หมอจุฬาฯ ขอพวกมือไม่พาย หยุดวิพากษ์วิจารณ์ “กัญชาทางการแพทย์” หวั่นประเทศไม่เดินหน้า

หมอจุฬาฯ ขอพวกมือไม่พาย หยุดวิพากษ์วิจารณ์ “กัญชาทางการแพทย์” หวั่นประเทศไม่เดินหน้า

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย กล่าวถึงการผลักดันให้นำพืชกัญชา ซึ่งเป็นสารเสพติดให้โทษตามกฎหมาย มาใช้ในทางการแพทย์ เพื่อบำบัดรักษาผู้ป่วยบางกลุ่มโรค ซึ่งล่าสุดองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมการแพทย์ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ตลอดจนนักวิชาการจากสถาบันต่างๆ เตรียมจะนำสารสกัดกัญชาเมดิคัล เกรด ชนิดหยด จำนวน 2,500 ขวด ที่ อภ.ผลิตได้ล็อตแรกมาทดลองใช้กับผู้ป่วยใน 4 กลุ่มโรคที่มีข้อบ่งใช้ภายในเดือกรกฎาคมนี้ ว่า ตลอด 1 ปี ที่หน่วยงานด้านการแพทย์ทั้งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สถาบันการศึกษา แพทยผู้เชี่ยวชาญ ได้ร่วมมือกันศึกษาวิจัยและพัฒนาพืชกัญชาเพื่อใช้ในทางการแพทย์ ได้ข้อสรุปค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า กัญญา ณ วันนี้ คือยา ดังนั้น ถ้าคนป่วยที่ใช้อยู่ได้ประโยชน์อยู่แล้วก็ไม่ต้องจัดการ หรือไปจับกุมใดๆ ส่วนผู้ป่วยใหม่ที่มีแนวโน้มจะต้องใช้ในอนาคต เป็นหน้าที่ของแพทย์ เภสัชกร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความรู้เกี่ยวกับข้อจำกัดในการใช้ ตลอดจนผลข้างเคียงจากการใช้ และต้องขยายการให้ความรู้ไปถึงประชาชนที่ไม่เคยมีความรู้ในประโยชน์ทางการแพทย์ของกัญชาด้วย

“ณ วันนี้ กัญชาคือยา แต่ยังต้องมีการวิจัยต่อยอดเพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ป่วยและประเทศชาติ ไม่ควรไประรานผู้ป่วยที่ใช้กัญชาเพื่อการบำบัดอยู่แล้ว สำหรับกลุ่มที่ไม่เคยเห็นใจในความทุกข์ยากของผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้กัญชาในการบำบัด เยียวยา ก็ไม่ควรแสดงความคิดเห็นใดๆ ในเรื่องนี้ เพราะจะยิ่งทำให้ความก้าวหน้าในการใช้กัญชาทางการแพทย์ของประเทศไทยเชื่องช้ากว่าที่ควร” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวและว่า ทั้งนี้ คนที่จะวิจารณ์เรื่องนี้ควรมีความรับผิดชอบต่อสังคมและต้องมีความรับผิดชอบกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยซึ่งขณะนี้ได้รับประโยชน์จากการใช้กัญชาเป็นยาด้วย