อพท. พัฒนาคลัสเตอร์เชียงคาน หวังเจาะตลาดขยายวันเที่ยว กระจายรายได้ชุมชน

อพท. เดินหน้ายกระดับกิจกรรมท่องเที่ยวเชียงคาน จ.เลย  ทั้งวิถีประมง เที่ยวชมสตรีตอาร์ท ริมน้ำโขงชมภาพ 3 มิติ ทั้งบนบกและล่องเรือ  พร้อมปักหมุดท่องเที่ยวเส้นทางวัฒนธรรมล้านช้าง เชื่อมไทย- ลาว ดึงนักท่องเที่ยว ทั้งไทยและเทศ เจาะกลุ่มพรีเมี่ยม หวังสร้างตลาดขยายวันท่องเที่ยวเพิ่ม กระจายรายได้สู่ชุมชนยั่งยืน

คุณธรรมนูญ ภาคธูป ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษเลย องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เผยระหว่างการนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่พิเศษ จังหวัดเลย ระหว่างวันที่ 29 – 30 มิถุนายน 2562 เพื่อศึกษาศักยภาพพื้นที่เชื่อมโยงการท่องเที่ยว และเส้นทางการท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

โดยในปี 2562 คาดว่าจังหวัดเลย จะมีนักท่องเที่ยวสูงถึง 3 ล้านคน แต่จำนวนวันพักขณะนี้เฉลี่ยอยู่ที่เพียง 1.5 วัน ทำให้ อพท.ได้ร่วมบูรณาการกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการจัดกิจกรรมใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวให้เกิดขึ้นในทุกช่วงฤดูกาล โดยยึดแนวทางการพัฒนา ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ที่คำนึงถึงความยั่งยืนที่มุ่งกระจายรายได้ท่องเที่ยวสู่ชุมชนให้มากที่สุด เพื่อยกระดับการเข้าพักของนักท่องเที่ยวให้เป็น 3.5 วัน ภายในปี 2565

“อพท.มุ่งเน้นการพัฒนาท่องเที่ยวให้เป็นไปตามเกณฑ์การพัฒนาท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ Global Sustainable Tourism Council (GSTC) โดยจะมองใน 4 มิติคือ การบริหารจัดการ การกระจายรายได้ลดความเหลื่อมล้ำ การส่งเสริมวัฒนธรรมให้คงอยู่และการรักษาสิ่งแวดล้อม ดังนั้นเราจึงพัฒนาพื้นที่ด้วยการเปิดให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วม ส่งผลให้ปัจจุบันได้มีการพัฒนาท่องเที่ยวโดยชุมชนใน 14- 15 ชุมชนต้นแบบ ซึ่งพบว่าประชาชนในพื้นที่พิเศษ จังหวัดเลย มีรายได้เสริมจากการท่องเที่ยวมากขึ้น”

คุณธรรมนูญ ภาคธูป ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษเลย องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.

สำหรับอำเภอเชียงคาน ถือเป็น 1 ใน 9 อำเภอของจังหวัดเลยที่มีความโดดเด่นในวิถีชีวิตริมโขง
มีความเป็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ซึ่งการจัดกิจกรรมที่ผ่านมาโดยเฉพาะถนนคนเดิน ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากนักท่องเที่ยว  อพท.จึงต้องมองการพัฒนาการเชื่อมโยงหรือคลัสเตอร์  เพื่อกระจายแหล่งท่องเที่ยวและรายได้ให้เข้าถึงชุมชนรอบข้างมากขึ้น รวมถึงการบริหารจัดการพื้นที่ในการมุ่งเน้นความปลอดภัยทั้งด้านการจราจรและสุขภาพ  และยังมองการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับสปป.ลาว ที่จะเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวเข้ามายังไทย ซึ่งขณะนี้ได้หารือผ่านคณะทำงานท่องเที่ยวเชิงภูมิภาคที่จะยกระดับการประชาสัมพันธ์
พื้นที่ท่องเที่ยวเชื่อมโยงสี่เหลี่ยมวัฒนธรรมล้านช้าง (CBT ล้านช้าง) ที่เชื่อมโยง 4 จังหวัดไทย กับ 4 แขวง
สปป.ลาว  ด้วยการจัดทำ “แอพพลิเคชั่น ล้านช้าง” เพื่อแนะนำแหล่งท่องเที่ยว โรงแรม อาหาร ฯลฯ คาดว่าจะพัฒนาแล้วเสร็จในปี 2563

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ อพท. ได้ร่วมดำเนินการกับการท่องเที่ยวทางสปป.ลาว ในการสร้างเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยง สี่เหลี่ยมวัฒนธรรมล้านช้าง จากการที่จังหวัดเลยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านช้างในอดีต ซึ่งมีพื้นที่ประกอบด้วย ไซยะบุรี เวียงจันทน์ หลวงพระบาง ทำให้เกิดเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่สามารถหยิบยกและสร้างแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ผสมผสานศิลปะและวิถีชีวิตที่มีศักยภาพอีกแห่งหนึ่ง ที่ อพท. มีแผนเข้าไปดำเนินพัฒนาชุมชนดั้งเดิม แต่ยังคงอัตลักษณ์พัฒนามาเป็นกิจกรรมรองรับนักท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มจำนวนการไหลเวียนของนักท่องเที่ยวให้มีการกระจายตัวไปแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ มากขึ้น

ส่วนแผนการพัฒนาท่องเที่ยวในระยะยาว อพท.ได้เตรียมความพร้อมเพื่อสร้างการตลาดท่องเที่ยว
เพื่อความยั่งยืน โดยอาศัยโครงสร้างระบบพื้นฐานที่รัฐบาลได้ลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง
(ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบินของไทย ซึ่งจะทำให้มีการรองรับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้นทั้งในสปป.ลาว จีน และยุโรป (Premium Group) และจะทำให้เกิดศักยภาพในการเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ของไทยและ สปป.ลาว ไปยังจีน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวกลุ่มคาราวานที่จีนและสปป.ลาวมีความสนใจเดินทางเข้ามาไทย
อย่างต่อเนื่อง โดยพบว่านักท่องเที่ยวสปป.ลาวชอบเดินทางมาไทยโดยมีเป้าหมายไปเที่ยวพัทยา ซึ่งหากมีการสร้างจุดแวะท่องเที่ยวระหว่างทางใหม่ๆ ได้ก็จะทำให้เกิดการดึงดูดการเข้ามาของนักท่องเที่ยวมากขึ้น ขณะเดียวกัน นักท่องเที่ยวกลุ่มยุโรปที่มาท่องเที่ยวพัทยา 10 ล้านคน ต่อปี จุดนี้ก็สามารถที่จะดึงมาท่องเที่ยวในเส้นทางที่จัดไว้ได้เช่นกัน