อึ้ง!! โปรตีนจิ้งหรีดสูงกว่าเนื้อวัว ทูตพาณิชย์แนะส่งออกป้อนคนมะกันนิยมเปิบแมลง

อึ้ง!! โปรตีนจิ้งหรีดสูงกว่าเนื้อวัว ทูตพาณิชย์แนะส่งออกป้อนคนมะกันนิยมเปิบแมลง

น.ส.อุษาศรี เขียวระยับ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก สหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีรายงานเกี่ยวกับการรับประทานแมลงที่สามารถรับประทานได้ (Edible Insects) ที่จัดทำโดยสหประชาชาติ (UN) ระบุว่าภายในปี 2593 ประชากรโลกจะมีจำนวนถึง 9.7 พันล้านคน และอาหารที่จะเลี้ยงประชากรโลกทั้งหมดในขณะนั้นจะต้องมีอาหารถึงสองเท่า แต่พื้นดินเพาะปลูกมีจำนวนไม่เพียงพอ และ 1 ใน 3 ของพื้นดินเพาะปลูกที่มีอยู่ในโลกได้ใช้ไปในการปศุสัตว์ ขณะที่พื้นที่ป่าและน้ำก็มีจำกัด ซึ่งอาหารโปรตีนที่จะมาทดแทนปศุสัตว์ ก็คือแมลง เพราะเป็นโปรตีนที่มีคุณภาพสูง

น.ส.อุษาศรี กล่าวว่า ยังมีการยืนยันอีกว่าโปรตีนจากจิ้งหรีดมีมากกว่าโปรตีนจากเนื้อวัว และจิ้งหรีดยังมีกรดอะมิโนที่สำคัญ 9 ชนิด มีทั้งวิตามินบี 12 ธาตุเหล็ก สังกะสี แมกเนเซียม โซเดียม โพแทสเซียม และแคลเซียม และในการเลี้ยงก็ใช้พื้นที่น้อยกว่า เช่น พื้นที่ 10,000 ตารางเมตร สามารถผลิตโปรตีนจากแมลงได้ 150 ตันต่อปี และจิ้งหรีดยังปล่อยแก๊สมีเทน ซึ่งเป็นแก๊สที่มีผลกระทบต่อชั้นบรรยากาศโลกน้อยกว่าวัวถึง 80 เท่า ขณะเดียวกัน มีข้อมูลอีกว่าปลาที่บริโภคทั่วโลกในปัจจุบัน มีปริมาณมากกว่าครึ่งที่เลี้ยงจากฟาร์ม ซึ่งโปรตีนจากแมลงจัดเป็นอาหารที่ดีที่สุดของปลา เพราะมีแร่ธาตุทางธรรมชาติที่เรียกว่าสารไคทีน (Chitin) รวมทั้งเป็นอาหารที่ดีสำหรับสัตว์ปีก เพราะเป็นการลด และไม่ต้องใช้สาร Antibiotic

น.ส.อุษาศรี กล่าวว่า นอกจากนี้ยูเอ็นได้คาดการณ์ว่าแนวโน้มการเลี้ยงแมลงรับประทานได้จะเป็นในรูปแบบฟาร์มแนวดิ่งในอาคาร และจะเป็นฟาร์มในเมือง ใช้พื้นที่ขนาดเล็ก ส่วนตลาดแมลงรับประทานได้ จะมีมูลค่า 1.53 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2564 สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแมลงที่จะได้รับความนิยม ก็คือ การนำไปทำเป็นแป้งและนำไปผลิตเป็นอาหารประเภทต่างๆ เช่น ขนมปัง บิสกิต คุกกี้ ขนมปังมัฟฟิน ขนมหวาน ซุป สมูธตี้ ชิป และพาสต้า ส่วนใหญ่ทำจากจิ้งหรีดและหนอนนก

“ปัจจุบัน แมลงที่รับประทานได้มีจำนวนมากกว่า 2,000 ชนิด เช่น แมลงปีกแข็ง ตัวบุ้ง ด้วง ผึ้ง ตัวต่อ มด ตั๊กแตน จิ้งหรีด จักจั่น แมลงปอ ปลวก เพลี้ยหอย เพลี้ยเกล็ดและเพลี้ยกระโดด เป็นต้น” น.ส.อุษาศรี กล่าว

น.ส.อุษาศรี กล่าวว่า จากแนวโน้มความต้องการโปรตีนจากแมลงที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว เป็นโอกาสดีสำหรับผู้ประกอบการไทย ที่จะวางแผนในการเพาะเลี้ยงแมลง และทำตลาดโปรตีนที่ได้จากแมลง เพื่อป้อนความต้องการที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะในปัจจุบันนี้ ประเทศต่างๆ ทั่วโลก เริ่มเล็งเห็นและให้ความสำคัญกับโปรตีนจากแมลง และนำไปผสมทำเป็นอาหารชนิดต่างๆ และกำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น หากไทยเตรียมความพร้อมได้ก่อน ก็จะมีโอกาสเหนือคู่แข่งอื่นๆ