ไทยส่งออกทุเรียนพุ่ง 100% จี้ดูแลคุณภาพหลังประเทศคู่แข่งโค่นยางปลูกด้วยหวังชิงตลาดจีน

ทุเรียนไทยส่งออกทั่วโลก 4 เดือนเฉียด 2 หมื่นล้าน – สศก. แนะชาวสวนดูแลคุณภาพหลังประเทศคู่แข่งโค่นยางปลูกด้วยหวังเจาะตลาดจีน ฟุ้งอีก 5 ปีตลาดยังสดใส

ไทยส่งออกทุเรียนพุ่ง 100% – น.ส.จริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากผลผลิตทุเรียนในปี 2562 คาดว่าจะมีปริมาณที่มากประมาณ 9.7 แสนตัน น่าจะสามารถผลักดันให้ยอดส่งออกทุเรียนไทยทั้งปีอยู่ที่ประมาณ 6.5 แสนตัน เพิ่มขึ้นประมาณ 14% ที่มีการส่งออกประมาณ 5.7 แสนตันในปีก่อนหน้า รวมมูลค่าส่งออกทั่วโลก 5 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะเพิ่มขึ้นปีประมาณ 42% จากมูลค่าส่งออกรวมของปีก่อน 3.5 หมื่นล้านบาท

สำหรับช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ คือม.ค.-เม.ย. ไทยมีการส่งออกทุเรียนไปทั่วโลกประมาณ 3 แสนตัน คิดเป็นมูลค่ารวม 1.9 หมื่นล้านบาท โดยปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้น 100% จากปีก่อนหน้าที่ส่งออกได้ 1.5 แสนตัน โดยมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นประมาณ 96% จากปีก่อนหน้าที่ส่งออกได้ 9.7 พันล้านบาท โดยตลาดหลักตลาดใหญ่ของไทยคงเป็นตลาดจีน ที่ 4 เดือนส่งออกได้ประมาณ 9.9 พันล้านบาท

“ราคาทุเรียนไทยเพิ่มขึ้นมาก ปีนี้ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 120-150 บาทต่อกิโลกรัม แม้ผลผลิตจะออกมามาก แต่เนื่องจากตลาดหลักอย่างจีนมีความต้องการ เพราะเชื่อว่า ทุเรียน คือผลไม้มงคล และเป็นสินค้าพรีเมี่ยม จึงนิยมบริโภค และความต้องการยังมีอีกมาก แม้ว่าตลาดคู่แข่งอย่าง มาเลเซีย จะมีทุเรียน มูซังคิง ที่มีการส่งออกมากและจีนก็นิยม แต่ราคาค่อนข้างสูงกว่าทุเรียนไทยมาก ราคาขายเฉลี่ย 450-750 บาทต่อกิโลกรัม เป็นที่ชื่นชอบของลูกค้าชาวจีนกระเป๋าหนัก เนื่องจากรสชาติหวาน เม็ดลีบ แต่หมอนทองไทย ยังได้รับความนิยม คาดว่า จากนี้ 5 ปีอนาคตทุเรียนไทยยังดีอยู่”   น.ส.จริยา กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศผู้ปลูกยางหลายประเทศกำลังโค่นต้นยางทิ้ง และปลูกทุเรียนแทน เพราะเห็นไทยมีการส่งออกและตลาดจีนมีความต้องการสูง แต่อายุทุเรียนจากวันที่ปลูกจนสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้จะต้องใช้เวลาประมาณ 5 ปี ดังนั้นจากนี้ต่อไปไทยต้องเร่งรักษา และพัฒนาคุณภาพของทุเรียนไทย ให้รักษาตลาดหลักๆ และขยายไปยังตลาดอื่นๆ ให้เพิ่มขึ้น ซึ่งการรักษาคุณภาพ เป็นสิ่งที่เกษตรกรต้องเร่งดำเนินการเพื่อไม่ให้คู่แข่งอย่างมาเลเซีย เข้ามากินส่วนแบ่งทางการตลาดของไทยในจีนได้อีก

อย่างไรก็ตาม ทุเรียนไทย เป็นผลไม้ที่มีความหลากหลาย ที่ไทยต้องเร่งส่งเสริมผู้บริโภคให้รู้จักทุเรียนไทย ทั้งที่ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีตรงตามมาตรฐานที่กำหนด (GAP) และมีเอกลักษณ์บ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ จีไอ อาทิ ทุเรียนหลิน-หลงลับแลของอุตรดิตถ์ ทุเรียนป่าละอูของทางใต้ ทุเรียนนนท์ของจังหวัดนนทบุรี ทุเรียนภูเขาไฟของจังหวัดศรีสะเกษ ทุเรียนไทยยังมีอีกจำนวนมากที่ต้องเร่งส่งเสริมให้ผู้บริโภครู้จัก

“หลังจากไทยส่งเสริมให้ผู้บริโภครู้จักทุเรียน ทำให้มีคู่แข่งเข้ามาจะแย่งตลาดจำนวนมาก โดยเฉพาะตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่มาก ดังนั้นเกษตรกรไทยต้องเร่งดูแลคุณภาพทุเรียนให้ดี ไม่ต้องปลูกมาก แต่เน้นการดูแลให้ได้คุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาดส่งออกก็พอแล้ว”