กรมอนามัย แนะ “น้ำเซเลอรี่” แม้ประโยชน์มาก แต่ควรดื่มอย่างพอดี

กรมอนามัย แนะ “น้ำเซเลอรี่” แม้ประโยชน์มาก แต่ควรดื่มอย่างพอดี

เป็นเทรนด์เพื่อสุขภาพที่กำลังมาแรงๆ มาก สำหรับน้ำเซเลอรี่ หรือ น้ำขึ้นฉ่ายฝรั่ง ที่กลุ่มคนรักสุขภาพ นิยมดื่มกันมากในช่วงนี้ เซเลอรี่ (Celery) หรือ “ขึ้นฉ่ายฝรั่ง” มีลักษณะลำต้นและใบสีเขียว กลิ่นเหมือนขึ้นฉ่ายจีนแต่ต้นใหญ่กว่า เป็นผักที่มีแคลเซียมสูง เป็นตัวช่วยควบคุมน้ำหนักหรือลดน้ำหนักได้ โดยขึ้นฉ่ายฝรั่ง 100 กรัม ให้พลังงานเพียงแค่ 13 กิโลแคลอรีเท่านั้น และมีเส้นใยสูง ช่วยให้รู้สึกอิ่มนานขึ้น ลดอาการหิวได้เป็นอย่างดี

นิยมนำไปประกอบอาหาร คือส่วนที่เป็นก้านใบ และใบ สามารถประกอบอาหารได้หลายชนิด เช่น ทำซุปผัก ผัดกับปลาหรือเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆ ต้มจืด ผัดน้ำมัน โดยวิธีรับประทานที่ดีที่สุด คือ กินดิบหรือว่านำมาปั่นทำเป็นน้ำผักจะปั่นเพียงชนิดเดียว หรือปั่นรวมกับผักผลไม้ชนิดอื่นร่วมด้วยก็ได้ผลดีเช่นกัน

แพทย์หญิงพรรณพิมล  วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เผยถึงประโยชน์ของน้ำเซเลอรี่ ว่า น้ำเซเลอรี่ หรือ น้ำขึ้นฉ่ายฝรั่งที่เป็นผักที่ให้พลังงานต่ำแต่มีสารอาหารสูงจึงเหมาะกับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก อีกทั้งในผักเซเลอรี่ ยังมีปริมาณโพแทสเซียมสูงที่มีฤทธิ์อ่อนในการขับปัสสาวะออกจากร่างกาย ช่วยลดอาการบวมน้ำและช่วยให้หลอดเลือดขยายตัว ทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ได้ดี โดยเฉพาะหัวใจ ทำให้ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด ช่วยปรับระดับความดันโลหิตให้อยู่ในระดับที่สมดุลโดยเฉพาะผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง แต่สำหรับผู้ป่วยโรคไตควรกินอย่างระมัดระวังเพราะหากกินในปริมาณมากอาจทำให้ได้รับปริมาณโพแทสเซียมจากเซเลอรี่ที่มากเกินไป

“ทั้งนี้ คนที่ชื่นชอบการดื่มน้ำเซเลอรี่สามารถดื่มได้ แต่ไม่ควรดื่มบ่อยในปริมาณที่มากเกินไป ควรปั่นผสมกับผักและผลไม้อื่นเพื่อให้ได้รับวิตามิน แร่ธาตุ และใยอาหารที่เหมาะสม เพราะถึงแม้ว่าผักชนิดนี้หากกินแบบสด ๆ จะทำให้ได้รับวิตามินซีสูงที่ช่วยกระตุ้นการสร้างภูมิต้านทานแบคทีเรียและไวรัสที่จะทำให้เกิดโรคหวัด โรคภูมิแพ้ โรคเลือดออกตามไรฟัน แต่การกินอาหารซ้ำๆ จะทำให้เราได้รับประโยชน์จากอาหารเพียงชนิดเดียว จึงควรสลับหมุนเวียนเมนูกับอาหารชนิดอื่นด้วย นอกจากการนำมาปั่นแล้วสามารถนำมาปรุงประกอบอาหารต่างๆ ได้ด้วย เช่น หั่นเป็นแว่นใส่สลัดหรือต้มเป็นซุป ก็จะทำให้กินได้ง่ายขึ้น ซึ่งก่อนนำเซเลอรี่มาปั่นหรือปรุงประกอบอาหารควรล้างด้วยน้ำไหล โดยแช่ในน้ำนาน 15 นาที จากนั้นเปิดน้ำไหลผ่านและคลี่ใบผักถูไปมานาน 2 นาทีให้สะอาด สามารถลดสารเคมีตกค้างในผักได้” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

 

ที่มา เพจ โครงการหลวง ดี อร่อย , สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)