ค่าแรงขั้นต่ำ 400! นักการตลาดหวั่นของแพง ค่าครองชีพวิ่งหนีไกลกว่าเดิม

ค่าแรงขั้นต่ำ 400! นักการตลาดหวั่นของแพง ค่าครองชีพวิ่งหนีไกลกว่าเดิม

จากกรณีพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เคยหาเสียงก่อนเลือกตั้ง ด้วยการชูนโยบาย “ให้ทุกคนรวยอย่างมั่นคง ยั่งยืน” และล่าสุด ทางคุณสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล ออกมาระบุแล้วว่า

“ทุกพรรคเห็นตรงกันว่าควรต้องปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้เป็นอัตราที่เพียงพอต่อผู้ใช้แรงงาน โดยมีเป้าหมายว่าจะให้เป็น 400 บาทต่อวัน ส่วนวิธีการจะเป็นอย่างไรนั้น จะกำหนดลงไปในนโยบายและมาตรการของรัฐบาลอีกครั้ง”

กรณีดังกล่าวโดยในมุมนักวิชาการด้านการตลาด อย่าง คุณพลชัย เพชรปลอด อาจารย์พิเศษ มหาวิทยาลัยศิลปากร อดีตผู้บริหารการตลาด กลุ่มธนบุรีประกอบรถยนต์ กล่าวว่า หากจะมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 300 บาท เป็น 400 บาท  นับเป็นการผลักภาระให้นายจ้าง ในฐานะคนเกี่ยวข้องกับธุรกิจคงไม่ปลื้ม คนได้ค่าแรงคงชื่นชอบ แต่อย่าลืมว่า ค่าแรงขึ้น ต้นทุนสินค้าก็ขึ้น ของจะแพงขึ้น ค่าครองชีพวิ่งหนีไปไกลกว่าเดิมอีก

“ค่าแรงขั้นต่ำไม่ใช่เงินของรัฐบาล เป็นเงินของเอกชน ที่ถูกมัดมือชกด้วยกฎหมาย ฉะนั้น รัฐควรไปหาวิธีทำให้ค่าครองชีพลดลง ทำให้คนค้าขายได้คล่องจะดีกว่า หากทำได้กลไกการขึ้นค่าแรงก็จะเป็นธรรมชาติ ถ้าธุรกิจดี ธุรกิจต้องการคนเก่ง ค่าแรงจะขึ้นตามความเก่ง ตามฝีมือแรงงานเอง” คุณพลชัย กล่าว

และเมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้เผยผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ภาคการค้าและบริการ จำนวน 1,400 วิสาหกิจทั่วประเทศ เกี่ยวกับเรื่อง “การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ มีผลต่อกิจการอย่างไร” พบว่า ผู้ประกอบการมีความเห็นว่า ไม่มีผลกระทบร้อยละ 14.75 โดยให้เหตุผลว่า ปกติได้จ่ายค่าจ้างมากกว่าค่าจ้างขั้นต่ำอยู่แล้ว หรือ ไม่มีการจ้างงานหรือทำกันเองภายในครอบครัว

จำนวนผู้ประกอบการ ที่มีความเห็นว่า หากมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำธุรกิจจะได้รับผลกระทบในด้านต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 62.61 กำไรลดลง ร้อยละ 10.91 ยอดขายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.59 และได้แรงงานที่มีประสิทธิภาพร้อยละ 1.13 และธุรกิจจะสามารถแบกรับต้นทุนได้ ร้อยละ 79.55 และไม่สามารถแบกรับต้นทุนได้เลย ร้อยละ 20.45

ซึ่งผู้ประกอบการที่ตอบว่าแบกรับต้นทุนไม่ได้ จะดำเนินการดังต่อไปนี้

ลดการจ้างงาน ซึ่งมีผู้ตอบ ร้อยละ 70.0

ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น มีผู้ตอบ ร้อยละ 20.8

ตอบอื่นๆ เช่น เพิ่มราคาสินค้า ลดต้นทุน เพิ่มชั่วโมงการทำงาน มีผู้ตอบ ร้อยละ 9.2

โดยผู้ประกอบการมีความเห็นว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน ซึ่งมีผู้ตอบว่าช่วยได้มาก ร้อยละ 65.3 ช่วยได้น้อย ร้อยละ 22.3 และไม่สามารถช่วยได้เลย ร้อยละ 12.3