“ปราจีนบุรี” ขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ เพิ่มพื้นที่ปลูก 1.5 หมื่น ไร่ ชูต้นแบบจังหวัดสุขภาพดี

“ปราจีนบุรี” ขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ เพิ่มพื้นที่ปลูก 1.5 หมื่น ไร่ ชูต้นแบบจังหวัดสุขภาพดี

เมื่อเร็วๆนี้ นายแพทย์เสรี ตู้จินดา ประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นายพิบูลย์ หัตถกิจโกศล ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนรวม 29 หน่วยงาน ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ และโครงการโรงพยาบาลอาหารปลอดภัยจังหวัดปราจีนบุรี

นายแพทย์เสรี ตู้จินดา

นายแพทย์เสรี กล่าวว่า ปัจจุบันแนวโน้มการบริโภคสินค้าอินทรีย์ หรือ Organic มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็น     เทรนด์ของโลก ส่งผลให้สินค้าเกษตรอินทรีย์มีอัตราการเติบโตสูงเพิ่มขึ้นด้วย อีกทั้งนโยบายเกษตรอินทรีย์ เป็นประเด็นในความสำคัญของร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2561) ในยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข ยังให้การส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย เพื่อให้สถานบริการสาธารณสุขมีการบริหารจัดการความปลอดภัยด้านอาหารให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งอาหาร เป็นหนึ่งในปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต การบริโภคอาหารที่ไม่สะอาด เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคภัยไข้เจ็บ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมตรวจสอบคุณภาพความปลอดภัยของอาหารทุกกระบวนการ เป็นภารกิจสำคัญที่หน่วยงานจะต้องร่วมกันดำเนินการเพื่อให้ผู้รับบริการภายในโรงพยาบาลได้บริโภคอาหารที่สะอาด ปลอดภัย ปราศจากสารพิษ และสารปนเปื้อน

ด้าน นายพิบูลย์ หัตถกิจโกศล ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า จังหวัดปราจีนบุรี ถูกยกให้เป็นหนึ่งในสี่จังหวัดนำร่องเมืองสมุนไพรของประเทศ เป้าหมายเพื่อให้เป็นจุดหมายของการดูแลสุขภาพด้วยสมุนไพรและแพทย์แผนไทยอย่างครบวงจร ตั้งแต่การเป็นแหล่งวัตถุดิบชั้นยอดปลอดสารเคมี และ การให้บริการสุขภาพแผนไทยที่มีมาตรฐานและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ปัจจุบันจังหวัดปราจีนบุรี มีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ ประมาณเกือบ 5,000 ไร่ ชนิดสินค้าอินทรีย์ที่สำคัญ ได้แก่ พืชผัก สมุนไพร ผลไม้ ข้าว และสัตว์น้ำจืด จากความสำคัญของการส่งเสริมพื้นที่การเกษตรด้านเกษตรอินทรีย์ จึงมีแผนเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ในจังหวัดเป็น 15,000 ไร่ ภายในปี 2564 และส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงผลผลิต เพิ่มผู้บริโภคเกษตรอินทรีย์ โดยเฉพาะ โรงพยาบาล สถานศึกษา ร้านอาหาร และผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 2

ด้านนายแพทย์นำพล แดนพิพัฒน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า จากการที่ กระทรวงสาธารณสุข เห็นชอบและส่งเสริมการดำเนินงานโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย โดยตระหนักถึงความปลอดภัยของสุขภาพผู้ป่วยและผู้รับบริการภายในโรงพยาบาล ด้วยเชื่อว่าการบริโภคอาหารเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีสุขภาพดี มีการวิจัยหลายชิ้นที่ชี้ให้เห็นว่า สารปนเปื้อนที่อยู่ในอาหารมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคมะเร็ง ในโรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยมานอนพักรักษาตัว จึงต้องยิ่งให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้ การคัดสรรอาหารปลอดภัย วัตถุดิบเกษตรอินทรีย์ เราจึงพยายามให้เกิดประโยชน์สูงสุด คือ ทั้งผู้ป่วย และผู้ขาย โดยเราเลือกซื้อจากกลุ่มเกษตรกรภายในพื้นที่ มุ่งหวังให้เกิดความมั่นคงด้านอาหารในระดับพื้นที่ และอยากให้มีโมเดลแบบนี้ในทุกจังหวัดเพื่อให้เกิดการพัฒนาในระดับฐานราก

ทั้งนี้โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้เริ่มใช้วัตถุดิบเกษตรอินทรีย์ประกอบอาหารให้กับผู้รับบริการและบุคคลากรในโรงพยาบาลตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2561 จนถึงปัจจุบัน โดยมีการซื้อขายล่วงหน้ากับเกษตรกรในพื้นที่ ทำให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นกับเกษตรกรประมาณ 3,025 บาท/ครัวเรือน และได้ดำเนินการจัดทำสัญญาซื้อขายแบบประกันราคาล่วงหน้า กับ สหกรณ์เกษตรอินทรีย์ปราจีนบุรี จำกัด โดยมีอายุสัญญาตั้งแต่ วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 – วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2563 มูลค่ารับซื้อ 2,234,650 บาท ซึ่งนับเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกในประเทศไทยที่มีการซื้อขายผลผลิตเกษตรอินทรีย์กับเกษตรกร 100 %

สำหรับการร่วมมือการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ครั้งนี้คาดว่าจะสามารถช่วยให้ประชาชนเข้าถึงอาหารปลอดภัย ส่งเสริมระบบนิเวศวิทยา ลดปัญหาการเจ็บป่วยจากการบริโภค ทำให้มีทรัพยากรมนุษย์ที่มีผลิตภาพสูงเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน