ซินเจนทา ร่วมฉลองวันข้าวและชาวนาไทย โชว์นวัตกรรมเด่น ช่วยชาวนาลดต้นทุนได้

ซินเจนทา ร่วมฉลองวันข้าวและชาวนาไทย โชว์นวัตกรรมเด่น ช่วยชาวนาลดต้นทุนได้ 15%

นางสาววัชรีภรณ์ พันธุ์ภูมิพฤกษ์ หมอพืชและผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืนธุรกิจ ซินเจนทา ประเทศไทย เปิดเผยว่า กลุ่มธุรกิจซินเจนทาได้รับรางวัลการเกษตรยั่งยืนระดับโลกสาขา “ความร่วมมือจากฟาร์มสู่ตลาดผู้บริโภค” จาก The Alliance for Sustainable Agriculture ในประเทศสหรัฐอเมริกา  ในโครงการลดต้นทุนและพัฒนาเพิ่มผลผลิตข้าวให้เกษตรกร รวมทั้งการบริหารจัดการระบบเกษตรกรรม และพัฒนาห่วงโซ่อุตสาหกรรมการเกษตร 

สำหรับซินเจนทาในประเทศไทยเราได้เริ่มงานวิจัยภายใต้โครงการเกษตรกรชาวนามืออาชีพ โดยฝ่ายวิจัยและพัฒนา มาตั้งแต่ปี 2560 จนกระทั่งประสบผลสำเร็จ โครงการนี้สามารถนำนวัตกรรมมาแก้ไขปัญหาให้ชาวนาได้อย่างเป็นรูปธรรม สามารถช่วยเกษตรกรลดต้นทุนการผลิตได้ 15% ขณะที่ผลผลิตเพิ่มขึ้นสูงสุด 20% ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับการทำนาแบบเดิม

นายดำรงศักดิ์ เดี่ยววาณิชย์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนา ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ซินเจนทาได้รับฟังปัญหาของชาวนามาตลอดเวลากับภาวะต้นทุนสูง ผลผลิตต่ำ รายได้ไม่เป็นตามที่คาดการณ์ เราจึงต้องทำงานวิจัยพัฒนาอย่างจริงจัง ทำแปลงทดสอบมากกว่าหนึ่งร้อยการทดลอง ในที่สุดเราก็ประสบผลสำเร็จจากการทำ “โครงการเกษตรกรชาวนามืออาชีพ” เพื่อลดต้นทุนการผลิต และนำผลผลิตของชาวนาเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปเป็นข้าวอบกรอบ โดยซินเจนทา และพันธมิตรจากอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป ได้พัฒนาโปรแกรมการบริหารการปลูกข้าว การเลือกใช้พันธุ์ข้าวที่ตอบโจทย์เหมาะกับการนำไปแปรรูปเป็นข้าวอบกรอบ

จากนั้นมีการจัดการระบบการปลูก การดูแลดิน การให้น้ำ การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน การจัดการและวิเคราะห์สารตกค้าง และการใช้ปัจจัยการผลิต ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ย หรือสารอารักขาพืช อย่างถูกต้อง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม โครงการดังกล่าวนี้ เราต้องใช้ระยะเวลาวิจัยถึง 2 ปีตั้งแต่ปี 2560 ในพื้นที่จังหวัดชัยนาทและสุพรรณบุรี จนมาประสบผลสำเร็จในปีนี้ ปัจจุบันมีกลุ่มเกษตรกรในโครงการ 300 ราย คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 10,000 ไร่ และในอนาคต วางแผนขยายไปยังพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร สุโขทัย และอุตรดิตถ์อีกด้วย

โครงการดังกล่าว ไม่ได้พัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวนาอย่างยั่งยืนเพียงอย่างเดียว แต่เป็นหลักประกันให้อุตสาหกรรมอาหาร และภาคการเกษตรตลอดห่วงโซ่มีความยั่งยืน มีความมั่นคงด้านอาหาร เพราะเป็นการดูแลตั้งแต่เริ่มปลูก ให้ได้ผลผลิตสามารถป้อนวัตถุดิบเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหารได้อย่างสม่ำเสมอ จะเห็นว่าเราดูแลใส่ใจเกษตรกร ด้วยการนำนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์มาใช้แก้ปัญหา เราไม่ละเลยที่จะมีกระบวนการตรวจสอบความปลอดภัยในกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน เพื่อให้ได้ข้าวที่มีคุณภาพ ปลอดภัยไม่เกินค่ามาตรฐานสารตกค้าง ก่อนที่จะส่งต่อผลผลิตของชาวนาเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป ทั้งนี้ก็เพื่อความมั่นใจเรื่องอาหารปลอดภัยต่อผู้บริโภค ชาวนามีสุขภาพที่ดี มีความสุขมากขึ้น นางสาววัชรีภรณ์ พันธุ์ภูมิพฤกษ์ หมอพืชกล่าวสรุป