กบง. เคาะขึ้นราคาเอ็นจีวีอีก 3 บาท – กฟผ.คัด 12 ผู้นำเข้าแอลเอ็นจี 8 แสนตันชิงดำ

กฟผ. คัด 12 ผู้นำเข้าแอลเอ็นจี 8 แสนตัน ชิงดำแข่งราคา เตรียมตัดเชือก มิ.ย. รู้ผล ขณะที่ กบง. เคาะขึ้นราคาเอ็นจีวีอีก 3 บาท

กบง. ขึ้นราคาเอ็นจีวีอีก 3 บาท – นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ว่า จากที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เปิดให้มีการยื่นข้อเสนอการแข่งขันด้านราคาจากบริษัทที่มีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์เบื้องต้น ตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ.-18 เม.ย. 2562 มีผู้ยื่นข้อเสนอการแข่งขันด้านราคาเข้ามาทั้งหมด 12 ราย จากบริษัทที่ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นจำนวนทั้งสิ้น 34 ราย คาดว่าจะสามารถดำเนินการลงนามสัญญาซื้อขายแอลเอ็นจีกับบริษัทคู่ค้าได้ภายในเดือนมิ.ย. 2562 และจะเริ่มส่งมอบล็อตแรกได้ในเดือนก.ย. 2562

“ล็อตแรกที่จะนำเข้าภายในปีนี้คาดจะอยู่ที่ 280,000 ตัน เนื่องจากเหลือเวลาแค่ 4 เดือน โดย กฟผ. จะต้องไปตรวจสอบและประเมินข้อเสนอของแต่ละบริษัทอย่างดีที่สุด ซึ่งเกณฑ์หลักๆ ที่แข่งขันกันคือปริมาณการนำเข้าที่กำหนดไว้ที่ 800,000 ตัน และในด้านส่วนลดว่ารายไหนจะกำหนดราคาที่เท่าไหร่ แต่ต้องไม่สูงกว่าราคาแอลเอ็นจีต่ำสุดของประเทศที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นำเข้าอยู่ โดยเฉลี่ยที่ 8-9 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู” นายศิริ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ กฟผ. เปิดประมูลนำเข้าแอลเอ็นจีขณะนี้ เนื่องจากปัจจุบันราคาตลาดขาจร (สปอต) ต่ำกว่า 5 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู และมั่นใจว่าในทั้งหมด 12 รายที่ยื่นข้อเสนอด้านราคาจะมีผู้ที่ชนะการประมูลตามเงื่อนไขที่ทีโออาร์กำหนด โดยไม่ต้องเปิดประมูลใหม่ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งในการเปิดนำเข้าแอลเอ็นจีเสรี โดยคาดว่าใน 1-2 ปีนี้จะเห็นความชัดเจน เนื่องจากการประเมินความต้องการใช้แอลเอ็นจีตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี 2018) ระบุว่าปลายแผนจะมีการใช้แอลเอ็นจีอยู่ที่ 25 ล้านตัน แต่ปัจจุบันมีการนำเข้าแอลเอ็นจีรวมทั้งสิ้นเพียง 6.7 ล้านตันต่อปีเมื่อรวมการนำเข้า 1.5 ล้านตันของ กฟผ. แล้ว

นายศิริ กล่าวว่า ได้สั่งการให้สักนักงานกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมข้อมูลรายงานโครงสร้างบริหารค่าไฟให้กับรัฐมนตรีคนต่อไป เนื่องจากปัจจุบันความต้องการใช้ไฟฟ้าได้มีการเปลี่ยนไป ดูได้จากความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศ (พีก) ที่มีช่วงเวลาเกิดเปลี่ยนไปจากอดีต โดยปีนี้เกิดพีกในช่วง 2 ทุ่ม สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยมีการหันมาใช้พลังงานทดแทนโดยเฉพาะแสงอาทิตย์ (โซลาร์) กันมากขึ้น จึงทำให้ความต้องการใช้ไฟเปลี่ยนมาเป็นช่วงกลางคืนที่โซลาร์ไม่สามารถผลิตไฟได้ ซึ่งจะต้องศึกษาโครงสร้างค่าไฟใหม่ทั้งหมด รวมถึงเรื่องการซื้อขายด้วย โดยยืนยันพีกปีนี้ที่เกิดขึ้นรวมทั้งระบบประมาณ 30,300 เมกะวัตต์นั้น ยังไม่น่าเป็นห่วงเนื่องจากประเทศยังมีกำลังการผลิตไฟฟ้าและสำรองไฟรวม 34,000 เมกะวัตต์ สามารถรองรับอีกในระยะยาว

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2562 ยังมีมติให้ลดภาระการชดเชยราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) ให้ ปตท. 3 บาทต่อกิโลกรัม แต่ยังคงต้องชดเชยราคาต่อไปอีก 3 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) โดยเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค. 2562 เป็นต้นไป จากเดิมที่ กบง. มีมติเมื่อปี 2561 ให้ลอยตัวราคาเอ็นจีวีเป็นไปตามกลไกราคาตลาด ส่งผลให้กลุ่มที่ปัจจุบันได้รับการชดเชยราคา ได้แก่ รถแท็กซี่ รถตู้ รถโดยสารสาธารณะขนาดใหญ่ เช่น บขส. ที่ซื้อเอ็นจีวีได้ในราคาถูกเพียง 10.60 บาทต่อกก. ต้องมาซื้อในราคาทั่วไป 16 บาทต่อกก. หรือเพิ่มขึ้นถึง 6.10 บาทต่อกก. แต่เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบจึงให้ ปตท. ขยับขึ้นเพียง 3 บาทต่อกก. โดยครั้งแรกวันที่ 16 พ.ค. 2562 ให้ขยับขึ้นเพียง 1 บาทต่อกก. จากนั้นอีก 4 เดือน คือวันที่ 16 ก.ย. 2562 ขยับขึ้นอีก 1 บาทต่อกก. และอีก 4 เดือน คือวันที่ 16 ม.ค. 2563 ขยับขึ้นอีก 1 บาทต่อกก.

ส่วนการปรับขึ้นค่าโดยสารสาธารณะขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ( ขสมก.) ที่เริ่มปรับขึ้นราคาในวันนี้ (22 เม.ย. 2562) ไม่เกี่ยวข้องกับการปรับขึ้นราคาเอ็นจีวีในอัตรา 3 บาทต่อกก. ตามมติ กบง. เนื่องจากปัจจุบันรถเมล์เอ็นจีวีของ ขสมก. ซื้อก๊าซเอ็นจีวีในราคาปกติ 16 บาทต่อกก. ซึ่งไม่ได้รับการชดเชยมาตั้งแต่แรกแล้ว ดังนั้น ราคาเอ็นจีวีที่จะทยอยปรับขึ้น 3 บาทต่อกก. ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค.นี้ จะไม่กระทบต่อค่าโดยสารประชาชนแต่อย่างใด

ด้ายนายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ. กำลังเร่งพิจารณาถึงการยื่นเสนอแข่งขันด้านราคาของการนำเข้าแอลเอ็นจีอยู่ และคาดว่าภายในสัปดาห์นี้จะได้ข้อสรุปก่อนที่จะเสนอเรื่องไปยังสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เพื่อให้ตรวจสอบราคาว่าต่ำสุดจริงหรือไม่ ก่อนจะเสนอไปยังที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป ก่อนที่จะมีการลงนามสัญญานำเข้าระยะยาว 8 ปี

สำหรับการเตรียมความพร้อมในการส่งแอลเอ็นจีไปยังโรงไฟฟ้า กฟผ. ได้ทำสัญญาใช้ท่อส่งก๊าซของ ปตท. และสัญญาใช้สถานีแอลเอ็นจี มาบตาพุด ส่วนขยายเพิ่มเติมของบริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด เพื่อจัดส่งก๊าซสำหรับผลิตไฟฟ้าไปยังโรงไฟฟ้าพระนครใต้ โรงไฟฟ้าบางปะกง และโรงไฟฟ้าวังน้อย เพื่อเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในพื้นที่ภาคกลาง อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้ก๊าซของโรงไฟฟ้า กฟผ. ปัจจุบันอยู่ที่ 380 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เมื่อรวมกับการนำเข้า 1.5 ล้านตันนี้แล้ว

ส่วนความคืบหน้ามาตรการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศของรัฐบาล ขณะนี้ กฟผ. ได้รับมอบน้ำมันปาล์มดิบกับผู้จำหน่ายน้ำมัน ปาล์มดิบทั้งสิ้น 31 ราย ครบตามจำนวน 160,000 ตันแล้ว ตามที่กระทรวงพลังงานมอบหมายให้ดำเนินการรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบ 160,000 ตัน เพื่อนำมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง และมติคณะกรรมการกำกับนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2562 มอบหมายให้ กฟผ. เพิ่มปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มดิบเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าจากเดิม 1,000 ตันต่อวัน เป็น 1,500 ตันต่อวัน และให้ กฟผ. จัดหาสถานที่รับมอบน้ำมันปาล์มดิบที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อเร่งดูดซับปริมาณน้ำมันปาล์มดิบออกจากระบบและช่วยกระตุ้นราคาผลปาล์มน้ำมันของเกษตรกรให้มีราคาสูงขึ้น