ชวนเลิกเหล้าเข้าพรรษา ฟื้นตับ ชี้ งด 3 เดือนประหยัดกว่าหมื่นล้าน

ชวนเลิกเหล้าเข้าพรรษา ฟื้นตับ ชี้ งด 3 เดือนประหยัดกว่าหมื่นล้าน

เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2562 ที่หอประชุมชั้น 3 อาคารมหาเจษฎาบดินทร์ วัดยานนาวา กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และวัดยานนาวา ร่วมกันจัดงานแถลงข่าวงดเหล้าเข้าพรรษา ปี 2562 “ตับจะกลับมาดี พรรษานี้เริ่มงดเหล้า” โดยพระพรหมวชิรญาณ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดยานนาวา ได้ให้คติธรรมเรื่องบาป 5 อย่าง เพื่อเป็นกำลังใจแก่ผู้งดเหล้าครบพรรษาความว่า บาป 5 อย่าง

ได้แก่ 1. การเบียดเบียนฆ่าคนและสัตว์ 2. การลักทรัพย์ 3. การละเมิดในกาม 4. การพูดจาโกหกและหยาบคาย และ 5. การดื่มสุราเมรัย ซึ่งบาป 5 อย่างนี้ถ้าใครหลงผิดจะทำให้ตนเองและคนในครอบครัวเกิดความเสียหาย โดยเฉพาะการดื่มสุรา จะทำให้สูญเสียทุกอย่าง ดังนั้น ในเทศกาลเข้าพรรษาจึงอยากเชิญชวนให้ญาติโยมงดดื่มเหล้าให้ครบ 3 เดือน เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และผลบุญนี้จะช่วยให้มีสุขภาพดีและมีชีวิตที่ยืนยาว

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากการสำรวจสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในช่วงปี 2544-2560 พบคนไทยมีแนวโน้มการดื่มลดลงจากร้อยละ 32.7 ในปี 2544 เหลือร้อยละ 28.4 ในปี 2560 คือมีคนไทย 15.9 ล้านคนที่ยังดื่มอยู่ และจากข้อมูลการสำรวจภาวะสุขภาพอนามัยของประชาชนไทยโดยวิธีการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 ปี 2557

มีผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ในระดับอันตรายลดลงเหลือร้อยละ 3.4 ลดจากปี 2547 ที่อยู่ที่ร้อยละ 9.1 ข้อมูลนี้สะท้อนให้เห็นว่า ตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา แนวโน้มการดื่มของคนไทยโดยรวมลดลง สอดคล้องกับข้อมูลค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ลดลงเหลือ 142,230 ล้านบาท ในปี 2560 จาก 151,607 ล้านบาท ในปี 2548

ดร.สุปรีดา กล่าวต่อว่า สสส. และ สคล. ริเริ่มโครงการงดเหล้าเข้าพรรษาตั้งแต่ปี 2546 และทำต่อเนื่องปีนี้เป็นปีที่ 16 การดำเนินงานที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี มีประชาชนเข้าร่วมงดเหล้าเข้าพรรษาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และจากการประเมินโครงการงดเหล้าเข้าพรรษาในปี 2561 โดยศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) พบว่าร้อยละ 30.4 สามารถงดได้ตลอดเทศกาลเข้าพรรษาและจะงดต่อไปจนออกพรรษา หรือประมาณ 6.9 ล้านคน

จากผลการสำรวจค่าใช้จ่ายในการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่า มีค่าใช้จ่ายในการดื่มโดยเฉลี่ยต่อครั้งอยู่ที่ 325 บาท หากผู้ดื่มสามารถงดเหล้าได้ตลอด 3 เดือน จะประหยัดค่าใช้จ่ายภายในครัวเรือนเฉลี่ยรายละ 1,820 บาท โดยประมาณการจำนวนเงินรวมที่ประเทศจะประหยัดได้มีมูลค่าถึง 10,724 ล้านบาท

นอกจากนี้ จากการประเมินผลจากการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาต่อการลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากทุกสาเหตุและการบาดเจ็บและเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ พบว่า ในเดือนที่มีการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากทุกสาเหตุลงร้อยละ 9 และการเสียชีวิตจากแอลกอฮอล์ลดลงร้อยละ 25 และยังส่งผลให้การดื่มลดลงร้อยละ 10 อีกด้วย

“จากการสื่อสารรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาของ สสส. ทำให้ผู้ดื่มสุราในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ได้มีความตระหนักถึงพิษภัยของการดื่มสุราทั้งทางตรงและทางอ้อม จึงทำให้มีประชาชนสนใจเข้าร่วมแคมเปญ “ลด ละ เลิก เหล้า ในช่วงเข้าพรรษา” กันมากขึ้นทุกปี ซึ่งเทศกาลเข้าพรรษาปี 2562 นี้ สสส. ได้ผลิตภาพยนตร์โฆษณารณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา

ภายใต้แคมเปญ “ตับจะกลับมาดี พรรษานี้เริ่มงดเหล้า” เพื่อขอเชิญชวนให้ประชาชนใช้เวลาในช่วงเข้าพรรษานี้เป็นจุดเริ่มต้นในการลด ละ เลิกการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเพื่อฟื้นฟูตับให้กลับมาดี ดังนั้น จึงอยากขอเชิญชวนให้ทุกท่านใช้ช่วงเวลาเข้าพรรษานี้เป็นจุดเริ่มต้นของการ ลด ละ เลิกการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อมาร่วมกันฟื้นฟูตับ” ดร.สุปรีดา กล่าว

ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า ช่วงเข้าพรรษากิจกรรม “งดเหล้า” กลายเป็นกิจกรรมหลักที่มีการรณรงค์จากหลากหลายหน่วยงานเชิญชวนให้คนไทย ลด ละ เลิกการดื่มเหล้า พักตับ พักใจ ทำสมาธิ เข้าวัดและฟังธรรม โดย สสส. สคล. มีแนวทางสำคัญในการรณรงค์คือ การสร้างชุมชนคนสู้เหล้าให้ชาวบ้านชักชวนคนในชุมชนงดเหล้าอย่างทั่วถึง ด้วยการรณรงค์สร้างคุณค่าให้แก่ผู้เลิกดื่ม สร้างค่านิยมใหม่ให้เด็ก สร้างกิจกรรมสานสัมพันธ์ และที่สำคัญคือ การสร้างกำลังใจอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ จากผลการดำเนินงานในปี 2561 ทำให้เกิดเครือข่าย “นายอำเภอนักรณรงค์ชวนงดเหล้า” 157 คน ครอบคลุม 69 จังหวัด ส่งผลให้การทำงานในชุมชนเป็นรูปธรรมมากขึ้น ได้แก่ 1. มีการจัดงานศพและงานประเพณีปลอดเหล้า 430 แห่ง 2. มีชุมชนร่วมรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา 1,546 แห่ง 3. มีคนลงนามบวชใจงดเหล้าเข้าพรรษา 24,376 คน และ 4. มีการมอบประกาศนียบัตรเชิดชูเกียรติคนงดเหล้าครบพรรษา 19,501 คน จนกลายเป็นคนหัวใจหิน และที่เลิกดื่มต่อเนื่อง 3 ปีขึ้นไป 3,222 คน กลายเป็นคนหัวใจเพชร

 

ที่มา ข่าวสดออนไลน์