ที่มา | มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค |
---|---|
เผยแพร่ |
กินมากระวังเบาหวาน! เปิดผลสำรวจชานมไข่มุก อึ้ง! น้ำตาลสูงกว่าที่ WHO แนะนำ 18 ช้อน!
ฉลาดซื้อเผย ผลตรวจวิเคราะห์สารกันบูด น้ำตาล และโลหะหนักในชานมไข่มุก 25 ยี่ห้อ พบตัวอย่างเม็ดไข่มุกมีสารกันบูด 100% แต่ไม่เกินมาตรฐาน มีเพียง 2 ยี่ห้อ ที่น้ำตาลน้อยกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ บางยี่ห้อสูงถึง 18 ช้อนชา
ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ สุ่มเก็บตัวอย่างชานมไข่มุกในเดือนพฤษภาคม 2562 จำนวน 25 ยี่ห้อ ขนาดแก้วปกติ แบบไม่ใส่น้ำแข็ง ที่มีราคาตั้งแต่แก้วละ 23-140 บาท ส่งตรวจวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการ ได้แก่ ปริมาณพลังงาน น้ำตาล และไขมัน รวมถึงทดสอบหาโลหะหนักประเภทตะกั่ว และสารกันบูดในเม็ดไข่มุก
จากผลทดสอบพบว่า ยี่ห้อที่มีปริมาณน้ำตาลต่อแก้วน้อยที่สุด ได้แก่ ยี่ห้อ KOI Thé โดยมีปริมาณน้ำตาลเท่ากับ 16 กรัม (4 ช้อนชา) และยี่ห้อที่มีปริมาณน้ำตาลต่อแก้วมากที่สุด ได้แก่ ยี่ห้อ CoCo Fresh Tea & Juice มีปริมาณน้ำตาล 74 กรัม (18.5 ช้อนชา)
ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำปริมาณน้ำตาลที่ได้รับต่อวัน ไม่ควรเกิน 24 กรัม (6 ช้อนชา) และพบว่า มีเพียง 2 ยี่ห้อเท่านั้นที่มีปริมาณน้ำตาลน้อยกว่า 24 กรัม คือ ยี่ห้อ KOI Thé และ ยี่ห้อ TEA 65°
ส่วนผลการทดสอบสารกันบูดประเภทกรดเบนโซอิก (Benzoic Acid) และกรดซอร์บิก (Sorbic Acid) ในเม็ดไข่มุก พบว่า ยี่ห้อที่มีปริมาณสารกันบูดน้อยที่สุด ได้แก่ ยี่ห้อ The ALLEY มีปริมาณกรดซอร์บิก เท่ากับ 58.39 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และยี่ห้อที่พบปริมาณสารกันบูดรวมมากที่สุด ได้แก่ ยี่ห้อ BRIX Desert Bar พบปริมาณกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิกรวมกัน เท่ากับ 551.09 มิลลิกรัม/กิโลกรัม แต่ไม่เกินมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด สำหรับผลทดสอบโลหะหนักในเม็ดไข่มุกทั้งหมด 25 ยี่ห้อ ทุกตัวอย่างไม่พบการปนเปื้อนของตะกั่ว
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการบริหาร นิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า จากผลการทดสอบต้องการให้ผู้บริโภคได้ทราบว่า ชานมไข่มุกบางยี่ห้อ มีน้ำตาลมากเกือบ 19 ช้อนชา หากลองนึกภาพตามว่าน้ำตาลปริมาณ 19 ช้อนชานั้นมากมายขนาดไหน ก็จะทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการบริโภคได้มากขึ้น และทุกยี่ห้อมีสารกันบูด แต่ไม่มียี่ห้อไหนที่ให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคเลย
นางสาวสารี กล่าวเสริมว่า อยากฝากข้อเสนอไปถึงผู้ประกอบการให้ปรับลดขนาดปริมาณต่อแก้ว (Serving Size) ลงให้เหมาะสม เพื่อควบคุมไม่ให้ผู้บริโภคได้รับปริมาณพลังงานและน้ำตาลต่อแก้วสูงจนเกินไป เพราะเมื่อผู้บริโภคซื้อชานมไข่มุก ก็อาจบริโภคจนหมดแก้วเพราะความเสียดาย ทำให้พลังงานและน้ำตาลที่ได้รับในหนึ่งมื้อนั้นมากจนเกินความจำเป็น
“ในชานมไข่มุกนั้นมีสารกันบูด จึงขอให้ผู้ประกอบการระบุในฉลากให้ถูกต้อง ตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาด้วย และ อย. ควรเร่งผลักดันให้เกิดฉลากสัญญาณไฟจราจร เพื่อทำให้เกิดการปรับปรุงคุณภาพอาหารให้เป็นมิตรกับผู้บริโภคเพิ่มขึ้น” นางสาวสารี กล่าว
ด้านทันตแพทย์หญิงมัณฑนา ฉวรรณกุล รองผู้จัดการโครงการฯ เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน กล่าวว่า ด้านปริมาณน้ำตาล องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า ไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกินวันละ 6 ช้อนชา (24 กรัม) โดยผลทดสอบชานมไข่มุก ยี่ห้อที่มีน้ำตาลน้อยสุด คือ 16 กรัม (4 ช้อนชา) และมากสุด คือ 74 กรัม (18.5 ช้อนชา) ซึ่งเกินกว่าปริมาณที่ควรได้รับถึง 3 เท่า และแม้เครื่องดื่มจะมีน้ำตาลน้อยกว่า 24 กรัม แต่ก็พบว่า ในหนึ่งแก้วมีปริมาณน้ำตาลต่อวันไปแล้ว 2 ใน 3 ซึ่งคาดได้ว่า ปริมาณการบริโภคจะเกินข้อแนะนำ
“เครื่องดื่มเหล่านี้เป็นเครื่องดื่มที่ควรงดการดื่ม เพราะเป็นแหล่งอุดมน้ำตาล ซึ่งปริมาณน้ำตาลที่สูงหากได้รับในคราวเดียว จะรบกวนระบบการ Metabolite ซึ่งจะทำให้เกิดเป็นกลุ่มโรคเรื้อรังไม่ติดต่อ ซึ่งมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต (NCDs) ได้” ทันตแพทย์หญิงมัณฑนา กล่าว
ทั้งนี้ หากผู้บริโภคสนใจอ่านผลทดสอบสินค้าและบริการอื่นๆ สามารถสมัครสมาชิกนิตยสารฉลาดซื้อออนไลน์ได้ เพียงปีละ 300 บาท เท่านั้น โดยสามารถสมัครด้วยตนเองผ่านเว็บไซต์ www.chaladsue.com หรือสอบถามฟรีผ่านไลน์แอทได้ที่ @chaladsue.online