รวมทั้งขอให้สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่ตั้งอยู่บริเวณแม่น้ำปิง น่าน และแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมด ทำการสูบน้ำให้เป็นไปตามรอบเวรอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ ยังได้วางมาตรการให้ความช่วยเหลือโดยเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และรถบรรทุกน้ำ ที่พร้อมจะให้การสนับสนุนได้ทันที ที่สำคัญต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้ร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ให้มากที่สุด