ที่มา | ข่าวสดออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ยางทรุดหนัก 2 สัปดาห์ร่วงเฉียด 10 บาท/กก. – กยท. รีบซื้อพยุงราคา ส่วนข้าวขาวทรุดหนักเหลือแค่ 6 พันบาท/ตัน – ด้านกรมข้าวโรงสีเห็นแก่ได้ กดราคาข้าวหลังต้นทุนชาวนาลด – กยท. รีบซื้อพยุงราคา
ยาง-ข้าวขาว ราคาทรุดหนัก – คุณเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ราคาปรับตัวลดลงเกือบ 10 บาท/กิโลกรัม (กก.) จากช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาอยู่ที่ 60.05 บาท/กก. เบื้องต้นคาดว่าเกิดจากราคาในตลาดซื้อขายล่วงหน้าที่ปรับตัวลดลงมากโดยเฉพาะในตลาดเซี่ยงไฮ้ ที่ราคาอยู่ที่ 53-54 บาท/กก. ส่วนตลาดโตคอมยังอยู่ที่ราคา 64 บาท/กก. ดังนั้น กยท. เห็นว่าราคายางพาราที่ตกลงมาลงเร็ว และแรงเกินไป จึงเข้ารับซื้อผ่าน 3 ตลาดกลางของกยท. ทั้งที่ สงขลา หาดใหญ่ และสุราษฎร์ ที่ราคา 53.50 บาท/กก.
“กยท. เข้าซื้อยางพาราในตลาดกลาง เพื่อรักษาเสถียรภาพ หลังจากเห็นว่าราคาปรับตัวลดลงแรงเกินไป จึงเข้าซื้อนำราคา 2 บาท จากมือรองที่เสนอซื้อมาที่ราคา 51.50 บาท/กก. ราคาที่ กยท. เสนอซื้อถือว่าเป็นราคาที่สอดคล้องกับราคาเอฟโอบีที่ 58 บาท/กก. ซึ่งหักค่าขนส่ง ค่าบริหารจัดการออกไป 4 บาทกว่า/กก. ราคาที่กยท.ซื้อที่ 53.50 บาท/กก. ก็น่าจะเป็นราคาที่เหมาะสม ส่วนราคาของตลาดล่วงหน้า ของตลาดเซี่ยงไฮ้ ที่มีราคาต่ำมาก ไม่มั่นใจว่าเกิดจากอะไร”
ทั้งนี้ เป็นช่วงที่ผลผลิตออกสูงตลาดหากราคาจะลดลงบ้าง ก็ไม่น่าจะแปลกเพราะเป็นไปตามกลไกตลาด แต่ในช่วงนี้ยังถือว่าผลผลิตยางพารา ออกมาไม่มากนัก ราคาจึงไม่น่าจะขนาดนี้
แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ราคายางพาราที่ปรับลดลงในช่วงนี้ เชื่อว่าน่าจะเกิดจากกลุ่มผู้ส่งออก รวมตัวกันกดราคาเพราะที่ผ่านมากลุ่มผู้ส่งออกมีการซื้อยางพาราเพื่อส่งมอบในตลาดล่วงหน้าเมื่อเดือนก.ค.2562 มีการซื้อยางในราคาสูงเพราะยางพาราไม่มีในตลาด ทำให้ต้นทุนของผู้ส่งออกสูง เมื่อทำสัญญาเพื่อส่งมอบในเดือนต.ค. 2562 ซึ่งเป็นช่วงที่ผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากขึ้น ทำให้ราคาที่ผู้ส่งออกซื้อจากเกษตรกร จึงต่ำลง เพื่อซื้อเฉลี่ยราคาต้นทุนทั้งปีให้ต่ำลงด้วยเช่นกัน
สำหรับราคานน้ำยางสดในวันที่ 8 ก.ค.2562 ราคาอยู่ที่ 47.50 บาท/กก. ราคายางก้อนถ้วย 41.30 บาท/กก. ยางแผ่นดิบคุณภาพดี 51 บาท/กก. ยางแผ่นรมควันชั้น 3 ไม่อัดก้อน 52.08 บาท/กก.
ทั้งนี้ อีกไม่เกิน 1 เดือน ชาวนาในจังหวัดสุโขทัย พิจิตร ชัยนาท อุตรดิตถ์ เริ่มจะเก็บเกี่ยวเมื่อผลผลิตออกมาพร้อมๆ กันก็จะทำให้ราคาตกต่ำซ้ำเติมชาวนาอีก ดังนั้นสิ่งที่ชาวนาที่เป็นสมาชิกสมาคมประมาณ 6-7 หมื่นรายต้องจับตามองคือ การแถลงนโยบายรัฐบาลที่จะทำเหมือนที่ประกาศไว้ตอนหาเสียงหรือไม่
คุณประสงค์ ประไพตระกูล อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า ขณะนี้เป็นช่วงต้นฤดูการเพาะปลูก ดังนั้นข้าวที่มีอยู่ในตลาดส่วนใหญ่จะอยู่ในมือโรงสี และผู้ส่งออก การที่สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ระบุว่าราคาข้าวขาว หรือข้าวหอมปทุมธานีราคาลดลงจึงไม่กระทบกับเกษตรกรแต่อย่างใด โดยราคาข้าวหอมปทุมฯ ปัจจุบันอยู่ที่ ตันละ 1 หมื่นบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมาที่ราคา ไม่ถึง 1 หมื่นบาท รวมทั้งข้าวหอมมะลิ ที่ปีนี้ราคาเพิ่มขึ้นเป็น ตันละ 1.6-1.7 หมื่นบาท ดึงราคาข้าวเหนียวในตลาดสูงตามไปด้วยจากเดิมที่กังวลว่าข้าวเหนียวจะมีปัญหาทางด้านราคา
“ผมต้องเช็กราคาข้าวขาวอีกครั้งว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร แต่ในภาพรวมหากราคาตกต่ำจริงก็ไม่กระทบเกษตรกรเพราะไม่มีข้าวอยู่ในมือ อีกทั้งในปีนี้ กรมการข้าวสนับสนุนให้ปลูกข้าวพื้นนุ่ม ตามที่ตลาดต้องการ โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นการแนะนำจากผู้ประกอบการเอง เป็นการทำงานอย่างครบวงจรและคาดว่าจะไม่มีปัญหาราคาตกต่ำตามมาในช่วงสิ้นปี ที่ผลผลิตข้าวเริ่มออกสู่ตลาด”
คุณประสงค์ กล่าวว่า ปัญหาที่น่ากังวลตอนนี้คือเกษตรกรในบางพื้นที่แจ้งว่า ทางโรงสีรับซื้อข้าวต่ำกว่าราคาในตลาดโดยอ้างว่า มาตรการที่รัฐบาลส่งเสริมทำให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรลดลง ดังนั้นควรจะได้รับกำไรลดลงด้วย วิธีการแบบนี้ถือว่าไม่ถูกต้อง และอยากให้การกำหนดราคาเป็นไปตามกลไกการตลาด