ใครบอกอุตสาหกรรมการพิมพ์กำลังจะตาย แค่เปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมการผลิตรูปแบบใหม่

เปลี่ยนทัศนคติใหม่เดี๋ยวนี้!! ใครที่คิดว่า “อุตสาหกรรมการพิมพ์กำลังจะตาย” ไปฟังจากปากนักธุรกิจ แค่เปลี่ยนจากผลิตหนังสือพิมพ์ และนิตยสาร ไปสู่อุตสาหกรรมการผลิตรูปแบบใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ หรือดิจิตอลแพ็กเกจจิ้ง

ณ วันที่ยุคสมัยเปลี่ยนผ่าน พร้อมกับเทคโนโลยีดิจิตอลก้าวเข้ามามีบทบาทต่อไลฟ์สไตล์การดำเนินชีวิต สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ นั่นคือ การชะลอตัวของสิ่งพิมพ์ แม้สถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการพิมพ์ทั่วโลก แต่ภาพรวมอุตสาหกรรมการพิมพ์ มีแนวโน้มเติบโตแข็งแกร่งต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยมาจากการเปลี่ยนแปลงการใช้งานเทคโนโลยีการพิมพ์ จากการผลิตหนังสือพิมพ์ และนิตยสาร ไปสู่อุตสาหกรรม การผลิตรูปแบบใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ และยังมองเห็นการปรับตัวเชิงบวกสำหรับผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่วงการอุตสาหกรรมจากทั่วโลก

นางสาวเบียทริซ เจ โฮ ผู้อำนวยการโครงการ “แพ็ก พริ้นต์ อินเตอร์เนชั่นแนล 2019” โดย เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย (เอ็มดีเอ) กล่าวว่า อุตสาหกรรมการพิมพ์ยังไม่ตาย และยังคงสร้างมูลค่าได้อย่างมหาศาล แม้จะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของธุรกิจสิ่งพิมพ์อย่างหนังสือพิมพ์ และนิตยสาร แต่เมื่อพิจารณาห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมแล้ว กลับเปลี่ยนผ่านการใช้งานไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหลักอย่าง บรรจุภัณฑ์ ที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีการพิมพ์เข้ามาเกี่ยวข้องตลอดวงจรการผลิต ซึ่งในระดับมหภาคทั่วโลกแล้ว ยังพบ 3 ปัจจัยสนับสนุน ที่จะส่งผลให้อุตสาหกรรมการพิมพ์เองยังคงสดใส และสนับสนุนให้มีการเติบโตในระยะยาว ได้แก่

  1. ดิจิตอลแพ็กเกจจิ้ง กับโอกาสเติบโตของอุตสาหกรรมการพิมพ์

ดิจิตอลดิสรัปชั่น มีอิทธิพลต่อทุกอุตสาหกรรม ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมการพิมพ์และการบรรจุภัณฑ์ ปัจจุบันกระแสดิจิตอลแพ็กเกจจิ้ง เป็นที่ต้องการใช้งานในตลาดบรรจุภัณฑ์ทั่วโลก การจะได้มาซึ่งการผลิตดังกล่าว เทคโนโลยีการพิมพ์ที่มีศักยภาพจึงเป็นหัวใจสำคัญ โดยจากรายงานบทวิเคราะห์แนวโน้มการพิมพ์ดิจิตอลสำหรับบรรจุภัณฑ์ ของสมิธเธอร์ส ไพร่า (Smithers Pira) พบว่าตลาดบรรจุภัณฑ์ดิจิตอล กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยคาดการณ์อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 13% ต่อปี หรือจะมีมูลค่าสูงราว 7.01 แสนล้านบาทไทย (2.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ) ภายในปี 2565 โดยกลุ่มวัสดุที่มีแนวโน้มเติบโตสูง ได้แก่ กระดาษลูกฟูก บรรจุภัณฑ์อ่อนตัว บรรจุภัณฑ์แบบไดเร็กต์ ทู เชป (Direct-to-shape) และโลหะ สะท้อนโอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรมต้นน้ำอย่างอุตสาหกรรมการพิมพ์ ผ่านการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่

  1. การลงทุนเทคโนโลยีการพิมพ์เพื่อการผลิต

รายงานสถานการณ์การลงทุนเทคโนโลยีการพิมพ์ จากงานดรูป้า (Drupa) มหกรรมเทคโนโลยีการพิมพ์ระดับโลก เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา พบว่า ด้านโรงงานผู้ผลิตทั่วโลก ให้ความสำคัญกับการลงทุนเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดีมานด์ของตลาดการใช้งาน และเพื่อสร้างศักยภาพในการผลิตรูปแบบใหม่ๆ ที่จะเพิ่มขึ้นในปี 2562 อาทิ บรรจุภัณฑ์ (เครื่องพิมพ์ออฟเซตชนิดป้อนแผ่น 27% และเครื่องพิมพ์เฟล็กโซ 25%) โฆษณา (เครื่องพิมพ์พร้อมตัดดิจิตอลโทนเนอร์ 29% และเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทหน้ากว้างชนิดพร้อมตัวตัดและม้วน 19%) และการพิมพ์เฉพาะทาง (เครื่องพิมพ์พร้อมตัดดิจิตอลโทนเนอร์ 27% และเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทหน้ากว้างชนิดพร้อมตัวตัดและม้วน 23%) ซึ่งนับว่าเป็นสัญญาณการลงทุนในอุตสาหกรรมการพิมพ์ที่ยังคงสดใส และไม่หยุดนิ่ง

  1. เทรนด์สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรม

ความต้องการใช้งานบรรจุภัณฑ์สำหรับกลุ่มผู้บริโภคมีความหลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบรรจุภัณฑ์ หรือฉลากที่สวยงาม แปลกใหม่ ใช้งานง่าย ทนทาน ฯลฯ นวัตกรรม และโซลูชั่นในการพิมพ์และการบรรจุภัณฑ์จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัย ที่โรงงานผู้ประกอบการยังคงให้ความสำคัญ เพื่อตอบโจทย์ตลาดมากยิ่งขึ้น ทั้งระยะเวลาการผลิตไวขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น รวมถึงกระบวนการผลิตแบบใหม่ๆ ที่สามารถเข้าถึงได้ โดยช่วงที่ผ่านมาพบว่า การพิมพ์นูนแบบดิจิตอล ได้รับการประยุกต์ใช้ในการพิมพ์ตราฉลากมากขึ้นถึงร้อยละ 11.9 ในปี 2560 ตลอดจนการพิมพ์รูปแบบอื่นๆ ที่ได้รับการนำเข้ามาใช้เพื่อการผลิตยุคใหม่

พฤติกรรมการใช้จ่ายออนไลน์ ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้อุตสาหกรรมการพิมพ์และการบรรจุภัณฑ์ยังคงเติบโต โดยไม่ว่าจะเป็นสินค้าประเภทอาหาร และเครื่องดื่ม ไปจนถึงผลิตภัณฑ์ใช้งานในชีวิตประจำวัน ที่ผู้บริโภคต้องได้รับการส่งถึงหน้าประตูบ้านนั้น ล้วนต้องการใช้แพ็กเกจจิ้งทั้งสิ้น ทั้งนี้ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในปัจจุบัน นับว่าเป็นตลาดการพิมพ์บรรจุภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุด โดยมีสัดส่วนรายได้สูงถึง 42% และคาดว่าจะมีความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์สูงถึง 40% ในปี 2565 ขณะที่ข้อมูลล่าสุด จากสมาคมการพิมพ์ไทย และสมาคมการบรรจุภัณฑ์ พบว่า มูลค่าอุตสาหกรรมการพิมพ์และการบรรจุภัณฑ์ไทย ปี 2561 มีมูลค่าร่วม 3 แสนล้านบาท โดยคิดเป็นอุตสาหกรรมการพิมพ์ 1.2 แสนล้านบาท การบรรจุภัณฑ์ 1.8 แสนล้านบาท และมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 ในตลาดการพิมพ์ และร้อยละ 10-20 ในตลาดบรรจุภัณฑ์

อย่างไรก็ดี นวัตกรรม และเทคโนโลยีสมัยใหม่ จะเป็นข้อท้าทายหนึ่งที่สร้างการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมในประเทศ เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย จึงร่วมมือกับสมาคมการพิมพ์ไทย และสมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย เตรียมจัดงาน “แพ็ก พริ้นต์ อินเตอร์เนชั่นแนล 2019” มหกรรมจัดแสดงเทคโนโลยีสำหรับอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ที่รวบรวมมาจากกว่า 300 องค์กร 25 ประเทศชั้นนำทั่วโลก เพื่อเร่งการเข้าถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงที่ประเทศไทยกำลังมองหา พร้อมจุดเด่นของงานอย่าง บริการจับคู่ และให้คำปรึกษา ระหว่างคู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะช่วยสร้างข้อได้เปรียบให้กับผู้ประกอบการรายย่อย และอุตสาหกรรมไทยให้เท่าทันโลก สร้างผลลัพธ์การผลิตที่น่าดึงดูด ประหยัดต้นทุน สร้างความยั่งยืนในตลาดโลก ที่มีการแข่งขันในระดับสูงยิ่งขึ้น เบียทริซ กล่าวสรุป

“แพ็ก พริ้นต์ อินเตอร์เนชั่นแนล 2019” มีกำหนดจัดขึ้นระหว่าง 18-21 กันยายน 2562 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.pack-print.de หรือเฟซบุ๊กแฟนเพจ PackPrintInternational