ฝีมือขั้นเทพ! ปู่วัย 93 อดีตช่างปั้นโอ่งราชบุรี ประดิษฐ์ไก่จากขยะขวดพลาสติกขาย

ปู่วัย 93 อดีตช่างปั้นโอ่งมังกรแห่งลุ่มน้ำแม่กลอง นำขวดพลาสติกมาประดิษฐ์เป็นไก่ไทยสายพันธุ์ต่างๆ สวยแถมราคาถูก ได้แรงบันดาลใจจากไก่ทรงเลี้ยงของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง

เมื่อวันที่ 17 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ไก่แจ้สายพันธุ์ไทยและสายพันธุ์ญี่ปุ่น ไก่โต้ง ไก่ชน เหล่านี้ ดูลักษณะเหมือนกับมีชีวิตที่กำลังสยายปีก สยายหาง ทั้งหางตั้งที่บ่งบอกถึงไก่แจ้สายพันธุ์ญี่ปุ่น ส่วนหางโง้งลงเป็นสายพันธุ์ไทย ทั้งตัวผู้และตัวเมียที่มีสีสันสวยงาม เป็นผลงานการประดิษฐ์ของ นายสมบัติ ปุยอ๊อก คุณปู่วัย 93 ปี ชาวตำบลโคกหม้อ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี อดีตช่างปั้นและเขียนลายโอ่งมังกร แห่งลุ่มแม่น้ำแม่กลอง เมืองราชบุรี หรือรุ่นบุกเบิกความรุ่งเรืองของโอ่งมังกรราชบุรี

ก่อนจะยอมถอยอำลาอาชีพที่ทำมาชั่วทั้งชีวิตที่ยาวนานกว่า 74 ปี ด้วยความถดถอยของสังขารตัวเอง ได้วางดินปั้นโอ่งและเขียนลายมังกรบนโอ่ง กลับมาอยู่บ้านกับครอบครัว เปิดร้านขายของชำและใช้เวลาว่างนำขวดโพลาริสพลาสติกที่เหลือใช้มาแปรรูปให้เป็นไก่แจ้และไก่ชน ที่หลายๆ คนเห็นแล้วต้องยิ้ม เพราะเสมือนไก่ของคุณปู่ทุกตัวมีชีวิต

จากการตัดการประดิษฐ์ที่คุณปู่ได้ใส่ใจลงไปทุกขุมขน เก็บทุกรายละเอียด ทั้งสรีระทรวดทรงที่อ่อนไหวสมจริง นับเป็นภูมิปัญญาของความเป็นไทย ที่ควรคู่แก่การอนุรักษ์ไว้ เพราะหากถึงวันที่คุณปู่ต้องลาลับกลับไม่มีใครมาสืบทอดก็จะสูญไปเหลือไว้แต่ความทรงจำ

ที่บริเวณหน้าบ้านซึ่งอดีตเคยเป็นร้านค้าขายของชำและก๋วยเตี๋ยว เมื่อประมาณ 15 ปีก่อน ปัจจุบันเป็นที่รวมตัวพบปะกันของเพื่อนฝูงที่มีอายุคราวเดียวกัน 85-93 ปี ที่เหลืออยู่เพียง 3-4 คน โดยเฉพาะคุณปู่สมบัติ ที่มีอายุมากที่สุดเป็นเจ้าของบ้าน และเป็นเจ้าของผลงาน “ไก่แจ้และไก่ชน” ที่ประดิษฐ์มาจากขวดพลาสติกเหลือใช้ มาวางจำหน่ายให้กับผู้ที่ชื่นชอบนำไปเป็นของที่ระลึก ของประดับตกแต่งบ้าน และไก่สำหรับแก้บน

ปู่สมบัติ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ไก่แจ้และไก่ชนทั้งหมดเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ทำมาจากขวดน้ำโพลาริสพลาสติกที่เหลือใช้ โดยก่อนที่จะมาทำเดิมเป็นชาวกรุงเทพมหานคร อยู่ย่านฝั่งธนบุรี และย้ายถิ่นฐานตามพ่อและแม่มาด้วยการล่องเรือตามแม่น้ำ จนกลายเป็นคนราชบุรี และเป็นลูกคนโตจากพี่น้อง 8 คน และเรียนจบเพียงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนวัดช่องลม ราชบุรี

จากนั้นก็มาช่วยครอบครัวทำงานหาเงิน ซึ่งพ่อจะเป็นช่างตัดผม ส่วนแม่ขายข้าวเหนียวปิ้งที่ตึกริมเขื่อนแม่น้ำแม่กลอง เขตเทศบาลเมืองราชบุรี ในขณะช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีเหตุการณ์ฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดทำลายสะพานจุฬาลงกรณ์ พ.ศ. 2484 ในขณะนั้นปู่สมบัติมีอายุเพียง 14 ปี หลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 จากนั้นได้สมัครเข้าไปเป็นคนงานของโรงโอ่ง ในขณะนั้นอายุเพียง 19 ปี ทำงานทุกอย่างจนเกิดความสามารถเป็นช่างปั้นโอ่ง และมาเป็นช่างเขียนลายมังกรบนโอ่ง จนอายุได้ 73 ปี จึงตัดสินใจลาออกจากโรงโอ่ง มาเปิดร้านขายของชำอยู่ที่บ้าน ภรรยาจะขายก๋วยเตี๋ยวกับลูก ส่วนปู่สมบัติก็ช่วยงาน ขายของเล็กๆ น้อยๆ ส่วนใหญ่น้ำขวดโพลาริสพลาสติกสีขาวขุ่นขายดีมาก

มาวันหนึ่งเห็นขวดเหล่านี้ที่ลูกค้าทิ้ง จึงนำมาลองดัดแปลงแกะเป็นรูปสัตว์ โมบายปลาตะเพียน จนวันหนึ่งนั่งดูทีวี เห็นไก่แจ้มีรูปร่างสวยจึงได้ถ่ายภาพเก็บเอาไว้ จนได้มาเห็นหนังสือที่มีภาพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็น “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9” ร่วมฉายพระบรมฉายาลักษณ์กับไก่ทรงเลี้ยง ครอบครัวไก่แจ้สายพันธุ์ไทย ปู่สมบัติจึงตัดเก็บเอาไว้ และนำมาเป็นแบบเพื่อดูลักษณะรูปร่าง สีของไก่ ก่อนจะนำมาลองผิดลองถูก ในการขึ้นรูปของไก่แจ้ ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน จึงทำสำเร็จ ด้วยขั้นตอนที่ไม่ยากมากนักใช้ทักษะของความเป็นช่าง การปั้นโอ่ง และการถอดแบบเขียนลาย จนได้ครอบครัวไก่แจ้ทรงเลี้ยง