ชาวนาเฮ! เปิดตัว เครื่องกำจัดมอดและแมลง ด้วยคลื่นความถี่วิทยุ

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ชี้ปัจจัยท้าทายในอุตสาหกรรมข้าวต้องก้าวสู่การยกระดับด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเฉพาะสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ เช่น เครื่องสำอาง การแพทย์และความงาม ยารักษาโรค เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้อุตสาหกรรมข้าวและการเกษตรมีทิศทางการเติบโตที่ดีขึ้น NIA จึงมุ่งสนับสนุนความสามารถทางนวัตกรรมให้กับกลุ่มเกษตรกร นักวิจัย ผู้ประกอบการ  ผ่านศูนย์สร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมการเกษตร โดยตั้งเป้าพลิกโฉมการเกษตรของประเทศจากเกษตรดั้งเดิมไปสู่เกษตรนวัตกรรม และเพิ่มสตาร์ทอัพด้านการเกษตรให้เพิ่มมากขึ้น  

นอกจากนี้ยังได้จับมือกับมูลนิธิข้าวไทย จัดการประกวดรางวัลนวัตกรรมข้าวไทยประจำปี 2562 เพื่อคัดเลือกผลงานนวัตกรรมที่มีศักยภาพสูงสู่เชิงพาณิชย์

รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ประธานกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า “การประกอบอาชีพของประชากรส่วนใหญ่ในประเทศยังคงเป็นภาคการเกษตร ซึ่งมีจำนวนประมาณ 6.6 ล้านครัวเรือน โดยในจำนวนนี้เป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจำนวนมากที่สุด ประมาณ 3.7 ล้านครัวเรือน

อย่างไรก็ตามพบว่ากลุ่มดังกล่าว ส่วนใหญ่ยังคงมีฐานะยากจน และมีหนี้สินจำนวนมาก เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตที่สูง และกระบวนการเพาะปลูกข้าวยังไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งสิ่งที่จะช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ก็คือ การสนับสนุนให้เกิดธุรกิจนวัตกรรมสำหรับชาวนา ที่ควรเริ่มตั้งแต่ลดจุดอ่อนของการปลูกข้าว การสร้างตลาด การลดต้นทุน รวมทั้งการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ที่เกิดจากสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอี

 สำหรับในอุตสาหกรรมข้าวไทยก็มีปัญหาที่สำคัญไม่แพ้กันคือเรื่องคู่แข่งส่งออก โดยเฉพาะอินเดีย เวียดนาม และปากีสถาน ซึ่งประเทศเหล่านี้มีราคาการจำหน่ายข้าวที่ถูกกว่า ส่วนอีกหนึ่งปัญหาที่พบก็คือเกษตรกรและผู้ประกอบการยังติดอยู่กับการพัฒนาสินค้าแปรรูปเพียงแค่ขั้นกลางกันเป็นจำนวนมาก แต่ในความเป็นจริงแล้วปัจจุบันตลาดและกลุ่มผู้บริโภคมีการมองหาและให้ความสำคัญกับสินค้าที่เป็นนวัตกรรมกันอย่างแพร่หลาย และ “ข้าว” ถือเป็นสินค้าเกษตรประเภทหนึ่งที่มีโอกาสที่จะเติบโต โดยเฉพาะประเภทข้าวสี ข้าวกล้อง เนื่องจากอุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการและเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคชาวไทยและต่างประเทศ ดังนั้น อุตสาหกรรมข้าวไทยควรมีการพัฒนาเรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรมในข้าวอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดความก้าวล้ำเหนือคู่แข่งพร้อมสร้างมิติใหม่ให้กับวงการการค้าข้าวในตลาดโลก”

รศ.ดร.วีระพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ปัจจัยท้าทายในการพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวอาจไม่ใช่เรื่องคู่แข่งเป็นอีกต่อไป แต่แนวทางที่สำคัญคือ ต้องทำอย่างไรให้ผู้บริโภครู้จักสินค้าข้าวที่เป็นนวัตกรรม ต่อเนื่องถึงการสร้างแบรนด์สินค้าให้เป็นที่รู้จัก พร้อมสร้างสินค้าให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในชีวิตประจำวันได้อย่างลงตัว เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้ ในการพัฒนานวัตกรรมข้าวนั้น ผู้ประกอบการ นักวิจัย และเกษตรกรต้องมองให้นอกเหนือจากสินค้าเพื่อการบริโภคเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องขยายสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตที่ครบทุกมิติ เช่น อาหารฟังก์ชั่น เครื่องสำอาง การแพทย์และความงาม ยารักษาโรค และยังต้องสร้างผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวที่มีมูลค่าสูง โดยเน้นใน 4 ด้าน ได้แก่ เกษตรดิจิทัล เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว และเกษตรกรรมยั่งยืน



อย่างไรก็ดี เพื่อให้อุตสาหกรรมข้าวและการเกษตรมีทิศทางการเติบโตที่ดีมากขึ้น
NIA จึงมุ่งสนับสนุนความสามารถทางนวัตกรรมให้กับกลุ่มเกษตรกร นักวิจัย ผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐ – เอกชน ผ่านศูนย์สร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมการเกษตร (Agro Business Creative Center : ABC center) ซึ่งมุ่งหวังให้เกิดการไต่ระดับพัฒนาการทางนวัตกรรมด้วยเครื่องมือหลากหลายรูปแบบที่ได้รับการออกแบบอย่างเป็นระบบ โดยตั้งเป้าที่จะพลิกโฉมการเกษตรของประเทศจากเกษตรดั้งเดิมไปสู่เกษตรนวัตกรรม พร้อมยกระดับให้คุณภาพชีวิตของเกษตรกรและอุตสาหกรรมการเกษตรให้มีประสิทธิภาพที่ดีกว่าเดิม

นอกจากนี้ ยังเป็นแนวทางในการเพิ่ม AgTech Startup (สตาร์ทอัพด้านการเกษตร) ให้เพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย ซึ่งการเพิ่มขึ้นของสตาร์ทอัพด้านการเกษตร ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่จะช่วยสร้างทั้งมูลค่าและโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ทั้งยังเปรียบเสมือนการเชื่อมโยงตั้งแต่การดูแลต้นพืชที่เริ่มปลูกในไร่ให้มีคุณภาพที่ดีไปจนถึงมือผู้บริโภค”

ด้าน นายเตชพล ฐิตยารักษ์ รองเลขาธิการมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า “ที่ผ่านมามูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ NIA ได้ร่วมกันจัดการประกวดรางวัลนวัตกรรมข้าวไทยเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบันซึ่งก้าวสู่ปีที่ 13 เพื่อคัดเลือกผลงานนวัตกรรมข้าวไทยที่มีความโดดเด่นและมีศักยภาพสูงในการพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ทั้งในรูปแบบผลิตภัณฑ์ และกระบวนการผลิต ในปัจจุบันคนไทยเริ่มตื่นตัวมากขึ้นกับการคิดค้นและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จากโดยเฉพาะจากข้าว ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ดีมากและควรได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนให้เพิ่มขึ้น เพื่อสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้เข้มแข็งและยั่งยืน

ดังจะเห็นได้จากผลงานตัวอย่างที่นำมาแสดงให้ทุกท่านได้ชมคือการนำเอาองค์ความรู้มายกระดับอุตสาหกรรมการผลิตข้าวที่ไม่ต้องใช้สารเคมีในการกำจัดมอดและไข่มอด ผู้บริโภคข้าวก็จะมีความเชื่อมั่นว่ารับประทานข้าวแล้วไม่มีสารเคมีตกค้าง ไม่ใช้เฉพาะผู้บริโภคคนไทยยังสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวต่างชาติด้วย

สำหรับรางวัลนวัตกรรมข้าวไทย แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรม และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน โดยใช้เกณฑ์การตัดสินความเป็นนวัตกรรมของผลงาน การสร้างมูลค่าเพิ่มของข้าวไทย และศักยภาพในการพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ ผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจะได้รับโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัล 80,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง และอันดับสองได้เงินรางวัล 40,000 บาท และ 20,000 บาท ตามลำดับ และรางวัลชมเชยจำนวน 2 รางวัล รางวัลละ 10,000 บาท สำหรับในปีนี้ จะเริ่มเปิดรับสมัครตั้งแต่ 1 เมษายน – 31 กรกฎาคม 2562

ขณะที่ ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า “การพัฒนาและติดตั้เครื่องกำจัดมอดและไข่มอดด้วยคลื่นความถี่วิทยุ เป็นการดำเนินงานร่วมกันระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนา NIA  มช. และบริษัท ยนต์ผลดี จำกัด โดยหลักการทำงานโดยประยุกต์ใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในช่วงคลื่นความถี่วิทยุ (RF) ที่ 27.12 MHz สร้างการสั่นสะเทือนเป็นจำนวนล้านๆ ครั้งในเวลาหนึ่งวินาที ทำให้เกิดความร้อนสูงขึ้นในระยะเวลาอันสั้น โดยคณะวิจัยนำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุชาดา เวียรศิลป์ คณะเกษตรศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้นำหลักการดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ในการกำจัดแมลงและไข่แมลงในข้าวสาร เช่น มอด เพลี้ย เป็นต้น ซึ่งพบว่าการใช้คลื่น RF ที่อุณหภูมิ 55-60 C ในระยะเวลาอันสั้น (2-3 นาที) นั้น สามารถกำจัดแมลงและไข่แมลงที่ปนเปื้อนอยู่ภายในข้าวสารได้ และเรียกกระบวนการของเทคโนโลยีนี้ว่า “UTD RF (Uniform Thermal Distribution of Radio Frequency) จึงได้ทำการติดตั้งเพื่อใช้งานจริง ณ โรงสีข้าวมูลนิธิชัยพัฒนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ภายใต้โครงการ “แปลงเทคโนโลยีเป็นทุน” ในวงเงินไม่ 1,500,000.-บาท และบริษัท ยนต์ผลดี จำกัด สนับสนุนสมทบอีกจำนวน 1,600,000 บาท พร้อมทั้งเป็นผู้ดำเนินการติดตั้งจนแล้วเสร็จสามารถใช้งานได้จริง ซึ่งมีกำลังการผลิตที่ 1 ตันข้าวสารต่อชั่วโมง”

สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 020175555 เว็บไซต์ www.nia.or.th หรือ facebook.com/niathailand