ฮือฮาทั้งตำบล! หนุ่มชาวประมงจับ ปลาบึกยักษ์ หนักกว่า 143 กิโล ขายได้ราคางาม

ฮือฮา! หนุ่มชาวประมงอุบลราชธานี วางอวนจับ ปลาบึกยักษ์ หนักถึง 143 กิโลกรัม จากแม่น้ำโขง ขายได้เงินกว่าหมื่นบาท ชาวบ้านแห่ซื้อไปทำเมนูเด็ด

ปลาบึกยักษ์ / เมื่อวันที่ 28 เม.ย. ที่ จ.อุบลราชธานี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงนี้สภาพน้ำโขงลดลงอย่างรวดเร็ว และเร็วกว่าทุกปี แต่เป็นผลดีต่อชาวประมงพื้นบ้านที่จับปลาในแม่น้ำโขง โดยล่าสุดพบชาวประมงที่บ้านปากกะหลาง ต.สองคอน อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี ทราบชื่อคือนายโทน สิงห์มุ้ย อายุ 33 ปี สามารถจับปลาบึกขนาดใหญ่ 1 ตัว น้ำหนัก 143 กิโลกรัม ได้ที่บ้านปากกะหลาง จากการวางอวนกลางแม่น้ำโขง ทำให้ชาวบ้านที่ทราบข่าวแห่มาซื้อทำเมนูเด็ดจนหมด เนื่องจากปลาบึกเป็นปลาแม่น้ำโขงแท้ๆ ที่เนื้อมีรสชาติอร่อย เป็นที่นิยมรับประทานและหายาก

นายโทน กล่าวว่า ตนใช้อวนจับปลาในแม่น้ำโขงที่บริเวณหาดสลึง บ้านปากกะหลาง ต.สองคอน โดยขณะออกกู้อวนในตอนเช้า พบมีบางอย่างติดอวนและหนักมากพร้อมลากเรือไปอย่างแรง จึงตะโกนให้เพื่อนชาวประมงที่อยู่รอบข้างมาช่วยกันลากอวนขึ้นฝั่ง และรู้สึกตกใจมาก เมื่อปลาบึกตัวขนาดใหญ่ ชั่งน้ำหนักได้ 143 กิโลกรัม จึงช่วยกันนำขึ้นมาชำแหละขายให้ชาวบ้านที่ทราบข่าวและมาขอซื้อ ขายได้เงินกว่า 14,000 บาท เป็นการเสริมรายได้ในครัวเรือน

ถือว่าโชคดีกว่าถูกหวย เพราะไม่เคยมีชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่บริเวณนี้จับได้มาก่อน ที่ผ่านมาเคยมีชาวประมงจับปลาบึกตัวใหญ่ได้ที่บริเวณหาดสลึง แต่น้ำหนักสูงสุดไม่เกิน 80 กิโลกรัมเท่านั้น นับเป็นครั้งแรกในชีวิตที่หาปลาชนิดนี้ได้ เพราะเป็นปลาที่หายาก นานๆ ทีจะมีชาวประมงจับได้สักครั้งหนึ่ง และเป็นปลาที่มีรสชาติอร่อยและราคาแพงที่สุดของปลาน้ำจืด

นายธนกฤต สายใจ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) อุบลราชธานี เขต อ.โพธิ์ไทร กล่าวว่า ปลาบึกเป็นปลาที่หายากและนิยมของผู้บริโภค เชื่อกันว่าผู้ที่ได้รับประทานแล้วจะมีอายุยืนยาว ร้านอาหารนิยมนำไปผัดเผ็ดผัดฉ่า ต้มยำ และอาหารประเภทลาบ ลวกจิ้ม โดยเฉพาะเนื้อส่วนท้องติดมัน นิยมนำไปทำห่อหมกอีสาน เนื่องจากเนื้อปลาชนิดนี้มีลักษณะคล้ายเนื้อหมูสามชั้น ที่มีชั้นหนัง ไขมันและเนื้อ รสชาติอร่อยมากที่สุดในบรรดาปลาตระกูลหนังโดยเฉพาะปลาธรรมชาติที่ล่าจากแม่น้ำโขง

“ผู้เฒ่าผู้แก่และชาวประมงพื้นบ้านเล่าให้ฟังว่าปลาชนิดนี้ มักจะอาศัยอยู่ตามโขดหินเกาะแก่งกลางแม่น้ำโขง ชอบกินพืชตะไคร่น้ำ และพบว่าเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ที่ผ่านมาชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่จับปลาบึกได้น้อยมาก” นายธนกฤต กล่าว