เดินหน้าต่อ! จี้เปิดต้นทุนราคายา เชื่อไม่แพงอย่างที่คิด มั่นใจ รพ.เอกชน ไม่ตาย

กพย. ชี้ประกาศ กกร.แจ้งราคาซื้อขายยา แค่มาตรการช่วยเบื้องต้น เห็นราคาเปรียบเทียบ สเต็ปถัดไปเซ็ตราคาที่เหมาะสม รพ.เอกชน อยู่ได้ แยกค่าอำนวยความสะดวกลงใบเสร็จ   ผู้บริโภคพร้อมจ่ายแม้ราคาไม่ถูกลง เห็นความโปร่งใส

จากกรณีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ออกประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ฉบับที่ 52 พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 พ.ค. โดยกำหนดให้ รพ.เอกชน 353 แห่งแจ้งราคาซื้อขายยาภายใน 45 วัน หากเปลี่ยนแปลงราคายาต้องแจ้งกรมฯ ใน 15 วันก่อนปรับราคา และกำหนดลักษณะใบสั่งยาเพื่อให้ผู้ป่วยนำไปซื้อภายนอกได้

เมื่อวันที่ 31 พ.ค. ผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังพัฒนาระบบยา (กพย.) ในฐานะคณะอนุกรรมการพิจารณามาตรการกำกับดูแลราคายาและเวชภัณฑ์ กล่าวว่า ต้องชื่นชมกรมการค้าภายในที่มีความกล้าหาญในการประกาศ แม้จะถูกสมาคมโรงพยาบาลเอกชนฟ้องร้องอยู่

มาตรการนี้เป็นการสร้างความโปร่งใสให้ประชาชนเข้าถึงราคาเปรียบเทียบว่า ราคายาของ รพ.เอกชนที่หาอยู่ ต่างจากราคายาของ รพ.เอกชนอื่นอย่างไร ซึ่งราคายาที่แจ้งมานั้นเป็นราคาที่บวกต้นทุนด้านอื่นๆ เข้าไปแล้ว

ทำให้ผู้ป่วยมีสิทธิในการวินิจฉัยว่า พร้อมที่จะจ่ายในราคาที่แตกต่างกันขนาดนี้หรือไม่ หรือถ้าไม่อยากจะจ่ายราคาแพงที่ รพ. ก็มีสิทธิเรียกขอใบสั่งยาที่เป็นใบสั่งยามาตรฐาน คือ มีชื่อยา วิธีการใช้ และขนาดยา เพื่อออกไปซื้อจากร้านยาที่มีเภสัชกรข้างนอกได้

ราคาซื้อและขายยาของโรงพยาบาลที่ส่งให้กรมการค้าภายใน จะเห็นว่ามีความแตกต่างตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักหมื่นเปอร์เซ็นต์ ถือเป็นโอกาสดี เพราะที่ผ่านมาแทบไม่มีใครรู้เลย เนื่องจากโอกาสการเข้าถึงข้อมูลไม่มี แต่กรมการค้าภายในใช้อำนาจตามกฎหมายไปใช้เรียกข้อมูล

แต่มาตรการเหล่านี้เป็นมาตรการช่วยเบื้องต้น แต่ยังไปไม่ถึงต้นเหตุ คือ ยาราคาแพง ซึ่งทุกวันนี้มาจากผู้ผลิตหรือไม่ เราไม่สามารถไปดูต้นทุนจริงๆของเขาได้เลย เรามาดูที่กลางน้ำปลายน้ำ คือ ที่ผู้บริโภคได้รับหรือ รพ.จัดซื้อมา

“แต่ถามจริงๆ ว่า ต้นทุนที่ควรจะเป็นคือเท่าไรยังไม่ไปถึง หรือต้นทุนที่ รพ.จัดซื้อมาควรจะบวกกำไรเท่าไร เพื่อจะออกมาเป็นราคาขายให้ผู้บริโภคถึงจะสมเหตุสมผล คือ ไม่เบียดบังผู้ประกอบการและไม่เอาเปรียบผู้บริโภค ก็เรียกร้องให้กรมการค้าภายใน เดินหน้าเรื่องของการควบคุมกำกับราคายาให้มีประสิทธิภาพต่อไป” ผศ.ภญ.ยุพดี กล่าว

เมื่อถามถึงกรณี รพ.เอกชนอ้างว่าอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.สถานพยาบาล ซึ่งกำหนดให้สามารถบวกต้นทุนไปในราคายาได้ ผศ.ภญ.ยุพดี กล่าวว่า พ.ร.บ.สถานพยาบาล กำหนดข้อบังคับท้ายกฎหมายว่า ให้ค่ายารวมอะไรบ้าง ซึ่งก็เห็นด้วยและเป็นหลักการที่ยอมรับได้ เช่น ค่าบริหารจัดการยา เพราะไม่ได้ซื้อแต่เม็ดยา จะต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบ การสั่งซื้อ

มีทั้งเรื่องคน สิ่งของ เครื่องปรับอากาศ ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องที่เข้ามาเป็นต้นทุน ก็บวกตรงนี้เข้าไปได้ แต่ไม่ใช่ข้ออ้างที่จะมาบวกกำไรอย่างมหาศาล แต่การจะขายเท่าไรเป็นอำนาจหน้าที่ของ กกร. ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่ได้กำหนดเลยว่า จะต้องขายกี่บาท แค่เอาราคาทุนกับราคาขายมาเปิดเผยเท่านั้น ทำให้เห็นราคาเปรียบเทียบ

แต่ก็ไม่ได้บอกว่าที่ถูกที่สุดนั้นเหมาะสมหรือยัง แค่บอกว่าราคาถูกที่สุดคือเท่าไร แพงสุดเท่าไร ซึ่งราคาถูกที่สุดอาจแพงกว่าที่ขายในร้านยาก็ได้ จึงไม่รู้ว่าราคาที่เหมาะสมอยู่ที่ไหน จึงเป็นภาระของกระทรวงพาณิชย์ที่ต้องกำกับราคาจริงๆ

เมื่อถามว่า รพ.เอกชนกังวลว่าถ้าเซตราคาอาจอยู่ไม่ได้ ผศ.ภญ.ยุพดี กล่าวว่า เป็นไปไม่ได้ เพราะถ้าอยากมีกำไรก็แยกค่าอำนวยความสะดวกที่เป็นต้นทุนต่างๆ ออกมาจากค่ายาได้ โดยเขียนให้ชัดเจนลงในใบเสร็จเลย เช่น ค่าที่จอดรถ ค่าบริการต่างๆ ในแต่ละขั้นตอน ค่าเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

ค่าอำนวยความสะดวกเหล่านี้ควรแยกออกมาจากราคายาที่บวกค่าบริหารจัดการและต้นทุนอย่างเหมาะสมแล้ว ผู้บริโภคเมื่อตัดสินใจเข้ารพ.เอกชน คือ ตัดสินใจซื้อความสะดวก แปลว่ายินดีที่จะจ่าย แต่ทุกวันนี้มาคิดค่ายาเกินสมควร เป็นสิ่งที่ผู้บริโภครับไม่ได้ แต่ถ้าเขียนบิลแยกออกมาเลย ผู้บริโภคก็ยินดี แม้ว่าสุดท้ายแล้วราคารวมที่จ่ายไปจะไม่ได้ถูกลงจากเดิม แต่จะเห็นความชัดเจนว่า ค่ายาที่ควรจะเป็นจริงๆ คือเท่าไร

เป็นหลักการของความโปร่งใส แบบนี้ก็พอใจแล้ว นอกจากนี้ หากจะขึ้นราคายา ก็สามารถมาแสดงต่อกรมการค้าภายในได้ว่า ขึ้นเพราะอะไร เช่น ซื้อแอร์ใหม่ จ้างเภสัชกรที่มีประสบการณ์ ตนมองว่าที่ รพ.เอกชนกังวลใจ คือ ราคาเปรียบเทียบกัน กลัวว่าจะไม่มาซื้อกับเขา กลัวออกไปซื้อร้านยา แต่ถ้าขายไม่แพงใครจะหนีไปไหน ก็อยากวันสตอปเซอร์วิสอยู่แล้ว

เมื่อถามถึงการร้องสอดเป็นจำเลยร่วม ผศ.ภญ.ยุพดี กล่าวว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการทำคำร้องสอด แต่เชือว่าช่วงต้นเดือน มิ.ย.จะสามารถยื่นร้องสอดได้ เพราะถ้าผลพิจารณาคือเพิกถอนคำสั่ง ผลกระทบตกกับพวกผู้บริโภคโดยตรงทั้งหมด ซึ่งเรายอมไม่ได้ถ้าจะทำให้เรื่องนี้ตกไป ก็เดินหน้าเต็มสตรีม