อภ.-กรมแพทย์แผนไทยฯ เร่งเครื่องผลิต “สารสกัดกัญชา” ให้ผู้ป่วยทดลองใช้

อภ.-กรมแพทย์แผนไทยฯ เร่งเครื่องผลิต “สารสกัดกัญชา” ให้ผู้ป่วยทดลองใช้ ตั้งเป้าภายใน ก.ค.นี้ ด้าน อย.รอเก็บข้อมูลติดตามผลการรักษา

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า หลังจากเปิดให้แจ้งนิรโทษกรรมครอบครองกัญชาตามมาตรา 22 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ ซึ่งหมดเขตเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ตัวเลขผู้แจ้งนิรโทษยังไม่ชัดเจน ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากต้องรอข้อมูลจาก สสจ.ทั่วประเทศด้วย แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่าทั้งหมดจะอยู่ที่ราว 20,000-21,000 ราย

“สำหรับขั้นตอนต่อจากนี้ อย.จะทำหน้าที่ติดตามผลการใช้สารสกัดจากกัญชารักษาผู้ป่วยที่มีข้อบ่งใช้ต่อไป ส่วนหน้าที่ในการตรวจจับผู้ที่ครอบครองโดยผิดกฎหมาย จะเป็นเรื่องของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และตำรวจ ซึ่งจะเน้นที่ไปกลุ่มที่มีไว้เพื่อค้าและเสพ” นพ.สุรโชค กล่าว

 

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวถึงความคืบหน้าการลงทะเบียนใช้กัญชาทางอินเตอร์เน็ต ว่า จากการตรวจสอบข้อมูล มีผู้ลงทะเบียนสำเร็จ จำนวน 31,177 ราย ซึ่งจะต้องไปดำเนินการแจ้งครอบครองกัญชากับ อย. หรือ สสจ. ให้สมบูรณ์อีกครั้ง นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่เข้าเว็บไซต์มาและไม่ได้ลงทะเบียนอีก 139,977 ราย ในจำนวนนี้ส่วนหนึ่งเป็นผู้ป่วยจริง แต่ไม่ได้มีการครอบครองกัญชาอยู่ก่อน จึงไม่สามารถแสดงหลักฐานกัญชาได้ ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญว่า การผลิตผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ในอนาคตจะต้องคำนึงถึงกลุ่มนี้ด้วย

ด้าน นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สธ. กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาตำรับยาเพิ่มเติม 16 ตำรับ ว่า เบื้องต้นได้ทำการนัดหมายกับอาจารย์ แพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ คาดจะมีการพิจารณาเพิ่มเติมนอกจาก 16 ตำรับภายในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมนี้ จากประเภท ข เป็น ก แต่เบื้องต้นในประเภท ข อยู่ระหว่างระหว่างดำเนินการ โดยกรมการแพทย์แผนไทยฯ ยังอยู่ระหว่างขอกัญชาของกลางจาก ป.ป.ส. เพื่อนำมาปรุงตำรับยา ส่วนการจะนำมาใช้ในตำรับใดได้บ้างนั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการ ขณะที่ผู้ที่สามารถสั่งยาได้ ยังเป็นแพทย์แผนไทย แพทย์พื้นบ้าน และแพทย์แผนประยุกต์ ซึ่งมีข้อจำกัดจะต้องได้รับการอบรมเพื่อให้กระบวนการดูแลผู้ป่วยปลอดภัย

นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ

“ขณะเดียวกัน กรมการแพทย์แผนไทยฯ ยังจะทำการเก็บรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงผู้ป่วยภายหลังได้รับการรักษาแล้ว เช่น หากมีผู้ป่วย 100 คน จะมีผู้ป่วยใช้ยารักษาอาการได้ดีขึ้นกี่คน ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย เป็นต้น โดยหากได้ผลศึกษาพบมีประสิทธิภาพที่ดีในการรักษาผู้ป่วยมากกว่า 1,000 ราย จะนำมาขึ้นทะเบียนเป็นตำรับยาแพทย์แผนไทย จากนั้นอาจจะพิจารณาเข้ามาเป็นบัญชียาหลักแห่งชาติเพื่อให้เข้าถึงผู้ป่วยครอบคลุมทุกสิทธิ” นพ.มารุต กล่าวและว่า นอกจากนี้ กรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้รับอนุญาตให้ปลูกกัญชาไปพร้อมกับองค์กรเภสัชกรรม (อภ.) โดยได้มอบหมายให้ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ดำเนินการ แต่ปัจจุบันยังติดเงื่อนไขบางประการทำให้ไม่สามารถเริ่มดำเนินการได้ ขณะเดียวกัน ยังได้ประสานไปยังสภาเกษตรกรแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร (มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร) ซึ่งปัจจุบันเริ่มดำเนินการทำโรงเรือนแล้ว คาดจะขออนุญาตทำการปลูกได้ภายในเดือนกรกฎาคม ส่วนการแก้ปัญหาเพื่อให้ผู้ป่วยได้ใช้อย่างรวดเร็ว โดยได้ติดต่อไปยังป.ป.ส. เพื่อขอของกลางกัญชาเกรดเอวิเคราะห์เป็นกัญชาพันธุ์ไทยและนำมาปรุงเป็นยาแพทย์ไทย เบื้องต้นได้เตรียมโรงพยาบาลในการจัดเตรียมปรุงยาดังกล่าว

นพ.มรุต กล่าวว่า เบื้องต้น ป.ป.ส.ได้ดำเนินการจัดส่งของกลางมาจำนวนหลายล็อต เพื่อให้ตรวจวิเคราะห์ว่าปราศจากสารโลหะหนัก ยาฆ่าแมลง แบคทีเรีย จุลชีพหรือเชื้อราอื่น หากไม่มีการปนเปื้อนก็จะเตรียมเดินหน้าปรุงยาเพื่อผู้ป่วย แต่ถ้าตรวจพบการปนเปื้อนก็ไม่สามารถนำมาปรุงยาได้ โดยกรมการแพทย์แผนไทยฯ คาดหวังให้อย่างน้อยของกลางบางชนิดไม่มีการปนเปื้อนของสารเคมี เพื่อให้ผู้ป่วยได้ใช้ประโยชน์อย่างรวดเร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม ยังประสานไปที่ อย. เพื่อจัดส่งของกลางบางส่วนจากการขอนิโทษกรรมมาวิเคราะห์ด้วย คาดว่าจะสามารถปรุงยาบางตำรับให้ใช้ได้ภายในเดือนกรกฎาคมนี้

“การใช้กัญชาของแพทย์แผนไทย จะได้รับสิทธิพิเศษ คือ สามารถสั่งจ่ายได้โดยไม่ต้องดูเรื่องพิษวิทยา แต่เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด เมื่อผลิตวัตถุดิบหลักกัญชาแล้ว จะส่งวิเคราะห์ทางพิษวิทยาก่อนสั่งจ่าย จากนั้นจะติดตามอาการของผู้ป่วยว่ามีผลดีตอบสนองต่อตำรับยากัญชาหรือไม่” นพ.มรุต กล่าว

ขณะที่ ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการผลิตยาสารสกัดกัญชาว่า ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ จะสามารถผลิตยาจากกัญชาชนิดน้ำมันหยดใต้ลิ้น ประมาณ 2,500 ขวด ขวดละ 5 มิลลิลิตร (มม.) พร้อมจะเปิดให้ผู้ป่วยสมัครเข้าร่วมโครงการวิจัยทางคลินิก หรือผู้ที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อรับสารสกัดกัญชาจาก อภ. สำหรับกลุ่มแรกที่ใช้ได้โดยไม่ต้องผ่านการทดลองทางคลินิก คือ ผู้ป่วยกลุ่มโรคลมชักรักษายาก ซึ่งจะดำเนินการผ่านเครือข่ายแพทย์กลุ่มโรงพยาบาลระบบประสาท กรมการแพทย์ โดยได้มีการประชุมร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคลมชักและทางระบบประสาท เพื่อให้การผลิตยาสารสกัดกัญชาตรงกลุ่มเป้าหมายและมีประสิทธิภาพสูงสุดกับผู้ป่วย

ภญ.นันทกาญจน์ กล่าวว่า น้ำมันกัญชาที่ผลิตจะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีสารทีเอชซี (THC) สูง กลุ่มที่มีสารซีบีดี (CBD) สูง และกลุ่มที่มีทั้ง 2 สาร ในสัดส่วน 1 : 1 โดยส่วนของน้ำมันกัญชาที่มีซีบีดีสูง เบื้องต้นจะใช้ในกลุ่มผู้ป่วยลมชักในเด็ก โดยรูปแบบการจัดการและหลักเกณฑ์ในการใช้ จะมีสถาบันประสาทวิทยาเป็นผู้ดำเนินการ เพื่อเป็นตัวอย่างของโรงพยาบาลอื่นๆ ส่วนน้ำมันกัญชาที่มีสัดส่วนสารหนึ่งต่อหนึ่ง มีแนวโน้มจะใช้ในผู้ป่วยประคับประคอง โดยอยู่ระหว่างการหารือกับสถาบันมะเร็งแห่งชาติ และโรงพยาบาลมะเร็ง 7 แห่ง รวมถึงอยู่ระหว่างการทำข้อตกลงกับสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ในการคัดเลือกผู้ป่วยตามศูนย์มะเร็งต่างๆ ทั่วประเทศเพื่อเข้ารับยาสารกัดกัญชา

“สำหรับราคาของน้ำมันสกัดกัญชาที่ผลิตโดย อภ. อยู่ระหว่างการคำนวณ แต่จะอยู่ที่ระหว่าง 100-200 บาท ต่อ 1 มม. ซึ่งเป็นราคาใกล้เคียงกับต่างประเทศและตลาดใต้ดิน” ภญ.นันทกาญจน์ กล่าว