เปิดตัวผลิตภัณฑ์ต้นแบบจากสารสกัดกัญชา แต่กว่าผู้ป่วยจะได้ใช้…คงอีกนาน

เปิดตัวผลิตภัณฑ์ต้นแบบจากสารสกัดกัญชา แต่กว่าผู้ป่วยจะได้ใช้…คงอีกนาน

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 23 เม.ย. ที่มหาวิทยาลัยรังสิต มีการแถลงข่าว เปิดตัวผลิตภัณฑ์นวัตกรรมต้นแบบจากสารสกัดกัญชา ประกอบด้วย

หนึ่ง – ยาเม็ดเวเฟอร์จากสารสกัดกัญชา โดย เภสัชกร เชาวลิต มณฑล ผู้วิจัย ยาเม็ดเวเฟอร์ที่มีส่วนผสมของสารสกัดกัญชา ให้ข้อมูลว่า ยาเม็ดเวเฟอร์ที่มีส่วนผสมของสารสกัดกัญชา เป็นยาที่สามารถแตกตัวได้อย่างรวดเร็วในช่องปาก ส่งผลให้ยาถูกดูดซึมและออกฤทธิ์ได้เร็วขึ้น การใช้ยาตัวนี้สามารถวางใต้ลิ้นหรือกระพุ้งแก้ม ตัวยาจะดูดซึมผ่านเยื่อบุในช่องปาก โดยไม่ต้องดื่มน้ำตาม จึงเพิ่มความสะดวกแก่ผู้ป่วยในการใช้ยา ดังนั้น ยานี้จึงเหมาะกับผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการกลืนหรือผู้ป่วยที่มีเยื่อบุช่องปากอักเสบ จากการได้รับยาเคมีบำบัด

เภสัชกร เชาวลิต มณฑล ผู้วิจัย ยาเม็ดเวเฟอร์ที่มีส่วนผสมของสารสกัดกัญชา
ยาเม็ดเวเฟอร์ที่มีส่วนผสมของสารสกัดกัญชา

สอง-แคนนาบินอล สเปรย์ฉีดพ่นในช่องปาก โดย ดร.เภสัชกรหญิง อภิรดา สุคนพันธ์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เภสัชกรหญิง สุรางค์ ลีละวัฒน์ ผู้วิจัยผลิตภัณฑ์แคนนาบินอล สเปรย์ฉีดพ่นช่องปาก กล่าวว่า อาการของโรค ความเครียดจากโรคหรือผลกระทบจากการรักษาโรคบางประเภท จะทำให้ผู้ป่วยมีภาวะวิตกกังวล และมีคุณภาพการนอนหลับลดลง ซึ่งส่งผลเสียทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ส่งผลให้ความสามารถในการต่อสู้กับโรค และการฟื้นฟูร่างกายด้อยลง ทีมวิจัยมหาวิทยาลัยรังสิต จึงดำเนินการวิจัยภายใต้โครงการ “การพัฒนาตำรับแคนนาบินอล สเปรย์ฉีดพ่นช่องปากและผลของสารแคนนาบินอลต่อการนอนหลับ” เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ช่วยคลายวิตกกังวล ทำให้นอนหลับได้ดี ส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

แคนนาบินอล สเปรย์ฉีดพ่นในช่องปาก

“สาร CBN เป็นสารสำคัญที่ตรวจพบได้ในกัญชาแห้ง ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสาร THC จากการศึกษาวิจัยที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในระดับนานาชาติ พบว่า สาร CBN มีฤทธิ์ทำให้นอนหลับ นอกจากนี้การใช้ร่วมกับสาร THC จะมีผลส่งเสริมให้การนอนหลับดีขึ้น ทั้งนี้การได้รับยา โดยการรับประทานจะออกฤทธิ์ได้ช้าและตัวยาส่วนใหญ่ถูกทำลายจากตับ ทำให้ร่างกายนำยาไปใช้ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ เพื่อให้ตัวยาสามารถออกฤทธิ์ได้เร็วและมีประสิทธิภาพ จึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบสเปรย์ฉีดพ่นช่องปาก โดยตัวยาสามารถดูดซึมผ่านทางเยื่อบุช่องปากได้ทันที ช่วยลดการถูกทำลายของตัวยาที่ตับ” ดร.เภสัชกรหญิง อภิรดา กล่าว

อาจารย์ ดร.เภสัชกรหญิง อภิรดา สุคนธ์พันธุ์

สาม-น้ำมันกัญชา โดย ผศ.ดร.เภสัชกรหญิง สุชาดา จงรุ่งเรืองโชค และนักวิจัย ลุกมาน สือรี ร่วมกันให้ข้อมูลว่า การคุ้มครองผู้บริโภคที่จะใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันกัญชา จะต้องทำการควบคุมคุณภาพมาตรฐานของน้ำมันกัญชาเช่นเดียวกับยา โดยน้ำมันกัญชา มีสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ คือ THC, CBD และ CBN ดังนั้นทีมผู้วิจัย จึงได้วิเคราะห์หาปริมาณสารสำคัญทั้ง 3 ชนิด ในน้ำมันกัญชาที่สกัดได้ เพื่อให้ทราบถึงปริมาณที่ถูกต้อง แน่นอน เพื่อประสิทธิผลในการรักษา ความปลอดภัยของผู้ป่วย และได้ทำการศึกษาความคงสภาพของน้ำมันกัญชาที่ผลิตได้อีกด้วย

น้ำมันกัญชา

นอกจากนี้ กัญชาเป็นพืชที่สามารถดูดซับโลหะหนักได้ดี ดังนั้นจึงต้องมีการตรวจสอบหาปริมาณสารปนเปื้อนและปริมาณโลหะหนัก รวมถึงการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ โดยข้อกำหนดของผลิตภัณฑ์น้ำมันกัญชาคือจะต้องไม่มีการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ชนิด Staphylococcus aureus ต่อน้ำมันกัญชา 1 กรัม เชื้อจุลินทรีย์ชนิด Clostridium spp. ต่อน้ำมันกัญชา 10 กรัม และเชื้อจุลินทรีย์ชนิด Salmonella spp. ต่อน้ำมันกัญชา 10 กรัม ซึ่งน้ำมันกัญชาตัวนี้ มีคุณสมบัติช่วยกระตุ้นการอยากอาหาร รักษาอาการปลายประสาทอักเสบ นอนหลับยาก และภาวะเครียดหรือซึมเศร้า รวมถึงสามารถใช้รักษาอาการโรคลมชักได้

ผศ.ดร.เภสัชกรหญิง สุชาดา จงรุ่งเรืองโชค

สี่-ตำรับยาประสะกัญชา โดยทีมวิจัย อาจารย์ เภสัชกร ณฐวรรธน์ จันคณา, อาจารย์ แพทย์แผนไทย นิรันดร์ วิพันธุ์เงิน, นักวิจัย ปฐมาภรณ์ ปฐมภาค, อาจารย์สมพร ผลกระโทก, อาจารย์อัญชนา แสนเมือง และอาจารย์นภา บุญมา ร่วมกันให้ข้อมูลว่า กัญชากับคนไทย มีความผูกพันกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ดังปรากฏหลักฐานในตำราพระโอสถพระนารายณ์ที่มีการนำกัญชามาปรุงเป็นยาเพื่อบำบัดรักษาโรค

ตำรับยาประสะกัญชา

สำหรับตำรับยาเข้ากัญชา ทางมหาวิทยาลัยรังสิตได้ขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อนำมาศึกษาวิจัยครั้งนี้ เป็นตำรับยาเข้ากัญชาที่อ้างอิงจากคัมภีร์สรรพคุณ (แลมหาพิกัด) ที่ว่าด้วยสรรพคุณของสมุนไพร และวิธีการนำสมุนไพรมาใช้ประโยชน์ คัมภีร์นี้เป็น 1 ใน 14 คัมภีร์ที่ถูกรวบรวมไว้ในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ฉบับหลวง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์เพื่อใช้ในโรงเรียนราชแพทยาลัย จึงเป็นตำราที่แพทย์ไทยแผนโบราณ ที่ใช้อ้างอิงในการตรวจวินิจฉัย และรักษาอาการป่วยไข้สืบต่อกันมา

ผศ.ดร.เภสัชกรหญิง สุรางค์ ลีละวัฒน์

จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทางทีมวิจัยคัดเลือกตำรับนี้มาศึกษา และสาเหตุที่เรียกชื่อตำรับดังกล่าวว่า ประสะกัญชา นั้น มีที่มาจากปริมาณของเครื่องยากัญชาที่เข้าในตำรับ มีปริมาณครึ่งหนึ่งของเครื่องยาทั้งหมด โดยส่วนประกอบของตำรับยาประสะกัญชานั้น ประกอบด้วย ตรีกฏุก (พริกไทย ดีปลี เหง้าขิงแห้ง) จันทน์ทั้ง ๒ (แก่นจันทน์แดง แก่นจันทน์ขาว) ใบสะเดา ใบคนทีเขมา พริกไทยล่อน และใบกัญชา

สูตรตำรับยาข้างต้น จะช่วยทำให้ผู้ป่วยเจริญอาหาร นอนหลับได้ดี และสามารถใช้เป็นยาชูกำลังได้ ทางทีมวิจัยได้ตระหนักถึงองค์ความรู้ และภูมิปัญญาแพทย์ไทยแผนโบราณของบรรพคุณ ที่นำสมุนไพรรสร้อนเข้ามาช่วยลดฤทธิ์เมาเบื่อของกัญชาได้ จึงต้องการที่จะสืบสานภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย รวมทั้งพัฒนาตำรับยาแผนโบราณที่มีคุณภาพมาตรฐาน มีประสิทธิภาพ และความปลอดภัย ตลอดจนเป็นที่ยอมรับและเชื่อถือของแพทย์ผู้สั่งใช้ยาและผู้ป่วยที่ได้รับยาด้วย

รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้มีประชาชนสอบถามเข้ามายังม.รังสิต เป็นจำนวนมาก เพราะต้องการจะขอซื้อผลิตภัณฑ์จากสารสกัดกัญชา ชนิดต่างๆ ไปใช้ จึงต้องมีเจ้าหน้าที่คอยอธิบายว่ายังไม่สามารถจำหน่ายหรือแจกจ่ายให้ได้ เนื่องจากกัญชาที่นำมาสกัดเป็นผลิตภัณฑ์เหล่านี้ เป็นกัญชา ที่เป็นของกลางโดยได้รับความร่วมมือจากทางสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ไม่ได้สกัดจาก “ต้นกัญชา” ที่ปลูกถูกต้องตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ล่าสุด

ฉะนั้น ประชาชนที่ต้องการซื้อหา “ผลิตภัณฑ์จากสารสกัดกัญชา” ที่ผ่านการวิจัยจากทางม.รังสิต คงยังต้องรอคอยกันไปก่อนอีกพักใหญ่ เพราะกว่า “แปลงปลูกกัญชา” ที่ถูกต้องตามกฎหมายใหม่ จะให้ผลผลิตที่มีคุณภาพและเพียงพอกับความต้องการนั้น คงต้องใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่าหนึ่งปีแน่นอน