ใกล้เป็นจริง!?! นโยบาย พปชร.หาเสียงไว้ “ค่าแรงขั้นต่ำ 400/อาชีวะเงินเดือน 1.8 หมื่น/ป.ตรี 2 หมื่น”

นโยบาย พปชร.
นโยบาย พปชร.

ใกล้เป็นจริง!?! นโยบาย พปชร.หาเสียงไว้ “ค่าแรงขั้นต่ำ 400/อาชีวะเงินเดือน 1.8 หมื่น/ป.ตรี 2 หมื่น”

จากกรณีพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ออกมาชูนโยบาย “ให้ทุกคนรวยอย่างมั่นคง ยั่งยืน” รวมทั้งจะดูแลค่าแรงงานขั้นต่ำ เป็น 400-425 บาทต่อวัน ค่าจ้างอาชีวะ 18,000 บาทต่อเดือน ค่าจ้างปริญญาตรี 20,000 บาท ซึ่งช่วงเวลานั้นต้องยอมรับว่าได้รับกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

โดยในมุมนักวิชาการด้านการตลาด อย่าง คุณพลชัย เพชรปลอด อาจารย์พิเศษ มหาวิทยาลัยศิลปากร อดีตผู้บริหารการตลาด กลุ่มธนบุรีประกอบรถยนต์ เคยกล่าวถึงกรณีดังกล่าวไว้ว่า  การประกาศไว้ หาก พปชร. ได้เป็นรัฐบาล จะมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 300 บาท เป็น 400-425 บาทนั้น  คือ การผลักภาระให้นายจ้าง ในฐานะคนเกี่ยวข้องกับธุรกิจคงไม่ปลื้ม คนได้ค่าแรงคงชื่นชอบ แต่อย่าลืมว่า ค่าแรงขึ้น ต้นทุนสินค้าก็ขึ้น ของจะแพงขึ้น ค่าครองชีพวิ่งหนีไปไกลกว่าเดิมอีก

“ค่าแรงขั้นต่ำไม่ใช่เงินของรัฐบาล เป็นเงินของเอกชน ที่ถูกมัดมือชกด้วยกฎหมาย ฉะนั้น รัฐควรไปหาวิธีทำให้ค่าครองชีพลดลง ทำให้คนค้าขายได้คล่องจะดีกว่า หากทำได้กลไกการขึ้นค่าแรงก็จะเป็นธรรมชาติ ถ้าธุรกิจดี ธุรกิจต้องการคนเก่ง ค่าแรงจะขึ้นตามความเก่ง ตามฝีมือแรงงานเอง” คุณพลชัย กล่าว

และยังบอกอีกว่า ส่วนนโยบายปริญญาตรี จบให้ได้รับเงินเดือน 20,000 บาทนั้น เขามองว่า เด็กใหม่ ยังทำอะไรไม่เป็นเลย คนทำงานเก่า คงพลอยเซ็ง ใหม่มาค่าตัวแพงกว่า แต่ทำงานกระจอกกว่าเยอะ ส่วนเจ้าของกิจการ นอกจากจะต้องจ่ายค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มแล้วยังต้องปรับเงินคนเก่าทั้งระบบ จะไม่ให้เครียดได้ยังไงไหว

“เท่าที่เห็นนโยบาย พปชร. มีแต่จะให้โน่นให้นี่คนรายได้น้อย แล้วเงินที่จะให้มาจากไหน ไม่เคยได้ยินชัดๆ ถ้าฝากได้ อยากบอกพรรคการเมืองนี้ว่า อย่าแจกนักเลย รัฐควรทำสาธารณูปโภคพื้นฐานให้ดี ช่วยสร้างโอกาสทางการตลาด ช่วยให้มีระบบการศึกษาที่ดี สาธารณสุขพื้นฐานที่ดี เพื่อปล่อยให้กลไกธุรกิจเดินไปด้วยตัวของมันเอง อย่าอุ้มจนคนเป็นง่อย หรือถ้าอยากแจกจริงๆ ควรลงไปศึกษาให้จริงจังหรือเปล่าว่าเขาจนเพราะอะไร แล้วแยกกลุ่มคนจนให้ชัดตามสาเหตุ เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุด” นักการตลาดอาวุโส ทิ้งท้ายไว้ครั้งนั้นแบบจริงจัง

อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้เผยผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ภาคการค้าและบริการ จำนวน 1,400 วิสาหกิจทั่วประเทศ เกี่ยวกับเรื่อง “การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ มีผลต่อกิจการอย่างไร” พบว่า ผู้ประกอบการมีความเห็นว่า ไม่มีผลกระทบร้อยละ 14.75 โดยให้เหตุผลว่า ปกติได้จ่ายค่าจ้างมากกว่าค่าจ้างขั้นต่ำอยู่แล้ว หรือ ไม่มีการจ้างงานหรือทำกันเองภายในครอบครัว

จำนวนผู้ประกอบการ ที่มีความเห็นว่า หากมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำธุรกิจจะได้รับผลกระทบในด้านต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 62.61 กำไรลดลง ร้อยละ 10.91 ยอดขายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.59 และได้แรงงานที่มีประสิทธิภาพร้อยละ 1.13 และธุรกิจจะสามารถแบกรับต้นทุนได้ ร้อยละ 79.55 และไม่สามารถแบกรับต้นทุนได้เลย ร้อยละ 20.45

ซึ่งผู้ประกอบการที่ตอบว่าแบกรับต้นทุนไม่ได้ จะดำเนินการดังต่อไปนี้

  1. ลดการจ้างงาน ซึ่งมีผู้ตอบ ร้อยละ 70.0
  2. ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น มีผู้ตอบ ร้อยละ 20.8
  3. ตอบอื่นๆ เช่น เพิ่มราคาสินค้า ลดต้นทุน เพิ่มชั่วโมงการทำงาน มีผู้ตอบ ร้อยละ 9.2

โดยผู้ประกอบการมีความเห็นว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน ซึ่งมีผู้ตอบว่าช่วยได้มาก ร้อยละ 65.3 ช่วยได้น้อย ร้อยละ 22.3 และไม่สามารถช่วยได้เลย ร้อยละ 12.3