เอฟทีเออียู-เวียดนาม ซัดส่งออกไทยแข่งลำบาก นักลงทุนจ่อย้ายฐานผลิตหนีไทย

ความตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม กระทบการส่งออกไทยแข่งลำบาก เครื่องนุ่งห่ม-ยานพาหนะและส่วนประกอบ-อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้าอาจย้ายฐานผลิตหนีไทย

เอฟทีเออียู-เวียดนาม ซัดส่งออก – น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ได้วิเคราะห์ผลกระทบของความตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรป-เวียดนาม ต่อการส่งออกสินค้าไทย (European Union-Vietnam Free Trade Agreement : EVFTA) ว่า สหภาพยุโรปและเวียดนามได้ลงนามข้อตกลง EVFTA และข้อตกลงการคุ้มครองการลงทุนเวียดนาม-สหภาพยุโรป (EU – Vietnam Investment Protection Agreement : EVIPA) เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2562 ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็น FTA ที่ “มีความทะเยอทะยานและมีขอบเขตครอบคลุมที่สุด” ที่สหภาพยุโรป (อียู) เคยเจรจากับประเทศกำลังพัฒนา มีเนื้อหาทั้งการเปิดตลาดสินค้า บริการ และการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ตลอดจนประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการค้า เช่น การพัฒนาที่ยั่งยืน มีการลดภาษีกว่า 99% ของสินค้านำเข้าจากทั้งสองประเทศ เมื่อความตกลงมีผลบังคับใช้ เวียดนามจะลดภาษีทันที 65% ของสินค้าส่งออกจากสหภาพยุโรป และจะทยอยลดภาษีสินค้าที่เหลือภายใน 10 ปี สหภาพยุโรปจะลดภาษีทันที 71% ของสินค้าส่งออกจากเวียดนาม และจะทยอยลดภาษีสินค้าที่เหลือภายใน 7 ปี สำหรับข้อตกลง EVIPA ที่ได้ลงนามในคราวเดียวกันจะช่วยให้เวียดนามพัฒนากรอบด้านการลงทุนและการใช้กฎหมาย ให้มีความโปร่งใส เพื่อดึงดูดเงินลงทุนจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป

พิมพ์ชนก วอนขอพร

คาดว่าสหภาพยุโรปจะใช้ความตกลง EVFTA เป็นต้นแบบในการเจรจากับไทย โดยเฉพาะการผลักดันประเด็นที่สหภาพยุโรปให้ความสำคัญ เช่น การเปิดตลาดยา รถยนต์ และเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ การเปิดเสรีภาคบริการและการลงทุน การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การเข้าสู่ตลาดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การระงับข้อพิพาทในการลงทุน รวมทั้งการปฏิบัติตามพันธกรณีขององค์การระหว่างประเทศต่างๆ

ผลจากการวิเคราะห์ พบว่า เมื่อความตกลง EVFTA มีผลบังคับใช้ อาจทำให้เวียดนามได้เปรียบไทยในการแข่งขันในตลาดสหภาพยุโรปจากความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาที่สูงกว่าสินค้าไทย เนื่องจากได้เปรียบจากข้อยกเว้นด้านภาษีนำเข้า อีกทั้งยังใช้สิทธิ GSP ซึ่งไทยถูกตัดสิทธิไปแล้วตั้งแต่ปี 2558

เวียดนามคาดว่าข้อตกลงดังกล่าวจะเป็นโอกาสในการเข้าถึงตลาดสหภาพยุโรปที่มีประชากรกว่า 508 ล้านคน มีมูลค่า GDP ประมาณ 18 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ นาย Tran Tuan Anh รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม ได้กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีลงนามข้อตกลงดังกล่าว โดยได้คาดการณ์ว่า การส่งออกของเวียดนามไปสหภาพยุโรปจะเพิ่มขึ้น 4-6% เป็นมูลค่า 19 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับการไม่มีข้อตกลงเขตการค้าเสรี และคาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 75 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2571 โดยข้อตกลง EVFTA จะช่วยส่งเสริมการส่งออกของเวียดนาม โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและสินค้าประมงและสัตว์น้ำ

ผอ.สนค. ระบุอีกว่า จากการวิเคราะห์ของ สนค. ตัวอย่างกลุ่มสินค้าที่ไทยน่าจะได้รับผลกระทบ ได้แก่ ยานพาหนะและส่วนประกอบ เวียดนามมีการออกกฎหมาย Decree 116 หากรวมกับผลจากความตกลง EVFTA แล้ว ผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไทยต้องพร้อมรับมือกับผลกระทบจากการย้ายฐานการผลิตรถยนต์ไปยังเวียดนาม รวมทั้งควรเร่งปรับตัววางแผนการผลิตและการตลาดเพื่อเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้า เวียดนามมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น และอาจได้รับผลกระทบจากการย้ายฐานการผลิตไปเวียดนาม ไทยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพัฒนาทักษะด้านแรงงาน ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันเครื่องนุ่งห่ม ความตกลง EVFTA จะเอื้อประโยชน์ให้แก่สินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของเวียดนามเข้าสู่ตลาดยุโรปมากขึ้น เวียดนามยังได้เปรียบไทยในด้านค่าจ้างแรงงานที่มีราคาต่ำกว่า และมีแรงงานจำนวนมาก ผู้ประกอบการเครื่องนุ่งห่มไทยต้องนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้หลากหลาย การใช้เส้นใยที่มีคุณสมบัติพิเศษ รวมทั้งการสร้างแบรนด์เพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออกและขยายฐานการตลาดให้กว้างขึ้นด้วยการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายทางออนไลน์

ส่วนข้าวไทย ยังมีข้อได้เปรียบด้านการเป็นที่รู้จักและการได้รับการยอมรับในคุณภาพของข้าวหอมมะลิไทย จึงควรมีการพัฒนาการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดยุโรป และการประชาสัมพันธ์เอกลักษณ์ของข้าวหอมมะลิไทยที่แตกต่างจากคู่แข่งรายอื่น ให้สามารถเพิ่มโอกาสการส่งออกข้าวที่มีราคาสูง รวมทั้งสำหรับตลาด niche เช่น ข้าวอินทรีย์และข้าวสีต่างๆ รวมทั้งนำเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น บล็อกเชนมาประยุกต์ใช้ในการสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยในอาหารให้แก่ผู้บริโภค

ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแปรรูป ได้แก่ กุ้ง ปลา ปลาหมึก เวียดนามมีการคาดการณ์ว่า การส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำของเวียดนามปี 2562 จะมีแนวโน้มเติบโตสูงมากจากความตกลง EVFTA ผู้ประกอบการไทยจึงควรเข้าใจแนวโน้มพฤติกรรมการบริโภคของชาวยุโรป พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อส่งออกสินค้าได้ตรงกับความต้องการของตลาด ให้ความสำคัญกับการรักษาทรัพยากรทางทะเลและการทำประมงอย่างถูกกฎหมาย อัญมณีและเครื่องประดับ ตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยในยุโรป คือ เยอรมนี และยังเป็นตลาดที่สามารถขยายตัวได้ ผู้ประกอบการไทยต้องเข้าใจถึงสภาพตลาดและติดตามการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของผู้บริโภคยุโรป เพื่อที่สามารถออกแบบและส่งออกสินค้าได้ตรงกับความต้องการ โดยสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยมีจุดแข็งด้านฝีมือของช่างผู้ผลิตและคุณภาพของสินค้า

ในขณะเดียวกัน เวียดนามก็เป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย การที่สินค้าจากสหภาพยุโรปได้เปรียบจากข้อยกเว้นด้านภาษีนำเข้าสินค้าจากเวียดนาม อาจทำให้สินค้าไทยบางรายการแข่งกับสหภาพยุโรปในตลาดเวียดนามได้ลดลง ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

สถิติการค้าระหว่างเวียดนามกับสหภาพยุโรป ระหว่างปี พ.ศ. 2557-2560 มีแนวโน้มมูลค่าการค้าเพิ่มสูงขึ้น ในปี 2560 มูลค่าการค้าเพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อนหน้า 11.60% มูลค่าการค้ารวม เท่ากับ 50,430.97 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออก มีมูลค่า 38,298.72 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 12.55% การนำเข้า มีมูลค่า 12,132.25 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.73% โดยเวียดนามเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า 26,166.47 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับไทย ภาพรวมการค้าระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป ปี พ.ศ. 2557-2560 มีแนวโน้มมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน แต่ในปี 2558 มีการปรับตัวลดลง เนื่องจากไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ในปี 2560 มีมูลค่าการค้าเพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อนหน้า 10.96% มูลค่าการค้ารวม เท่ากับ 44,537.80 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออก มูลค่า 23,712.64 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.04% การนำเข้า มีมูลค่า 20,825.16 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 14.47% โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า 2,887.48 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

ที่มา ข่าวสดออนไลน์